มติเอกฉันท์! ‘กฎหมายไม่ตีเด็ก’ ของก้าวไกล ผ่านสภาฯวาระ 1

สภาฯ เห็นชอบในหลักการ ‘กฎหมายไม่ตีเด็ก’ ของก้าวไกล ย้ำการตีเด็กทำพัฒนาการถดถอย-เสี่ยงซึมเศร้า ด้านสส.เพื่อไทยห่วงครอบครัวแตกแยก ถ้ากฎหมายนี้ผ่านสภาฯ ก้าวไกลเสนอชื่อ ‘ป้ามล’ ‘หมอโอ๋’ นั่งกมธ. วิสามัญฯ

วันนี้ (24 ก.ค.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เกี่ยวกับการลงโทษเด็ก โดยแก้ไขมาตรา 1567 (2) เพื่อให้การลงโทษบุตรต้องไม่เป็นการทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายและจิตใจเด็ก เพื่อปกป้องสิทธิเด็กและลดความรุนแรงในครอบครัว หรือเรียกกันว่า ‘กฎหมายไม่ตีเด็ก’ ล่าสุด สภามีมติเอกฉันท์เห็นชอบ 400 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 401 คน จึงผ่านวาระ 1 ขั้นรับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาศึกษาและกำหนดแปรญัตติใน 15 วัน

สาระสำคัญ คือ การแก้ไขความมาตรา 1567 (2) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จากที่เคยระบุว่า “ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทําโทษบุตร ‘ตามสมควร’ เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน” แก้ไขเป็น “ผู้ใช้อํานาจปกครองมีสิทธิทําโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร ‘แต่ต้องไม่เป็นการกระทําทารุณกรรม หรือทําร้ายร่างกายหรือจิตใจ’ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทําโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า”

รักวัวให้ผูก รักลูกต้องไม่ตี:
ก้าวไกลกางผลวิจัย ย้ำการตีเด็กไม่ส่งผลดีต่อพัฒนาการ-เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า

ภัสริน รามวงศ์ สส.พรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายในสภาฯ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 1567 (2) ระบุว่า กฎหมายปัจจุบันที่ใช้อยู่มีอายุร่วม 50 ปี อนุญาตให้ผู้ปกครองลงโทษบุตร “ตามสมควร” ซึ่งมักนำไปสู่การทารุณกรรม การลงโทษที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจของเด็ก ทำให้เกิดความกลัว วิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิต เช่น กรณีเด็กหญิงอายุ 2 ขวบที่จังหวัดพิษณุโลกถูกพ่อตีจนไตวาย หรือ กรณีเด็กอายุ 14 ปีที่ขอความช่วยเหลือเพราะถูกพ่อทำร้ายร่างกายเนื่องจากแสดงออกทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด

ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายดังกล่าวยังขัดกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตาม ภัสริน อภิปรายเสริมว่า งานวิจัยนานาชาติ เช่น งานวิจัย Harvard หรือ วารสาร Elsevier พบว่าการตีเด็กส่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการของเด็ก เช่น ทำให้ระบบประสาทเสียหายและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า คณะกรรมการสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติยังได้แสดงความกังวลและแนะนำให้ไทยปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุมการลงโทษเด็กทุกรูปแบบ โดยที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงกฎหมาย แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

“การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้มิได้การันตีว่าการลงโทษจะหายไป แต่เป็นการปรับวิธีคิดปักหมุดใหม่ทางสังคมวิธีการอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสร้างวินัยของลูกหลานโดยไม่ใช้ความรุนแรง”

ภัสริน รามวงศ์

สส. เพื่อไทยห่วงสถาบันครอบครัวมีปัญหา ถ้า ‘กฎหมายไม่ตีเด็ก’ ผ่านสภาฯ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 สภาฯได้มีการอภิปรายถกเถียงถึงความเหมาะสมในการแก้กฎหมายดังกล่าว ด้าน ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขึ้นแสดงความเห็นตั้งข้อกังวลว่า การแก้ไขกฎหมายนี้จะเป็นการกระทบต่อสถาบันครอบครัวหรือไม่ โดยตนกังวลว่าครอบครัวจะมีปัญหา เพราะคำว่า ‘พ่อแม่ลงโทษลูก … ทำร้ายร่างกายและจิตใจ’ นั้นมีความคลุมเครือ ไม่ทราบว่าเส้นแบ่งของคำดังกล่าวอยู่ตรงจุดไหน และใช้อะไรตัดสินว่าเป็นเรื่องสมควร หรือเกินกว่าเหตุ

นอกจากนี้ ประยุทธ์ ระบุว่าปัญหาทารุณกรรมเด็กไม่ควรเกิดขึ้น แต่ด้วยจำนวนกรณีที่เด็กถูกทำร้ายนั้น ไม่อาจสะท้อนถึงสภาพโดยรวมของคนทั้งประเทศที่มีคนอยู่ถึง 70 ล้านคน จึงไม่ควรนำกรณีความรุนแรงเหล่านั้นมาอ้างเป็นเหตุในการแก้กฎหมายให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

“เส้นแบ่งคำว่า ‘ทารุณกรรม’ กับ ‘ตามสมควร’ อยู่ตรงไหน มันจะก่อให้เกิดความร้าวฉานระหว่างพ่อแม่ลูก จะมีการดำเนินคดีที่ศาล ครอบครัวแตก … คำว่าด้อยค่า พ่อแม่ด้อยค่าลูกมันหมายถึงอะไร ถ้าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกไปนั้น สังคมครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูกนั้นจะมีปัญหาอย่างยิ่ง”

ประยุทธ์ ศิริพานิชย์

ก้าวไกลเสนอชื่อ ‘หมอโอ๋’ ‘ป้ามล’ นั่งกรรมาธิการวิสามัญ

แม้จะมีเสียงข้อกังวลใจจากผู้แทนราษฎร แต่ผลการลงมติก็เป็นเอกฉันท์ ผ่านวาระ 1 ขั้นรับหลักการ และเตรียมเสนอชื่อคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาศึกษาและกำหนดแปรญัตติใน 15 วัน

เนื่องจากร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 128 วรรค 2 และข้อบังคับข้อที่ 121 ของสภาฯ กำหนดให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ​ ในสัดส่วนของผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดและจากบุคคลที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อไม่เกิน 1 ใน 6 ของจำนวนกรรมาธิการ กรรมาธิการจึงมีจำนวนทั้งสิ้น 42 คน เป็นสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี 7 คน จากพรรคการเมือง 21 คน และสัดส่วนจากผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน 14 คน โดยมีรายนามคณะกรรมาธิการที่น่าสนใจ ดังนี้

  • หมอโอ๋พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน (สัดส่วนพรรคก้าวไกล)
  • ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก (สัดส่วนพรรคก้าวไกล)
  • ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว (สัดส่วนพรรคก้าวไกล)
  • รศ.อภิญญา เวชยชัย อดีตนายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (สัดส่วนพรรคเพื่อไทย)
  • สรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ หนึ่งในผู้ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กปี 2546 (สัดส่วนพรรคเพื่อไทย)
  • กอบกาญจน์ ตระกูลวารี ผู้อำนวยการบริหารสหทัยมูลนิธิ (สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active