กลุ่มรักษ์เขากะลา เตรียมยื่น กสม.สอบเวทีรับฟังความเห็น เหมืองหินฯ ครั้งที่ 2

ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุไม่มีความเป็นธรรม ขาดการมีส่วนร่วม และละเมิดลิดรอนสิทธิประชาชน สิทธิชุมชนในพื้นที่

วันนี้ ( 22 ก.ค.2567 )  ตัวแทนกลุ่มรักษ์เขากะลา ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่หลายหมู่บ้าน ได้แก่พื้นที่หมู่ 7 บ้านพุตานวล ,หมู่ 9 บ้านหัวครัก ,หมู่ 10 บ้านพุน้อย และหมู่ 15 บ้านปากดง ในตำบลพระนอน อำเภอเมืองนครสวรรค์ และบางส่วนของตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก ,หมู่ 5 บ้านธารลำไย ,หมู่ 10 บ้านพุวิเศษ หมู่ 11 บ้านเขาพระไกร ,หมู่ 12 บ้านเขาสนามชัย และหมู่ 13 บ้านพุตาเมืองตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี  ที่กังวลต่อผลกระทบการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมในพื้นที่   

เปิดเผยกับ The Active ว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อเตรียมยื่นหนังสือต่อคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบการจัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 โครงการทำเหมืองหินอุตสาหกรรม ของบริษัทศิลาพระนอน จำกัด คำขอประทานบัตรที่ 5 / 2564 หมายเลขหลัก หมายเลขเขตเหมืองแร่ที่ 32333 ที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา  ณ วัดธารลำไย หมู่ที่ 5 ต.เขากะลา อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

ภาพเหตุการณ์หน้าวัดธารลำไย เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567

โดยตัวแทนกลุ่มรักษ์เขากะลา เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นฯ หรือเวที ค.2 ในวันนั้น นอกจากปิดกั้นขัดขวาง ไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มที่เห็นต่าง หรือ คัดค้าน เนื่องจากมีข้อกังวลผลกระทบหลายด้าน เพราะเขากะลาเป็นทั้งแหล่งอาหาร เป็นแหล่งสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศให้ชาวบ้านกับป่าได้พึ่งพาอาศัยกันอย่างสมดุล ซึ่งหากเกิดการสร้างเหมืองแร่หินและระเบิดเขานอกจากทำลายระบบนิเวศที่ว่ามา ยังจะส่งผลทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง การทำเกษตรกรรมรวมถึงชุมชนเขากะลาที่เป็นแหล่งต้นน้ำของบึงบอระเพ็ด จะปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นำความความเดือดร้อนมายังชาวบ้านในพื้นที่แล้ว 

การรับฟังความเห็นล่าสุดที่ผ่านมา  ใช้เวลาจัดเวทีไม่ถึง 30 นาทีก็รีบปิดการประชุม โดยไม่ยอมให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม  

“ มีการเปิดเครื่องเสียงขนาดใหญ่รบกวนไม่ให้ประชาชนที่มาคัดค้านได้ส่งเสียงสะท้อนปัญหา นำรถบรรทุกขนาดใหญ่จอดขวางถนนปิดการจราจร  แถมยังมีกลุ่มชายฉกรรจ์ใส่ชุดดำปกปิดใบหน้า เข้ามาควบคุมพื้นที่ผลักและข่มขู่ไม่ให้ประชาชนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นในการสะท้อนปัญหา ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บหลายคน มีทั้งผู้หญิง ผู้สูงอายุ “ 

ตัวแทนกลุ่มรักษ์เขากะลา

ดังนั้นประมาณช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ จึงเตรียมที่จะยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตรวจสอบ การจัดเวทีรับฟังความเห็นฯ ครั้งที่ 2  หรือ เวที ค.2 โครงการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความเป็นธรรม ขาดการมีส่วนร่วม และละเมิดลิดรอนสิทธิประชาชน สิทธิชุมชนในพื้นที่ 

โดยก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นหนังสือ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์  สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้ว  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active