จะนะรักษ์ถิ่น เรียกร้องสร้างความชอบธรรม กระบวนการศึกษา SEA

เสนอสภาพัฒน์ มอบหมายให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นผู้จัดทำ SEA และพิจารณาคัดเลือกคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องฯ อย่างเป็นกลาง และกำชับให้เปิดพื้นที่รับฟังเสียงภาคประชาชนก่อนดำเนินงานใด ๆ

วันนี้ (17 พ.ย. 65) เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ออกแถลงการณ์ถึงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่องกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของการพัฒนา (SEA) ในแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

  1. กรณีการคัดเลือก “ผู้ทำการศึกษา SEA” ให้สภาพัฒน์ฯ มอบหมายให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ที่มีมาตรฐานทางวิชาการ และมีความเข้าใจสภาพพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี เป็นผู้ทำการศึกษา SEA ตามที่ตกลงไว้กับรัฐบาลไม่ใช่บริษัทเอกชนที่ขาดพื้นฐานการทำงานค้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
  2. กรณีแต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ฯ “เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 พบว่า สมาชิกบางคนมีประวัติเคยถูกร้องเรียนต่อพฤติกรรมและทัศนคติในการพิจารณาประเด็นสาธารณะที่เอนเอียง ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแห่งจรรยาบรรณและไม่อาจยอมรับได้ เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและความน่าเชื่อถือของกลไกการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ จึงแย้งว่าคณะกรรมการกำกับชุดนี้ จึง “มีความไม่น่าเชื่อถือเป็นรอยประทับอยู่อย่างชัดเจน”
  3. เรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับฯ จะต้องดำเนินการตามเอกสารข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นอย่างเคร่งครัดด้วยการนำเสนอกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ทั้งหมดต่อประชาชนก่อนการดำเนินการ และรับฟังความเห็นของประชาชนในทุกขั้นตอน

“พวกเรายังมีข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะดังที่ได้นำเรียนไปแล้ว ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อให้กระบวนการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานีดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active