‘นับเราด้วยคน’ รวมพลังลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและสังคม

สสส. และภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยน ‘เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน’ พร้อมเสนอ 9 หลักการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นธรรมทางสุขภาพ

วันนี้ (22 ก.พ. 66) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยน ‘เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน’ ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 ณ อิมแพคเมืองทองธานี ด้วยเป้าหมายเพื่อลดความไม่เป็นธรรมทางสังคมและความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพบนฐานของสังคมสวัสดิการที่เหมาะสม สังคมสัมมาชีพ สังคมไร้การกีดกัน ลดความแตกต่างในการเข้าถึงสิทธิ โอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากร การสนับสนุนทางสังคมและการเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่สำคัญ การพัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างของลักษณะของประชากร รวมไปถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านอื่น ๆ

สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ระบุว่า ทิศทางและเป้าหมายของกองทุนสร้างเสริมสุขภาวะ ระยะ 10 ปี มีวิสัยทัศน์คือต้องการให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี กับ 8 เป้าหมาย คือ เรื่องการลดอัตรานักสูบ การลดเลิกแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด ความเพียงพอในการเข้าถึงอาหาร การมีกิจกรรมทางกาย สร้างความปลอดภัยทางท้องถนน สร้างความแข็งแรงของสุขภาพจิต ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม สุดท้ายคือแก้ปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งหมดอยู่ภายใต้แนวคิดการลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ โดยการทำงาน เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมทางวิชาการและนวัตกรรม สานพลังภาคีและเครือข่าย พัฒนาศักยภาพบุคคล ชุมชน องค์กร พัฒนากลไกทางนโยบาย สังคม และสถาบัน รวมถึงการสื่อสารสังคมด้วย

“10 ปีข้างหน้า เราจะพาระบบสุขภาพเข้าสู่โลกดิจิทัล เพื่อความคล่องตัวในการให้บริการ ซึ่งแม้ว่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น แต่เราก็จะพยายามเข้าไปดูแลว่าจะลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีตรงนี้อย่างไรด้วยเช่นกัน เราทราบว่ามีปัจจัยความท้าทายหลายด้านที่จะลดความเหลื่อมล้ำด้านทุกสุขภาพและทุกมิติ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่พวกเราทุกคน เริ่มต้นที่รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียมในวันนี้และพรุ่งนี้”

สำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะแบ่งออกเป็น 10 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้บ้าน แรงงานนอกระบบ ประชากรข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรง ผู้ต้องขัง และชาวมุสลิม

โดยข้อเสนอของ สสส. ​เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ ประกอบด้วย 9 ข้อหลัก คือ 1.การเข้าถึงระบบสุขภาพที่เป็นธรรม 2.หลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต 3.การเตรียมความพร้อมสังคมสูงวัย 3.หลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต 4.หลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต 5.การลดความรุนแรงบนฐานเพศ 6.การจัดสวัสดิการถ้วนหน้า 7.เสริมพลังประชากรกลุ่มเฉพาะ 8.การมีส่วนร่วมชุมชน 9.สานพลังภาคประชาสังคม

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รับประกันว่าพวกเขาจะต้องมีเสียง มีพื้นที่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่พยายามตั้งเป้าให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงกว่านี้ แต่เราไม่มีแหล่งพลังงงานมากพอที่จะหารายได้ แต่ผมเชื่อว่าทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ ของเราส่วนขับเคลื่อนสังคมได้ โดยใช้จุดแข็งในการนำเสนอให้ต่างชาติได้ชื่นชม โดยมี สสส. เป็นผู้ร่วมเชื่อมร้อยการทำงานและผลักดัน

“หากว่าใครที่ถูกเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ต้องลุกขึ้นมาส่งเสียง เพื่อเรียกร้องการตรวจสอบความจริง ผมคิดว่ากลุ่มเปราะบางทั้ง 10 กลุ่มในวันนี้ ไม่มีปัญหาใด ๆ ที่จะแก้ได้โดยคนใดคนหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องสนับสนุนให้พรรคการเมืองเข้มแข้ง ให้ฟังเสียงประชาชน และจำเป็นที่เราจะต้องสะท้อนทุกเสียงให้ไปถึงพรรคการเมือง”

อรุณี ศรีโต ตัวแทนแรงงานนอกระบบสูงอายุ เล่าว่า การเป็นแรงงานนอกระบบนอกจากจะไม่มีกฎหมายที่ช่วยให้เข้าถึงสวัสดิการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ แล้ว ยังต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะไม่มีนายจ้าง ไม่มีรายได้ที่แน่นอน โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโรคระบาดหลายคนขาดรายได้ โดยตนได้ทำงานเชิงพื้นที่เสาะหากลุ่มคนนอกระบบ ก็พบว่าประสบปัญหาหนักหนากว่าเดิม แต่หนึ่งในสิ่งที่จำเป็นคือกำลังใจ พลังใจ ซึ่งแกนนำชุมชนสามารถทำได้โดยเปิดพื้นที่รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม รับฟังปัญหาของพวกเขาให้ความชี้แนะ แนะนำและสร้างพลังในการต่อรอง ดังนั้นการรวมกลุ่มจึงสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง จำเป็นต้องรณรงค์เพื่อให้ได้พรรคการเมืองที่รับฟังข้อเสนอของพวกเรา อยากให้รวมกลุ่มกันเพื่อทำให้สังคมไทยลดความเหลื่อมล้ำให้ได้

ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความท้าทายของสังคมไทยจากปัญหาและลักษณะโครงสร้าง มี 6 เรื่องสำคัญ คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นปัญหาเรื้อรัง การเข้าสูงสังคมสูงวัยสมบูรณ์ ตลาดแรงงานนอกระบบ ระบบโครงสร้างความคุ้มครองทางสังคมยังมีช่องโหว่ และระบบต่าง ๆ มักถูกออกแบบตามอาชีพสถานะการทำงาน ซึ่งปัจจุบันเงินที่มาใช้จ่ายมาจากภาษีของคน ในอนาคตควรจะมีการหาแหล่งเงินจากทางอื่น และเลือกว่าเราจะใช้วิธีการให้สวัสดิการถ้วนหน้า หรือเลือกกลุ่มเฉพาะ ขณะที่ท้องถิ่นระดับพื้นที่ควรที่จะได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพมากขึ้น

“ความท้าทายที่เกิดจากความหลากหลายของประชากรกลุ่มเฉพาะเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องทำให้เกิดสะพานเชื่อมความต่างของกลุ่มประชากร เช่น สังคมสูงวัย เรายังพบว่าสามารถแบ่งกลุ่มออกได้อีกมาก สองประเด็นที่เราต้องคิดคือ เวทีวิชาการ การแลกเปลี่ยนกลุ่มต่าง ๆ จะต้องตอบโจทย์ประชากรกลุ่มเฉพาะ ระบบกลไกที่จะตอบสนองความซับซ้อนของกลุ่มประชากร จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เรื่องนี้เป็นการบ้านที่ฝ่ายนโยบายต้องหาคำตอบ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active