เรียกร้องรัฐ มีกลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ ถูกฟ้องปิดปาก

หลังไทยขึ้นอันดับ 1 ในเอเชีย-แปซิฟิก คุกคามนักต่อสู้ด้านที่ดิน สิ่งแวดล้อม สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ‘ภาค ปชช.’ แนะ เพิ่มตรากฎหมาย – ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม – เยียวยาผู้ถูกฟ้อง

11 ก.ค. 2566 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Eisenhower Fellows (EF) จัดเสวนาทางวิชาการ ฬ.จุฬาฯ Seminar Series หัวข้อ “ตบปากด้วยกฎหมาย : สู่การมี Anti-SLAPP Law ในประเทศไทย?” ถอดบทเรียนประสบการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องดำเนินคดีเพื่อปิดปาก (SLAPP) จนถึงข้อเสนอกการเพิ่มหรือปรับปรุงกฎหมาย Anti-Slapp เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้น คุกคาม การแสดงออกของผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสาธารณประโยชน์

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการในคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหาย กล่าวถึงสถานการณ์ทั่วโลก ระบุว่า ในปี 2565 มีรายงานว่าในต่างประเทศนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฆ่ามากกว่า 1,300 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์พื้นเมือง 40 % ถูกคุกคามทางกฎหมายเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดี โดยกลุ่มประเทศลาตินอเมริกามีจำนวนสูงสุด รองลงมาคือเอเชียและแปซิฟิก ส่วนในไทยมีรายงานรวบรวมตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน พบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามมากกว่า 500 คน ซึ่งเป็นผู้ทำงานด้านที่ดิน สิ่งแวดล้อม และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ขณะที่ประเทศไทยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังไม่ถูกนิยามว่าคือใคร แต่ถูกตีความหมายว่าเป็นผู้มีอคติต่อรัฐ ขัดขวางการพัฒนา

โดยคดีการฟ้องร้องปิดปากที่เป็นที่รู้จักในไทย คือ คดีที่บริษัทฟาร์มไก่แห่งหนึ่งฟ้องแรงงานข้ามชาติ 14 คน ซึ่งเคยเป็นอดีตแรงงานของบริษัท หลังจากที่แรงงานกลุ่มนั้นมาร้องว่าถูกละเมิดสิทธิแรงงาน และเมื่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกรายงาน ทางบริษัทก็ได้ฟ้องร้องกลุ่มคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักวิชาการ สื่อมวลชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวม 23 คน 39 คดี

เมื่อตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เนื่องจากตอนนั้นเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเพียงแค่ทวีตคำว่า “ยืนเคียงข้างนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” เรียกร้องให้มีการยุติการดำเนินคดีการหมิ่นประมาททางอาญา จึงทำให้ถูกฟ้องไปด้วย โดยถูกฟ้องทั้งหมด 2 คดี ซึ่งตอนนั้นอยู่ในช่วงโควิด-19 ศาลใช้เวลาไต่สวน 3 ปี กระทั่งศาลรับฟ้องใช้เวลาสืบพยาน เปลี่ยนผู้พิพากษา 4 องค์คณะ ที่น่าเป็นกังวลคือการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

“ความพยายามต่อการใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ หาเงิน เพื่อจ้างทนาย เดินทางไปศาล ประกันตัว ถ้าเป็นชาวบ้านต้องกู้หนี้ ระหว่างการพิจารณาของศาล 1-2 ชั่วโมง ดิฉันต้องถูกนำไปใต้ถุนศาลร่วมกับผู้ต้องหาคดีฆ่าคนตาย และยาเสพติด ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ทางจิตใจ ประเมินไม่ได้เลย”

อังคณา นีละไพจิตร
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการในคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหาย
และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ทั้งนี้ กรรมการในคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับสูญหาย เสนอว่า ประเทศไทยต้องมีการตรากฎหมาย Anti-SLAPP และกฎหมายต้องคุ้มครองด้านอื่น ๆ ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น การฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจ การสนับสนุนทุนทรัพย์ การคุ้มครองพยาน ปรับปรุงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การยกเลิกกฎหมายอาญา การทำให้ผู้ถูกฟ้องเข้าถึงกองทุนยุติธรรม และที่สำคัญรัฐบาลไทยควรดำเนินการตามคำแนะนำของคณะทำงานสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ที่เสนอแนะว่า ประเทศไทยจะต้องรับรองว่าบริษัทธุรกิจจะต้องไม่ใช้คดีหมิ่นประมาท เป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายสิทธิและเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ทรงสิทธิ์ที่ได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

นคร ชมพูชาติ ทนายความสิทธิมนุษยชน และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นคร ชมพูชาติ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงประสบการณ์การถูกฟ้องปิดปาก เริ่มจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนประเทศฟินแลนด์ปกป้องผู้บริโภค ตรวจสอบสินค้าที่ส่งไปจากไทย มีการละเมิดสิทธิแรงงานหรือไม่เพื่อมีผลต่อการรณรงค์สนับสนุนสินค้า นักวิจัยในเวลานั้นได้เก็บข้อมูลในทางลับกับแรงงาน 12 คน ปัญหาเกิดขึ้นในช่วงการนำเสนอของนักวิจัย ซึ่งทางบริษัทอาจมีความรู้สึกเจ็บแค้นว่าการทำอย่างนี้เป็นการกลั่นแกล้งจึงฟ้องศาล ซึ่งลักษณะของคดีมีการคุกคามแรงงานข้ามชาติ การเดินทางไปศาลของเจ้าของมีผู้ติดตามมากมาย สุดท้ายคดีนี้ศาลยกฟ้อง จึงมีการฟ้องกลับไปมาอยู่หลายครั้ง ท้ายที่สุดศาลยกฟ้องทุกคดี แต่ก็แลกมาด้วยภาพลักษณ์ของบริษัทในสายตาต่างประเทศ พร้อมเสนอถึงแนวทางในการพัฒนากฎหมาย ต้องทำควบคู่ทั้งกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย ที่เข้าใจและเห็นความสำคัญว่าการนำความไม่สุจริตมาฟ้องคดี เป็นสิ่งที่ไม่ควรส่งเสริม ไม่ควรเกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทย

“ถ้าเป็นบริษัทอื่นเขาจะยินดีที่มีข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุง แต่บริษัทนี้เขาอาจรู้สึกเจ็บแค้นว่าการทำอย่างนี้เป็นการกลั่นแกล้ง ซึ่งการฟ้องร้องกันไปมาส่งผลเสียต่อตัวเขาเองในต่างประเทศ ดังนั้น ต้องคิดค้นกลไกในการใช้กฎหมายที่จะทำให้ปกป้องเรื่องนี้ได้จริง ๆ อย่างไร”

นคร ชมพูชาติ
สมพร เพ็งค่ำ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

สมพร เพ็งค่ำ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกบริษัทเหมืองแร่แห่งหนึ่งฟ้องปิดปากข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีที่เข้าไปทำวิจัยเมื่อ 10 ปี ก่อน เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่เป็นข้อมูลในเว็บไซต์ ให้ชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง

โดยคดีดังกล่าว เธอย้ำว่า เป็นช่วงแรกของสังคมที่รู้จัก SLAPP เกิดการตั้งวงคุยกันเรื่องการฟ้องปิดปาก เมื่อถึงศาลนัดไกล่เกลี่ยได้คุยกับทางบริษัท คำตอบคือข้อมูลที่ทำมีผลกระทบสร้างการรับรู้ในวงกว้าง จึงเจรจาไกล่เกลี่ยขอให้ทีมวิจัยแก้ไขข้อความ และทำหนังสือถึงผู้นำชุมชน บอกว่าผลกระทบที่ลงนั้นไม่จริง แต่ทางทีมวิจัยไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขนี้ได้ เมื่อมีการไต่สวนมูลฟ้องเอาข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายมาคุย สุดท้ายศาลไม่รับฟ้อง เนื่องจากเป็นการทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาปกป้องชีวิตประชาชนจริง ๆ สิ่งนี้ทำให้รู้สึกว่าการถูกฟ้องมีผลคือนำไปสู่ความกลัว และความกังวล แต่ยืนยันที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชน ซึ่งกรณีสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่กรณีนี้เพียงกรณีเดียว มีนักวิชาการ ชาวบ้าน ภาคประชาชนที่ถูกฟ้อง แม้กระทั่งนักข่าวที่ทำข่าวก็โดนฟ้องเพื่อไม่ให้สื่อสารเรื่องนี้ออกไป

“เสรีภาพทางวิชาการ ไม่ใช่แค่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ เท่านั้น แต่รวมถึงทุกคนในการแสวงหาคำตอบ ค้นคว้าข้อมูล เผยแพร่ แลกเปลี่ยนกันอย่างเปิดเผยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตั้งแต่โรงงานเล็ก ๆ ที่จะมาตั้งข้างบ้านเรา หรือโครงการขนาดใหญ่ ถ้าเราขาดเสรีภาพทางวิชาการ หรือถูกห้ามไม่ให้ทำ เราก็จะขาดโอกาสในการกำหนดทิศทางที่เห็นประโยชน์ร่วมกัน สวนทางกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และสุขภาวะที่ดี”

สมพร เพ็งค่ำ
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 ถูกดำเนินคดี 15 คดี มี 3 คดีที่เป็นคดีตามกฎหมายอาญา ม.112 อยู่ในศาลชั้นต้น 3 คดี ยกฟ้องแล้ว 2 คดี กรณีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง โดยถูกตัดสินว่าผิด 1 คดี กรณี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. หน้า สน.บางเขน

แต่ประสบการณ์ถูกปิดปากครั้งแรก เกิดขึ้นปี 2559 จากการติดป้ายตั้งคำถามในวันครบรอบวันรัฐประหาร ทำให้ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่พยายามที่จะบังคับใช้กฎหมาย ม.44 ภายใต้รัฐบาล คสช. โดยเจ้าหน้าที่มีการบุกเข้ามาหาที่มหาวิทยาลัย เพื่อนำตนเองและเพื่อนอีก 4 คนไป แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่กลุ่มที่ 2 เข้าถึงตัวก่อน โดยใช้ พ.ร.บ.ทางหลวง ติดป้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต นับเป็นครั้งแรกที่รู้สึกถูกคุกคามและกดดันจากรัฐ

ขณะที่กระบวนการพิจารณาคดีทำให้เกิดความสงสัยหลายส่วน ตั้งแต่การดำเนินคดี การที่ตัวข้อกฎหมายมีช่องว่างที่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งทางการเมืองได้ การที่ศาลไม่อนุญาต ไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ครบถ้วนครอบคลุมเนื้อความในการกล่าวหาทั้งหมด แม้ว่าจะสามารถหาเอกสารมาได้เอง ศาลก็ไม่รับและระบุในบัญชีพยาน

“ผลกระทบทางกายภาพ คือทำให้เราไม่สามารถใช้เสรีภาพได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากหากถูกดำเนินคดีแล้วได้รับการประกันตัว จะไม่สามารถกระทำซ้ำในลักษณะเดิมได้ นับเป็นการตีความว่าสิ่งที่ทำแม้จะยังไม่ได้ตัดสินว่าผิด กลับเป็นความผิดไปโดยปริยาย และผลกระทบทางจิตใจ สร้างความรู้สึกทางลบ ทำให้ถูกมองเปลี่ยนไป จากคนในสังคมเดิม ถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงทำอะไรที่ผิดแปลกไปจากวัฒนธรรมเดิม”

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

ภัสราวลี ยังเสนอว่า นักวิชาการในแวดวงกฎหมาย ประชาชนทั่วไป ต้องร่วมกัน เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางกฎหมาย และการใช้กฎหมายให้อิงกับหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ควรมีคำว่าคดีทางการเมืองเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีกระบวนการเยียวยาผู้ที่เคยถูกดำเนินคดี ติดคุกฟรี และแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างใหม่

ขณะที่ข้อเสนอจากเวทีเสวนามีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งการตรากฎหมาย Anti-SLAPP และการปฏิรูปกระบวนการอื่น ๆ ไปพร้อมกัน อาทิ พูนสุข  พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มองว่า ในคดีสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง ที่มีนักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่กำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวที่เพิ่มมากขึ้น จึงควรเริ่มตั้งแต่การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.161/1 และ ม.161/2 รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย และอุดมการณ์ของศาลมีส่วนสำคัญที่แก้ไขยากมากที่สุด ในการทำหน้าที่ตัดสินคดีตามหลักการ และมีแนวทางในการปกป้องอัยการ ศาล ที่มีอุดมการณ์ยุติธรรม รวมถึงธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ต้องนำมาบังคับใช้กับภาคธุรกิจและรัฐ อย่างเป็นรูปธรรม

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ตามรายงานนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มักจะถูกหยุดยั้งการเรียกร้องด้วยการถูกข่มขู่ให้กลัวเอาไว้ก่อน แต่ในช่วงหลังจะมีเห็นว่ามีการใช้อย่างแพร่หลาย คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, หมิ่นประมาท, พ.ร.บ.คอมฯ ขณะเดียวกันยังพบผู้ถูกฟ้องเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ในการเยียวยาค่าตอบแทน ค่าเสียหาย เนื่องจากถูกตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าเป็นผู้กระทำความผิด สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงในระเบียบปฏิบัติการณ์ รวมถึงยังพบผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องถูกคุกคามด้วยเช่นกัน

จึงเป็นภารกิจที่ภาครัฐ รวมถึง กสม. ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมา กสม. พยายามใช้กลไกระงับข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปดูแลผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่ารัฐ หรือเอกชน รวมถึงเร่งทำรายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิของ กสม. ขณะเดียวกันก็เข้าไปพูดคุยกับเอกชน SME ตลาดหลักทรัพย์ และมีแผนอบรมกับ EEC สภาอุตสาหกรรม ในการทำรายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน แผนคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนด้วย รวมถึงข้อเสนอแผนกลไกการคุ้มกรณีผู้ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

“เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับทัศนคติ และมุมมองของผู้ที่ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวอย่างไร เช่น กรณีของจะนะเขาไปติดตามเพื่อแก้ปัญหาและ กสม. ก็ทำความเข้าใจกับตำรวจว่าการชุมนุมในลักษณะนี้เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหา แต่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่มีมุมมองในช่วงที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปปนกันหมดระหว่างการเมืองและการแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดการดำเนินคดีแบบเหมารวม ทำให้เกิดความขัดแย้งยิ่งไปกว่าเดิม”

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ด้าน ณัฐวุฒิ  บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายกฎหมาย เสนอว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลจะเข้าไปผลักดันหากจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย จะมีส่วนที่เกี่ยวข้อง 5 อย่างด้วยกัน ซึ่งเคยยื่นเสนอเข้าสู่สภาฯ เดือน ก.พ. 2564 แต่สภาฯ หมดวาระ

  1. แก้ไขประมวลกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาททั้งหมด รวมถึง ม.112
  2. แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  3. แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
  4. แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
  5. การเพิ่มข้อหาความผิดทางอาญาในความผิดฐานบิดเบือน หรือใช้อำนาจโดยมิชอบในกระบวนการยุติธรรม

โดยใจความสำคัญที่จะเพิ่มเข้าไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และแพ่ง คือ การระบุหรือเพิ่มนิยามวาอะไรเรียกว่าคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ซึ่งหมายรวมถึงการร้องทุกข์ กล่าวโทษ ฟ้องคดีต่อบุคคลเพื่อข่มขู่ ก่อกวน สร้างความเดือดร้อน รำคาญ กดดัน หรือยับยั้งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และการเพิ่ม ม.143 วรรค 4 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรณีอยู่ในขั้นของอัยการมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการฟ้องปิดปาก อัยการสามารถใช้เอกสารนี้ให้มีการสอบสวนเพิ่มและอาจมีคำสั่งให้ไม่ฟ้องคดี รวมถึงการเพิ่ม ม.165/3 ว่าด้วยสิทธิของจำเลยที่ถูกฟ้องคดีถึงแม้จะอยู่ในขั้นไต่สวนมูลฟ้อง สามารถที่จะยื่นคำร้อง สิทธิในการพิสูจน์ สิทธิในการทำให้ศาลเชื่อว่าตนเองถูกดำเนินคดีในลักษณะปิดปาก และนำไปสู่การยกฟ้องของศาล นอกจากนี้ หากพิสูจน์ได้ว่าตนเองถูกฟ้องปิดปาก ผู้ที่เป็นโจทก์ฟ้องต้องชำระค่าเสียหาย หรือชดเชยค่าจ้างทนายความ หรือดำเนินการต่าง ๆ ตลอดการพิจารณาคดี

“ถ้าเราเป็นรัฐบาล สิ่งนี้อยู่ใน MOU โดยเฉพาะในข้อ 3 ที่พูดถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด และอยู่ในเงื่อนไขการบริหารประเทศว่าจะคุ้มครองสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองของประชาชน แต่ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาล กฎหมาย Anti-SLAPP จะอยู่ในกฎหมาย 45 ฉบับ ที่มีการยื่นภายใน 100 วัน นับจากวันที่เข้ารับตำแหน่ง ส.ส.พร้อมไปกับการรณรงค์ทางสังคม ให้คนตระหนักว่าวันหนึ่งคุณก็มีสิทธิถูกฟ้องปิดปากได้เหมือนกัน”

ณัฐวุฒิ  บัวประทุม

วิจัย พบ มีการโจมตีนักปกป้องสิทธิฯ จากการเรียกร้องภาคธุรกิจ มากกว่า 4,700 กรณี

ก่อนหน้านี้ เวทีแนวทางการจัดการกับ SLAPP ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ความท้าทายและบทเรียนที่ได้รับ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 มีการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยล่าสุด ชี้ให้เห็นภาพรวมทั่วโลกของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ถูกฟ้องปิดปากของ Business & Human Rights Resource Centre โดย Pochoy Labog  ระบุว่า มีการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเรียกร้องให้ธุรกิจดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชน มากกว่า 4,700 กรณี นับตั้งแต่ปี 2558 และในปี 2565 เพียงปีเดียว มีการคุกคาม โจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 555 กรณี ซึ่ง 75 % คือ กลุ่มที่ออกมาเรียกร้องประเด็นปกป้องสภาพอากาศ ที่ดิน และสิ่งแวดล้อม และ 23 % เป็นเรื่องของสิทธิชนพื้นเมือง โดยประเทศแถบลาตินอเมริกาและเอเชีย-แปซิฟิกยังเป็น 2 ภูมิภาคที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับผลกระทบมากที่สุดและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2565 จำนวนการโจมตีสูงสุดในเอเชียเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา 40 กรณี และประเทศฟิลิปปินส์ 32 กรณี 

โดยการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มากกว่า 40 % อยู่ในรูปแบบของการใช้กระบวนการยุติธรรมในการกลั่นแกล้ง (judicial harassment) ในปี 2565 มีจำนวนถึง 262 ราย และในช่วงเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2566 พบว่ามีคดีความถึง 437 คดี โดยที่เป็นคดี SLAPP เกี่ยวข้องกับธุรกิจ จำนวนถึง 146 คดี โดยสถิติปัจจุบันจำนวนคดี SLAPP ในเอเชีย-แปซิฟิก พบว่าประเทศไทยมีจำนวนมากที่สุด (51 กรณี) รองลงมาคือประเทศกัมพูชา (28 กรณี) และประเทศอินเดีย (16 กรณี)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active