ครบ 1 ปี จับ ‘ผกก.โจ้’ กับความสำเร็จกฎหมายซ้อมทรมาน

เจ้าหน้าที่รัฐเตรียมปรับตัว ข้อกำหนดคุมแน่น ป้องกันการทรมาน – อุ้มหาย ‘ก้าวไกล’ ติงกฎหมายยังมีช่องโหว่ เตรียมแก้ไขต่อหลังเปลี่ยนรัฐบาล

วันนี้ (26 ส.ค. 65) ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำทีมแถลงข่าวการจับกุม พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ หรือ ‘ผู้กำกับโจ้’ ผู้กระทำทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติด โดยใช้ถุงดำคลุมหัว เพื่อสอบปากคำจนถึงแก่ความตาย

ในวันนั้นนอกจากจะมีการแถลงผลแห่งคดีที่สังคมรอคอยแล้ว เรายังได้ฟังคำพูดของผู้ประทำ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อ้างว่า “ไม่มีเจตนาฆ่าให้ถึงตาย เพียงแต่เป็นการกระทำเพื่อขยายผลคดียาเสพติดเท่านั้น” จนถึงวันนี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ “พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสุญหาย พ.ศ. 2565” ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา เตรียมที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีนี้มีผลอย่างยิ่งที่ผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น

กฎหมายฉบับดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ใช้ระยะเวลาในการผลักดันยาวนานที่สุดฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์ รวมระยะเวลากว่า 15 ปี ตั้งแต่ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันการกระทำทรมานฯ ผ่านการพิจารณาทั้งสภาแต่งตั้ง และเลือกตั้ง จนในที่สุดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 65 ที่ผ่านมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติผ่านกฎหมายดังกล่าว โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม แม้เนื้อหากฎหมายฉบับนี้จะโดนตัดสาระสำคัญบางเรื่องออกไปในชั้นวุฒิสภาก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดในเงื่อนเวลา และปัจจัยทางการเมือง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายให้ไวที่สุดเป็นเรื่องจำเป็น

คำถามสำคัญ คือ เมื่อกฎหมายบังคับใช้ หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน เจ้าหน้าที่ – ประชาชน – ผู้เสียหาย จะได้รับความคุ้มครองอย่างไร และจะสามารถปฏิบัติใช้ได้จริงหรือไม่ยังเป้นเรื่องท้าทาย The Active รวบรวมประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ ที่มีทั้งหมด 34 มาตรา ครอบคลุมความผิดฐานกระทำทรมาน กระทำให้บุคคลสูญหาย และการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ตำรวจ – ทหาร เตรียมปรับตัว ข้อกำหนดคุมแน่น

  • มาตรา 23 ในระหว่างการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องขณะจับกุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวน ไปจนถึงก่อนส่งตัวให้อัยการ
  • มาตรา 23 วรรคสอง ต้องแจ้งการจับกุมให้อัยการและฝ่ายปกครองในท้องที่รับทราบ เพื่อตรวจสอบการจับทันที หากการจับไม่ชอบด้วยกฎหมาย อัยการสามารถให้ปล่อยตัวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจควบคุมตัวประชาชน จะต้องมีการบันทึกวีดีตั้งแต่เริ่มควบคุมตัวเป็นต้นไปเหมือนในต่างประเทศ ที่อาจต้องมีการติดตั้ง “กล้องติดตัวตำรวจ” โดยนักกฎหมายมองว่านอกจากจะเป็นการคุ้มครองการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังเป็นการยืนยันการทำหน้าที่โดยสุจริตของเจ้าหน้าที่ เมื่อถูกการร้องเรียนโดยไม่เป็นธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ และด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันจึงมีความเป็นไปได้ที่สามารถทำได้ ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นอกจากนั้น การจับกุมตัวประชาชน เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุ่มมี “หน้าที่” ต้อง “แจ้งการจับกุม” ให้กับหน่วยงานอื่นได้รับทราบด้วย เพื่อเป็นการตรวจสอบการทำงาน และติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งกับพนักงานอัยการ หนรือฝ่ายปกครองในพื้นที่นั่นเอง

ตัดอำนาจศาลทหาร ผู้บังคับบัญชารับโทษด้วยครึ่งหนึ่ง

  • มาตรา 37 แม้คดีที่ผู้ต้องหากระทำความผิดจะอยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็ให้ดำเนินคดีในศาลยุติธรรม
  • มาตรา 45 หากผู้บังคับบัญชาทราบการกระทำความผิด แต่ไม่ป้องกันหรือระงับการกระทำนั้น จะต้องระวางโทษด้วยกึ่งหนึ่ง

เพราะ หลายคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ทหารต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งผู้ฟ้องคดี คือ อัยการทหาร และผู้พิจารณาคดีก็คือตุลาการศาลทหาร และมีกระบวนการพิจารณาคดีที่ล้าช้า ไม่สะดวกที่ประชาชนจะเข้าร่วมติดตามคดี จึงกำหนดให้ความผิดตามกฎหมายนี้ขึ้นศาลยุติธรรม คือ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และในขณะเดียวกันหากผู้กระทำผิดเป็นผู้น้อย ผู้บังคับบัญชาแม้ไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิด แต่ไม่ได้ “ยับยั้ง” ความผิดดังกล่าวทั้งที่ควรทำได้ ต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของความผิดที่เจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นทำด้วย

พ่อแม่-ลูก-คู่ชีวิต นับเป็นผู้เสียหายในคดี มีสิทธิตามกฎหมาย

มาตรา 4 กำหนดให้ ผู้ได้รับความเสียหาย คือ ผู้ที่ถูกกระทำ รวมถึงสามี ภริยา คู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือผู้อยู่ในอุปการะทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยมีสิทธิร้องขอต่อศาลตรวจสอบ คุ้มครอง การอุ้มหายหรือซ้อมทรมาน โดยผู้ได้รับความเสียหาย คู่ชีวิต ครอบครัว จะได้รับสิทธิตามกฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติม เช่น มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว / สิทธิร้องขอต่อศาลให้ตรวจสอบการใช้อำนาจควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิทราบถึงผลความคืบหน้าของคดีการบังคับให้สูญหายหรือทรมานอย่างต่อเนื่อง

‘ก้าวไกล’ ติงกฎหมายมีช่องโหว่ เตรียมแก้ไขหลังเปลี่ยนรัฐบาล

ในขณะที่ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวว่าถึงแม้ในภาพรวมจะเป็นไปตามเจตนารมณ์การคุ้มครองประชาชน และสอดคล้องกับอนุสัญญา แต่หากพิจารณากฎหมายที่ผ่านการพิจารณาและแก้ไขมาจาก ส.ว. จะพบว่ามีการตัดหรือแก้ไขถ้อยความจากร่างที่ผ่านการพิจารณามาโดย ส.ส. ในหลายส่วนที่สำคัญ ซึ่ง ณัฐวุฒิ บัวประทุม และ รังสิมันต์ โรม ได้ร่วมกันอภิปรายให้ความเห็นไว้ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น

  • การระบุให้ศาลไม่อาจรับฟังพยานหลักฐานใด ๆ ที่ได้มาโดยมิชอบจากการซ้อมทรมานได้ถูกตัดออก
  • การดักทางมิให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการซ้อมทรมาน-อุ้มหายบุคคลสามารถได้รับการนิรโทษกรรมได้ ถูกตัดออกโดย ส.ว. เช่นกัน
  • การระบุให้คดีการอุ้มหาย มีอายุความ 40 ปี ถูกตัดและแก้ไขเป็นการให้อายุความเริ่มนับจากวันที่ทราบชะตากรรมของบุคคลที่ถูกอุ้มหาย ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือการนับอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติ เพียงแต่เริ่มนับจากวันที่ทราบชะตากรรมของบุคคลที่ถูกอุ้มหาย แต่ก็จะกลายเป็นเหลืออายุความ 20 ปี
  • ประเด็นว่าด้วยการได้มาซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ส.ว. ได้ตัดส่วนของคณะกรรมการสรรหาที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร และตัดสัดส่วนของตัวแทนผู้เสียหายสองคนออกไป พร้อมแก้ไขเพิ่มเติมให้มีกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ เข้ามาด้วย และยังแก้ไขให้กรรมการที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่ง (เช่น กรรมการที่มาจากแพทย์ทางด้านนิติเวชศาสตร์) มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีทั้งหมด
  • การให้อำนาจคณะกรรมการฯ สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่มีการควบคุมตัวโดยพลัน ในกรณีที่มีความน่าสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้สถานที่ควบคุมตัวเพื่อการซ้อมทรมาน ถูก ส.ว. ตัดออกไปเช่นกัน

พรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นต่อว่า แต่ท้ายที่สุดแล้ว การมีกฎหมายมารองรับเพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ยังดีกว่าการไม่มีเลยแบบที่เป็นมาก่อนหน้านี้ และแน่นอนว่าเรายังคงต้องทำการตรวจสอบประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายนี้ต่อไปในอนาคต และที่สำคัญที่สุด การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังคงเป็นสิ่งที่ทำได้อยู่ในอนาคต และนั่นคือสิ่งที่เราจะทำเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลให้เป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active