เครือข่ายเยาวชน ชวนร่วมสานฝัน ต่อ ยอดเป็นนโยบายทำได้จริง ยั่งยืน หลังพบข้อจำกัดเงินทุนสนับสนุน ส่งผลคนรุ่นใหม่หมดไฟนำเสนอไอเดียใหม่
เมื่อวันที่ (15 ก.ค.66) สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ร่วมกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม Social Spark : ลงทุนความฝัน จุดไฟนวัตกรเปลี่ยนสังคม เปิดพื้นที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. จัดแสดง 21 นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) จากนวัตกรรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนแปลงและยกระดับสังคมไปในทางที่ดีขึ้นกว่าในรูปแบบตลาดนัดนวัตกรรม
ภายในกิจกรรมมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ที่มีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เข้าร่วมติดตามการนำเสนอนวัตกรรมแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งผ่านการทดลองในพื้นที่จริงจนพร้อมใช้ เพื่อเลือกลงทุน สนับสนุน หรือร่วมบริจาค ให้ผลงานเปลี่ยนสังคมเหล่านี้มีความยั่งยืน อาทิ
ระบบแผนที่ออนไลน์ตำแหน่งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED4All.net) ที่ทีมงานพัฒนาจนเกิดให้บริการตั้งแต่ปี 2563 เป็นส่วนหนึ่งของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งช่วยให้การเข้าถึงและใช้งาน AED เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต ปัจจุบันสามารถให้บริการทั่วประเทศเกือบ 700 ตำแหน่ง
การพัฒนาศักยภาพนักเรียนพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เครื่องมือที่จะช่วยให้วัยเรียนของนักเรียนพยุหะคีรี ได้มีความกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง และมีความสามารถในการรับมือปัญหาสุขภาพใจได้ด้วยตัวเอง
โคมไฟส่งเสริมการเรียนรู้ โดยใช้หลักการอุณหภูมิสีของแสงและเทคนิคมะเขือเทศด้วยการประยุกต์ใช้ร่วมกับบอร์ด Arduino
Aridanta เพิ่มประโยชน์ของลูกระนาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการปรับพลังงานกลจากแรงเหยียบของรถเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์
แผนปรับพฤติกรรมการคัดแยกขยะและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ตู้ขยะกระตุ้นเศรษฐกิจ
PoonPin พื้นที่สร้างสรรค์ ในอำเภอพิมาย ทำให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการกระจายพื้นที่สร้างสรรค์ออกจากกรุงเทพ ฯ และหัวเมืองใหญ่
โดยตลอดการนำเสนอผลงานนวัตกรรม มีการแลกแลกเปลี่ยนข้อเสนอจากนักลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ อย่างเข้มข้น เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรมแก้ปัญหาทางสังคมอย่างยั่งยืน
ธเนศ ศิรินุมาศ หัวหน้าฝ่ายออกแบบกระบวนการเรียนรู้และสร้างชุมชนนวัตกร สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) กล่าวว่า น้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับทั้ง Funding เงินทุนสนับสนุน Training การอบรมให้ความรู้ การทำงานเป็นทีม Networking เครือข่ายการทำงาน และ Monitoring มีที่ปรึกษาคอยให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตลอดโครงการ งานนี้ มีทีมนวัตกรรมในรุ่น Rookie รุ่น Pre Turn Pro และรุ่น Turn Pro ของทั้งปีที่ 1 และปีที่ 2 มาจัดแสดงให้นักลงทุนที่สนใจ ได้ให้การสนับสนุนทุนดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการโอนเงินบริจาคให้น้อง ๆ แล้วจำนวนหนึ่ง
ธเนศ ยังยอมรับด้วยว่า โดยตลอดการทำงานกับคนรุ่นใหม่ พบว่าการสนับสนุนให้นวัตกรคนรุ่นใหม่สามารถต่อยอด และพัฒนาเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ หรือแก้ปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน ต้องประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก คือ 1. ทุน ในการทดลองวิจัย หรือสร้างผลงานต้นแบบ 2. มีความรู้ ทักษะ ในการบริหารจัดการทีม บริบทความต้องการของสังคม 3. เชื่อมโยงเครือข่าย 4. ติดตาม หนุนเสริม เป็นพี่เลี้ยงในการให้คำปรึกษาเมื่อติดปัญหา รวมถึงสภาพจิตใจ หากขาดองค์ประกอบเหล่านี้อาจทำให้นวัตกรคนรุ่นใหม่ที่มีใจอยากเปลี่ยนแปลงสังคม ล้มเลิกความตั้งใจลงไปได้
“บางทีมที่เขาไปต่อไม่ได้เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย หรือทำงานแล้ว เราพบคำตอบว่า เขาต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วย เพราะบางทีการเป็น NGO รายได้มันไม่พอเลี้ยงปากท้องที่จะต่อสู้เพื่อความฝันจริง ๆ ทำให้หลายคนพัก หรือละทิ้งความฝันไปเลย ถ้าเป็นไปได้เราอยากจะกระตุ้นให้สังคมเห็นถึงคุณค่าของ NGO ไม่ใช่เป็นแล้วเข้าเนื้อเข้าตัว ควรจะมีเงินจ่ายที่เป็นธรรม เช่น รัฐจ่ายเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้น้องๆ ยังสานต่องานเพื่อสังคมต่อไปได้”
ธเนศ ศิรินุมาศ
ขณะที่ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. ระบุว่า การให้ความสำคัญต่อปัจจัยทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาวะประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เช่น การลดผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในสังคม และภาวะโลกร้อน โดยมียุทธศาสตร์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของคนรุ่นใหม่ ที่สนใจร่วมแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยได้ร่วมมือกับ SYSI ดำเนินโครงการบ่มเพาะนวัตกรคนรุ่นใหม่ อายุ 15 – 35 ปี ให้ออกแบบนวัตกรรมทางสังคมที่หลากหลายนับตั้งแต่การแก้ไขปัญหาระดับบุคคล ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับสังคมงานในวันนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการได้นำเสนอผลงานของตนเอง ต่อนักลงทุนด้านสังคมทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่เข้าร่วมงานกว่า 100 องค์กร
“ปกติกิจกรรมสร้างสรรค์ หรือคิดค้นนวัตกรรม ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นในหัวเมืองใหญ่ แต่สิ่งที่เราเปิดเป็นตลาดให้พื้นที่เล็ก ๆ ได้แสดงศักยภาพ ก็พบว่าเขามองเห็นปัญหา และแนวทางแก้ไขอย่างได้ผล ซึ่งคนนอกอย่างเราอาจจะไม่ทราบ ดังนั้นถ้าจะทำให้เกิดความยั่งยืนก็ต้องถามว่า องค์กร หน่วยงานของท่านมีตัวชี้วัดความสำเร็จในการสนับสนุนการทำงานเพื่อสังคมอย่างไร ยกตัวอย่าง วันนี้มีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมาร่วมรับฟังด้วย ได้เห็นผลงานน้องที่ออกแบบนวัตกรรมเพิ่มสัมพันธภาพในครอบครัว ถ้าสนับสนุนให้เกิดเป็นโครงการที่ยั่งยืนและเป็นสื่อในระดับประเทศได้ ก็น่าจะตอบโจทย์ตัวชี้วัดของท่าน ถือ win-win ทั้งคู่”
ณัฐยา บุญภักดี
ทั้งนี้ การนำเสนอผลงานนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอีกมากมายกว่า 20 ผลงานที่เปิดพื้นที่เรียนรู้ประเด็นต่างๆ จาก 4 ภูมิภาคทั่วไทยเพื่อเชื่อมโยงเครือข่าย สนับสนุนทุนให้เหล่านวัตกรเพื่อสังคมกัน ผ่านช่องทางของเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ สมาคมคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) เพื่อสนับสนุนให้นวัตกรรมที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นจริง และเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรมที่ยั่งยืน