นักกฎหมายชี้ ‘คุมขังในบ้าน 24 ชม.’ จำกัดสิทธิสู้คดี

หวังแรงกดดันจาก ‘ยูเอ็น’ ผลักไทยยกระดับการคุมขัง ที่คำนึงสิทธิมนุษยชน ย้ำ ‘การประกันตัว’ เป็นสิทธิพลเมือง ตั้งข้อสังเกต เงื่อนไขห้ามออกจากบ้าน อาจปิดกั้นการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา

เวทีเสวนา ขังในเรือนจำและขังนอกเรือนจำ ต่างกันอย่างไร ที่จัดโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 โดยเชิญผู้ที่เคยถูกคุมขัง ในคดีทางการเมืองระหว่างการพิจารณาคดี เพื่อสะท้อนการถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งพบว่า สภาพการคุมขังเป็นไปอย่างแออัด การเข้าถึงการรักษาพยาบาล คุณภาพของอาหาร และสุขอนามัยที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ตามหลักสากล และบางกรณีมีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

เหตุผลที่หลายฝ่ายพยายามรณรงค์เรื่องสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวในเวลานี้ เพราะการถูกคุมขังของผู้ต้องหาระหว่างการพิจารณาคดี แตกต่างจากการคุมขังของผู้ต้องโทษเด็ดขาด ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือ เงื่อนไขที่ศาลจะให้ปล่อยตัวชั่วคราว หรือการประกันตัวหรือไม่ ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การถูกคุมขังในเรือนจำ อาจยังมีความเสี่ยงให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขังได้ในบางกรณี

ผศ.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงกลไกทางกฎหมายทั้งในประเทศ และกติกาสากลที่ไทยเข้าร่วมอย่างสังคม อย่างอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี หรือที่เรียกสั้นๆว่า CAT จะทำให้สถานการณ์การคุมขังผู้ต้องหาและผู้ต้องโทษอย่างไรได้บ้าง มองว่ามี 3 ประเด็นสำคัญ คือ

  1. ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระบวนการพิจารณากฎหมายดังกล่าว ใช้ระยะเวลานานกว่าปกติมาก แม้ตอนนี้จะอยู่ในชั้นของ ส.ว. แต่อาจมีส่วนที่ต้องแก้ไขอีกมาก ซึ่งหากไม่เห็นพ้องกัน ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของ 2 สภา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะไม่ทันในสภาฯ ชุดนี้ และหากต้องเลือกตั้งใหม่ รศ.รณกรณ์ มองว่า อาจต้องนับหนึ่งใหม่
  2. อนุสัญญา CAT ที่ประเทศไทยร่วมลงนามด้วย แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายที่อนุวัติตามอนุสัญญาดังกล่าวได้ โดยหลักการแล้ว รัฐห้ามทรมาน หรือปฏิบัติต่อผู้คุมขัง และนักโทษทั่วไปโดยไม่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  3. Optional CAT ซึ่งเป็นอนุสัญญาเพิ่มเติม ที่กำหนดหน้าที่ให้รัฐตั้งองค์กรเข้าไปตรวจสอบการทำงานของเรือนจำโดยอิสระ ซึ่งตอนนี้ องค์กรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวอย่าง กรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้อย่างอิสระ โดยอ้างเรื่องความปลอดภัย

ผศ.รณกรณ์ กล่าวว่า ถึงแม้ร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานบังคับใช้ สิ่งที่ผู้ต้องขังยังเผชิญ อาจจะไม่ดีขึ้น เพราะ ปัญหาในทางปฏิบัติ คือ ผู้ถูกคุมขังจะสามารถหาหลักฐานมายืนยันการทำผิดของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำได้อย่างไร เพราะกฎหมายดังกล่าวจะมุ่งเอาผิดกับตัวเจ้าพนักงานเป็นรายบุคคล จึงมองว่าอาจไม่ได้ส่งผลดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

“ผมไม่เชื่อว่าการผลักดันจากภายในประเทศ จะแก้อะไรได้มากกับเรื่องนี้ มันต้องมีแรงด่าจากต่างประเทศเข้ามาเยอะ ๆ เพราะรัฐบาลไทย เป็นรัฐบาลที่ไม่เห็นหัวประชาชน หรือได้ยินเสียงประชาชน เราสะท้อนไปว่า โอเค คนอยู่ในเรือนจำเป็นคนผิด สิ่งหนึ่งที่เราได้รับคำตอบ คือ ก็เป็นคนที่ทำผิด ทำไมต้องไปดูแลกันมากมาย เราต้องเปลี่ยน mindset ว่าเราจำกัดเสรีภาพเขาได้ แต่เราต้องไม่ทำลายความเป็นคนของเขา”

สิ่งที่อาจจะเป็นความหวังมากที่สุด ในมุมมองของ ผศ.รณกรณ์ คือ กลไกขององค์การสหประชาชาติ ผ่านอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ไทยร่วมลงนาม โดยนานาชาติต้องเรียกร้องให้มีกระบวนการตรวจสอบจากองค์กรอื่น อย่างอิสระ ว่ามาตรฐานในการคุมขังเป็นไปตามที่อนุสัญญากำหนดไว้หรือไม่ โดยมองว่าแรงกดดันจากภายนอก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า

ขณะที่อนุสัญญาเสริมในข้อ 3 ยังไม่เห็นโอกาสที่ประเทศไทยจะเข้าร่วม เพราะ เงื่อนไขของการเข้าร่วมต้องมีการแก้กฎหมาย แต่ตอนนี้กฎหมายยังไม่เสร็จ อีกทั้งบทบาทขององค์กรอิสระอย่าง กสม. เหมือนต้องให้ยา “สเตอรอยด์” ที่การตรวจสอบ และข้อท้วงติงจะมีอำนาจมากพอให้หน่วยงานอื่นปฏิบัติตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ถูกจำกัดบทบาทหน้าที่จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ จึงแทบไม่เห็นวี่แววว่าจะสามารถเป็นไปได้

มองเงื่อนไข “คุมขังในบ้าน” จำกัดสิทธิผู้ต้องหาต่อสู้คดี

ข้อมูลวันที่ 23 มิ.ย. 2565 จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ถูกขังระหว่างการพิจารณาอยู่ถึง 21 ราย นักกิจกรรมอย่างน้อย 2 คน ยังได้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไข คือ ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) และต้องอยู่ในเคหสถาน 24 ชั่วโมง ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า การคุมขังที่บ้าน หรือ House Arrest

ผศ.รณกรณ์ อธิบายว่า โดยหลักการแล้ว ผู้ต้องหา หรือผู้ต้องขัง มีสิทธิได้รับการปล่อยตัว หากไม่ให้ ต้องมีเหตุผล หรือศาลอาจจะกำหนดเงื่อนไขบางประการ คือ มีเสรีภาพ แต่ถูกควบคุมบางอย่าง ซึ่งเป้าหมายของกระบวนการดังกล่าว คือ ป้องกันการหลบหนี จึงมีมาตรการเช่นการติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ การรายงานตัว หรือการจำกัดบริเวรณเป็นต้น

“การให้ประกันตัว สาระสำคัญ คือ ผมให้คุณประกันตัว เพื่อให้คุณออกไปเตรียมตัวสู้คดี เพราะฉะนั้น การสั่งขังในบ้าน 24 ชม. จึง ไม่ตอบโจทย์เรื่องนี้ เงื่อนไขที่น้อยที่สุด คือ การออกไปพบทนายความของตนเอง หรือเตรียมตัวต่อสู้คดี นี่เป็นสิ่งที่ต้องเรียกร้อง กฎหมายไม่ใช่แค่ตัวอักษร แต่มีจิตวิญญาณ ต้องไม่กำหนดเงื่อนไขจนเขาไม่สามารถทำอะไรได้ และจำกัดสิทธิการเตรียมตัวต่อสู้คดี ทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม”

ผศ.รณกรณ์ มองว่า เงื่อนไขของการปล่อยตัวชั่วคราว หากไม่นับกรณีจำเป็นอย่างการไปพบแพทย์ หรือธุระจำเป็น อย่างน้อยการออกไปทำงาน ไปเรียน หรือเตรียมตัวต่อสู้คดี ควรได้รับการยกเว้น การทำหน้าที่ของศาล จึงไม่ใช่แค่ต้องเป็นธรรมตามลายลักษร์อักษรเท่านั้น แต่ต้องแสดงให้สังคมเห็นว่าเป็นธรรม การใช้มาตรการขังในบ้าน 24 ชม. นี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงการ ‘ข่มขู่’ ด้วยกฎหมาย อาจเกิดการตั้งคำถาม ถึงการตั้งเงื่อนไขนี้ของศาลจากสังคมด้วย​ จนนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในอนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้