ส.ประมง ไม่หวั่นยุโรปคว่ำบาตรอาหารทะเลไทย หนุนเดินหน้าแก้กฎหมายใหม่

สหภาพยุโรปขู่ให้ใบเหลืองประมงไทยอีกครั้ง กังวลกฎหมายฉบับใหม่หวนกลับไปสู่การค้าแรงงานมนุษย์ ล่าสุด สมาคมประมงไทยยัน ไม่กังวล เชื่อ สหภาพยุโรปได้ผลกระทบเอง แจงแก้กฎหมายเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาเท่านั้น ปัดรื้อทั้งฉบับ ไม่หวั่นกระทบเจรจาเอฟทีเอ ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป

วันนี้ (23 มี.ค. 2567) จากกรณี เทเลกราฟ สำนักข่าวต่างประเทศ ตีข่าวว่าไทยอาจถูกคว่ำบาตรจากสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากความกังวลร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ที่จะผ่อนปรนการทำประมงในไทย อาจเป็นการเปิดกว้างนำไปสู่การค้าแรงงานมนุษย์ที่รุนแรงมากขึ้นแบบในอดีตที่ไทยเคยถูกคว่ำบาตรในปี 2558 ก่อนจะถูกปลดในปี 2562

โดยโฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ยืนยันว่า อาจพิจารณานำมาออกมาตรการคว่ำบาตรอื่น ๆ หรือ ใบเหลือง กลับมาใช้กับประเทศไทยอีกครั้ง เนื่องจากคณะกรรมาธิการมีความกังวลอย่างมากในเรื่องนี้ และการผ่อนปรนกฎหมายดังกล่าวอาจขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย

ขณะที่ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม หรือ อีเจเอฟ (EJF) ได้เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ทั้ง 8 ฉบับ (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558) ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) โดยมีมาตราอย่างน้อย 17 มาตราจากร่างกฎหมายดังกล่าว ที่จะทำลายด้านความโปร่งใส ความยั่งยืน และการคุ้มครองแรงงาน ดังนี้

  • บทลงโทษที่อ่อนแอลงในการขัดขวางการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU (หลายมาตรา)
  • การรื้อฟื้นขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล (ม.85/1 และ ม.87)
  • การรื้อฟื้นการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล (ม.83/1)
  • ลดทอนกลไกการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (ม.81(1))
  • ลดทอนกลไกการเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงาน (ม.82 และ ม.83)
  • ลดทอนการควบคุมเครื่องมือประมงทำลลายล้าง (ม.67)
  • แก้ไขมาตราป้องกันคุ้มครองสัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธ์ (ม.66)
  • ความพยายามกีดกันทางการค้าด้วยข้อกำหนดการนำเข้าและกำแพงการค้า (ม.97)
ที่มา : มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม หรืออีเจเอฟ (EJF)

มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับทีมข่าว The Active ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะอีเจเอฟ มีการบิดเบือนข้อมูลและพยายามให้ข่าวเท็จ จนทำให้อียูเข้าใจผิด โดยเฉพาะเรื่องจำนวนแรงงานบนเรือประมงที่ อีเจเอฟ กล่าวหาว่าจะไม่มีการแจ้ง ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากจะต้องแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ทางศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) รับรู้อยู่แล้ว ส่วนการขนถ่ายแรงงานบนเรือกลางทะเลก็ไม่มีในกฎหมายฉบับใหม่ มีเพียงเรื่องการฝากแรงงานไปบนเรือเท่านั้น เพื่อให้เรือมีแรงงานเพียงพอต่อการทำงาน ซึ่งต้องแจ้งให้หน่วยงานราชการรับรู้เช่นกัน

โดยกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าว ไม่ได้แก้ไขทั้งหมด แต่แก้ไขเฉพาะในส่วนที่เป็นปัญหาเท่านั้น เช่น โทษค่าปรับที่รุนแรงตามกฎหมาย ไอยูยู (IUU) ซึ่งไม่ควรนำมาใช้กับคนที่ทำผิดในไทย แต่ควรนำไปใช้กับเรือเถื่อนที่ทำประมงผิดกฎหมาย ส่วนความผิดเล็กน้อยก็ควรใช้กฎหมายปกติแทน อย่างไรก็ตามยืนยันสนับสนุนให้มีการแก้กฎหมายต่อไป และเชื่อว่าการให้ใบเหลืองของสหภาพยุโรป เป็นเพียงแค่การขู่เท่านั้น

“กฎหมายนี้เป็นการแก้ปัญหา ไม่ได้รื้อทั้งหมด เรารื้อตรงที่มันมีปัญหา ยกตัวอย่างโทษปรับที่รุนแรง การที่ไปใช้กฎหมาย ไอยูยู มาลงโทษการกระทำผิดในไทย มันเป็นเรื่องคนละตรรกะกัน มันเหมือนกับแบบคนก่อการร้ายลงโทษคนก่อการร้าย แต่คนที่แบบทะเลาะเบาะแว้ง ลงโทษแบบคนก่อการร้ายไอยูยู ก็เหมือนการลงโทษแบบก่อการร้าย แต่การทำผิดในประเทศมันก็เหมือนคนทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่คุณเอาโทษของการที่ไปก่อการร้ายมาลงโทษกับคนที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน มันสมเหตุสมผลหรือไม่”

มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

มงคล ให้ข้อมูลอีกว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาการทำตามกฎหมาย ไอยูยู ของสหภาพยุโรป ทำให้อุตสาหกรรมประมงไทยเสียหาย 2-3 แสนล้านต่อปี  ในขณะที่ไทยส่งออกอาหารทะเลไปยุโรปเพียง 5,000 ล้านบาท จากการส่งออกทั่วโลกกว่า 80,000 ล้านบาท และอาหารทะเลส่วนใหญ่ไทยก็นำเข้ามาจากยุโรป เช่น ปลาทูน่า กุ้ง เป้นต้น ดังนั้นเชื่อว่ายุโรปจะได้รับผลกระทบเอง

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเรือประมงไทยออกทะเลได้เพียง 4,000-5,000 ลำ จาก 15,000 ลำ เนื่องจาก 1. กฎหมายไอยูยูที่รุนแรงเกินไป 2. ขาดแคลนแรงงาน 3. เงื่อนไขเยอะ และ 4. สัตว์น้ำมีราคาตกต่ำ เพราะผลจากการนำเข้าอาหารทะเลจากเพื่อนบ้านจำนวนมาก

สำหรับข้อตกลงการค้า หรือเอฟทีเอ (FTA) ที่ไทยกำลังเจรจากับยุโรปนั้น ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย มองว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกัน เนื่องจากสหภาพยุโรปจะใช้เรื่องประมงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งสหภาพยุโรปก็ต้องชั่งน้ำหนัก หากคว่ำบาตรและไม่ทำเอฟทีเอกับไทย ผู้ที่จะเสียผลประโยชน์ก็คือสหภาพยุโรป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active