ปักหมุด พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ แห่งที่ 23 ชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ -เกาะอาดัง

ผู้แทนรัฐบาล ชี้ ต้องเดินหน้าแก้ไขเชิงนโยบาย ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เคลื่อนการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคอย่างเป็นธรรม 

วันนี้ ( 31 มิ.ย. 67 ) ชาวอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ -เกาะอาดัง จ.สตูล ร่วมกับเครือข่ายชาวเลอันดามัน มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ( องค์การมหาชน ) และภาคีเครือข่าย ร่วมกัน ปักหมุดประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ-เกาะอาดัง ซึ่งถือเป็นพื้นที่คุ้มครองฯลำดับที่ 23 หรือ แห่งที่ 4 ของชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 

โดยมีนายธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษา ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ  ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ และตัวแทนหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง ร่งมเป็นสักขีพยาน และลงนามปักหมุดประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ 

ซึ่งใช้พื้นที่ลานบริเวณชุมชนสิเข่ง หนึ่งในชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ เป็นจุดปักหมุดหมายสำคัญนี้ เนื่องจากชุมชนแห่งนี้ เป็นหนึ่งใน 3 กลุ่ม ที่เคยถูกเอกชนฟ้องขับไล่ แต่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้องไม่มีสิทธิ โดยชาวเลอยู่มาดั้งเดิม และบริเวณลานตรงนี้ ชาวเลชุมชนสิเข่ง และชาวเลบนเกาะได้หารือกัน จะใช้เป็นพื้นที่กลางในการรองรับการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้ง ลานและเวทีวัฒนธรรม ไปจนถึงการเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจรายได้ หรือตลาดชาวเล 

โดย ชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมย์ ว่า พวกเรา ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง จำนวน 339 ครัวเรือน ประชากร 1,105 คน มีความพร้อมและยึดมั่นในหลักการ ของเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ ความเป็นชาติพันธุ์และเชื่อมั่นในวิถีวัฒนธรรม อูรักลาโว้ย ตามหลัก “สิทธิทางวัฒนธรรม ” ยืนยัน “ความเป็นชุมชนดั้งเดิม” ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินบรรพบุรุษชาวอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง มาอย่างต่อเนื่อง ตามหลัก “สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” และยึดหลักการบริหารจัดการพื้นที่ แบบมีส่วนร่วม เพื่อประโยชน์ในการใช้ และรักษาทรัพยากรอย่างสมดุลอย่างยั่งยืน เพื่อยืนยันกับบรรพบุรุษ และผู้มีเกียรติทุกท่าน ณ ที่นี่ว่า  พื้นที่แห่งนี้ เป็นดินแดนแห่งจิตวิญญาณ ของชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง ที่บรรพบุรุษของเราได้ร่วมกันปกป้องดูแลรักษา มาเป็นเวลานานกว่า 114 ปี เราขอยืนยันว่าจะสืบทอดมรดกวัฒนธรรม ‘ความเป็นอูรักลาโว้ย’ และรักษาแผ่นดินมาตุภูมิแห่งนี้ไว้ เป็นสมบัติของลูกหลานชาวอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง 

“ พวกเรา ขอประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 2 3 ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง เราคือผู้บุกเบิกดูแล รักษาทรัพยากร และมีส่วนร่วมพัฒนา สร้างสังคมสงบสุขอย่างยั่งยืน ในพื้นที่อันดามัน สืบไป “ 

โดยชาวเล ต่างหวังว่า หลังการประกาศเขตคุ้มครองฯ จะมีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆในการเดินหน้าสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคที่ยังเหลื่อมล้ำ  เพราะ ค่าน้ำค่าไฟแพงกว่าทั่วไปหลายเท่า ค่าเดินทางไปหาหมอในตัวจังหวัด ไม่ต่ำกว่า 6,000 บาทต่อครั้ง  รวมทั้งปัญหาข้อพิพาทที่ดินกับภาครัฐและเอกชน  กระทบที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงจุดจอดเรือ และทางใช้ประโยชน์สาธารณะและที่สำคัญคือปัญหาน้ำท่วม น้ำไม่มีทางระบาย

ด้านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ได้เห็นแล้วว่า พี่น้องชาวหลีเป๊ะอยู่กันอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดิน เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง การระบายน้ำซึ่งตอนลงพื้นที่ฝนตกไม่นาน เห็นว่า น้ำท่วมไม่มีที่ระบาย สภาพความเป็นอยู่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สภาพแวดล้อมไม่ดี แล้ว ปัญหาเรื่องของค่าน้ำแพง ค่าไฟแพง ทุกอย่างแพง ค่าครองชีพชาวบ้านก็สูง 

ซึ่งทางรัฐบาลเรามีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะ แก้ไขปัญหา และได้ปรึกษาทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลแล้วซึ่ง ปัญหาโดยหลักคือข้อกฎหมาย และทางจังหวัดจะแก้ไขลำบาก วันนี้ได้หารือร่วมกับมูลนิธิชุมชนไท ทีมงานหลายภาคส่วน ควรแก้ไขในเชิงนโยบาย ว่าจะขอตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ 

“  โดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน อย่างน้ำเป็นเรื่องของกรมชลประทาน ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่แล้ว เรื่องไฟฟ้า ถนนหนทาง เรื่องแหล่งน้ำ คุณภาพชีวิต อันนี้ต้องบูรณาการ ตรงไหนที่ติดปัญหา ทราบว่ามีปัญหา อุปสรรคเยอะพอสมควรโดยเฉพาะข้อกฎหมาย  อันนี้เราจะหาทางออกร่วมกัน ซึ่งผมมองว่าต้องขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เอาผู้บริหารระดับสูง โดยท่านรัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหาทางออกรรวมกัน  ผมเชื่อมั่นว่า หาทางออกได้แน่นอน “ 

พร้อมทั้งระบุว่า แม้ร้อยเอกธรรมนัสไม่ได้มา เนื่องจากติดภารกิจ แต่ได้กำชับตนให้มาดูสภาพปัญหา แล้วหาแนวทางแก้ไข ปัญหาหลักคือข้อกฎหมาย ประเทศไทยเรา แต่ละกรมมีกฎหมายเยอะมาก 2.เรื่องการบังคับใช้เรื่องความเสมอภาค 

“ สำคัญที่สุดคือความจริงใจ ไม่ใช่เรามารับฟัง แล้วเราไม่นำไปแก้ ผมว่า วันนี้ผู้ใหญ่ หลายกระทรวงมา คงไปสะท้อนปัญหาให้ผู้มีอำนาจ แต่สุดท้าย เราต้องประชุมร่วมกัน หาทางออก อาจใช้มติครม. โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาต้องใบช้งบประมาณ ผมเชื่อว่า ท่านนายกฯเศรษฐา ให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่แล้ว “

คือ เมื่อเราตั้งอนุกรรมการมาเสร็จ เราก็ต้องพิจารณาตามมติ ครม.ที่ให้ความเห็นชอบในการแก้ไขปัญหาพี่น้องชาติพันธุ์ ผมว่าทำได้  เพราะท่านธรรมนัส สำเร็จมาหลายที่ และพี่น้องราชการยุคใหม่ เรามองประชาชนเป็นหลัก รัฐบาลชุดนี้มาจากประชาชนอยู่แล้ว เชื่อมั่นว่าต้องมีใจรัก และก็ประสานติดตามอย่างต่อเนื่อง ผมว่าทำได้และมีความตั้งใจที่จะทำ 

ส่วนเรื่องสำคัญที่เชื่อมโยงกัน คือการผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิปละส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตอนนี้ได้ถูกยกร่างและนำเสนอในสภาฯอยู่แล้ว ผมเชื่อมั่นว่าท่านร้อยเอกธรรมนัส เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดพะเยา ซึ่งท่านเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเราก็มี สส.จำนวน 40 กว่าคน เชื่อมั่นว่ามีความเห็นทิศทางเดียวกัน สส.ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเอง  ก็ต่างเห็นชอบในกม.ตัวนี้ เชื่อมั่นว่าจะขับเคลื่อนได้สำเร็จ เราจะมีพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ให้บังคับใช้แน่นอน

ด้านไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า การที่ทีมนโยบายลงมา จะเป็นศูนย์กลางในการผสานทุกภาคส่วนให้มาลงในพื้นที่ เห็นสภาพพื้นที่จริง และหลังจากที่เราคุยกัน ก่อนล่วงหน้า หลายภาคส่วนก็เห็นตรงกันว่า ควรมีคณะกรรมการร่วม หลังจากลงนามบันทึกความร่วมมือ ที่ปรึกษาร้อยเอกธรรมนัส ก็เห็นว่าจะต้องมีคณะกรรมการร่วม ในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลที่เกาะด้วย ซึ่งเป็นการฟื้นฟูเกาะหลีเป๊ะเลย ก็อาจจะทำทั้งหมด 

ทีนี้หน่วยงานที่มีทั้ง 10 หน่วยที่เกี่ยวข้องและลงมาในวันนี้  เห็นตรงกันควรมีคณะกรรมการระดับชาติ  แล้วส่วนการปฏิบัติให้มีคณะทำงานปฏิบัติการ จัดทำแผนขึ้นมาปฏิบัติการ แต่อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า มันมีข้อติดขัดทางนโยบาย กฎหมายอยู่  เพราะฉะนั้นการที่ต้องมีคณะกรรมการระดับชาติ เอื้อในทางนโยบาย เอาเรื่องเข้าครม.ให้ดำเนินการได้ 

“ เพราะฉะนั้น ที่เรานั่งคุยกันทั้งหมด ผมคิดว่า ทิศทาง และการที่ทุกหน่วยลงมา และพูดทั้งในเวทีข้างนอก และในพื้นที่ และเห็นตรงกันว่า ถ้าเราปล่อยไว้แบบนี้ในอนาคต ไม่มีทางที่ทำให้เกาะหลีเป๊ะดีขึ้นได้ หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ทั้งโลกที่จะอยากมาอีกในอนาคตไม่ได้  ถ้าหากเราไม่ทำอะไรเลย “ 

มูลนิธิชุมชนไท และชาวบ้านที่มาร่วมกันทำ ควรได้รับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงาน เพราะไม่ใช่ภาระคนใดคนหนึ่ง แต่ช่วยเหลือให้เกิดเกาะหลีเป๊ะในรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนได้ในอนาคต 

ทั้งนี้ การเดินหน้าแนวทางการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นเป็นแนวทางการคุ้มครอง สิทธิทางวัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีส่วนร่วมบริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน ได้รับการคุ้มครอง และยอมรับสิทธิทางกฎหมายในฐานะพลเมือง ส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต พึ่งตนเองได้ ด้วยการดำรงชีวิตบนวิถีแห่งภูมิปัญญาชาวเล ควบคู่กับการผสานองค์ความรู้ใหม่บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม  ซึ่งจะครอบคลุมการคุ้มครอง 5 พื้นที่ คือ ที่อยู่อาศัย  ที่ทำกิน  พื้นที่พิธีกรรม พื้นที่ใช้ประโยชน์ และพื้นที่อนุรักษณ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active