พม. ตั้ง Case Manager ช่วยครอบครัวปูแป้น

ภาพรวมนักสังคมสังเคราะห์ยังไม่เพียงพอ ปี 2564  พม. ตั้ง Case Manager ดูแล 1,160  ครอบครัว ในพื้นที่ กทม. ด้านภาคประชาชน เสนอรัฐตั้งระบบจัดการอาสาสมัคร 

วันนี้ (10 พ.ย. 2565) หลังจากที่เรื่องราวครอบครัวของน้องปูแป้น ได้ถูกนำเสนอผ่านสารคดีคนจนเมือง Thai PBS นำมาสู่การหาแนวทางช่วยเหลือครอบครัวกลุ่มเปราะบางแบบองค์รวม รูปแบบ Case Manager ประสานความช่วยเหลือต่อเนื่องจากหลายหน่วยงาน ลดความซ้ำซ้อน

ฐาปนีย์ ศิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร

โดย ฐาปนีย์ ศิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือลักษณะสงเคราะห์กลุ่มเปราะบางแบ่งเป็น 4 ส่วน 1. กลุ่มเด็กและเยาวชน 2. กลุ่มคนพิการ 3. สวัสดิการ ประกอบอาชีพ และ 4. ผู้สูงอายุ 

แต่ละกลุ่มก็จะมีกรมในการรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันจึงมีการแต่งตั้ง Case Manager 1 คน ที่จะประสานความช่วยเหลือจากทุกกรม โดยไม่โยนเคสกันไปมาระหว่างหน่วยงานทำให้การช่วยเหลือต่อเนื่อง ลดความซับซ้อน โดยจะเน้นช่วยเหลือผู้นำครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก และจะติดตามไปจนกว่าครอบครัวจะสามารถยืนได้ด้วยตนเอง แต่ก็ยอมรับว่าการดูแลของ Case Manager กับศักยภาพของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไปพร้อมกัน​ ผู้ได้รับการช่วยเหลือต้องพูดความจริงกับ Case Manager เพื่อวางแผนการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด โดยปัญหาสำคัญของครอบครัวปูแป้น ที่ยากที่สุดคือการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 

สำหรับครอบครัวปูแป้น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 3 ส่วน 3 โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ทำหนังสือถึงโรงเรียนสายปัญญาในเรื่องเวลาเรียนของปูแป้น มีการหารือและการให้เงินสงเคราะห์ ขณะที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการวางแผนปรับห้องน้ำ สนับสนุนกายอุปกรณ์ทำกายภาพ พิจารณาการเข้าถึงกองทุนกู้ยืมของคนพิการซึ่งที่ผ่านมาครอบครัวนี้ก็กู้ยืมไปแล้ว และประสานกับโรงพยาบาลตำรวจ ให้สามารถตรวจทุกโรคได้ในครั้งเดียว โดยจะมีการหาอาสาสมัครไปช่วยพาแม่ของปูแป้นไปโรงพยาบาล โดยที่ลูกสาวไม่ต้องพาไปให้กระทบเวลาเรียน ส่วนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะดูอาชีพของพ่อปูแป้นหาแหล่งทำกินให้อย่างถูกกฎหมาย อาจประสานงานภาคเอกชนที่ทำ CSR สนับสนุนรถเข็นในการขายของ

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานครยอมรับว่าในปี 2564 มีครอบครัวที่แต่งตั้ง Case Manager เข้าไปดูแลถึง 1,160 ครอบครัว และโดยความท้าทายอยู่ที่ประชากรแฝง ในกรุงเทพและการย้ายถิ่นที่อยู่ไปอย่างรวดเร็ว ที่อาจทำให้ขาดการติดต่อในระหว่างการให้ความช่วยเหลือ​ และจำนวนนักสังคมสงเคราะห์ของกรมที่มีไม่เพียงพอ

เบญจวรรณ ธนพรภูริช มูลนิธิเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ 

ด้าน เบญจวรรณ ธนพรภูริช จากมูลนิธิเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ หรือ คศน. ซึ่งเคยเป็นอาสาสมัคร กลุ่มคลองเตยดีจัง ที่ทำงานในรูปแบบ Case Manager ดูแลครอบครัวเปราะบาง ผู้ติดเชื้อในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในชุมชนคลองเตย ใช้แนวคิดการจัดการพื้นที่ระบาดหนักแบบองค์รวมจึงได้จัดทำระบบ Case Manager เพื่อทำงานบนฐานข้อมูล บันทึกติดตามผู้ติดเชื้อและครอบครัวโดยละเอียด บันทึกข้อมูลการช่วยเหลือ โดย Case Manager มีภารกิจติดตาม เคสผู้ติดเชื้อแต่ละคนตั้งแต่เริ่มติดเชื้อจนกระทั่งรักษาหายและทุกคนในครอบครัวของผู้ติดเชื้อกักตัวจนหลุดออกจากกลุ่มเสี่ยงได้ทั้งหมด ซึ่งลักษณะการช่วยเหลือแบบ Case Manager ที่ทำอยู่ในช่วงโควิด-19 ก็ไม่ต่างอะไรจากแนวทางในการแก้ปัญหาช่วยเหลือครอบครัวกลุ่มเปราะบางที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กำลังทำอยู่ในเวลานี้

เบญจวรรณ บอกว่า ในมุมของอาสาสมัคร เสนอว่าหากบุคลากรของรัฐมีไม่เพียงพอ ประชาชนคนทั่วไปบางส่วนก็พร้อมที่จะเป็นอาสาสมัครเข้าไปช่วยงาน แต่จำเป็นจะต้องมีระบบอาสาสมัคร ที่แบ่งเป็น 2 ส่วนคือระบบการจัดการ และระบบสนับสนุน ผู้ที่เป็นอาสาสมัครจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านการเงินและเวลาส่วนตัว ทั้งนี้การทำงานอาสาสมัครทำให้รู้สึกว่าตนมีประโยชน์ต่อผู้อื่นเห็นคุณค่าในตนเอง แต่งานอาสาสมัครก็มีข้อควรระวังเพราะอาสาสมัครหลายคนที่ทำงาน Case Manager ก็โดนหลอกลวงจากเคสที่ได้รับการช่วยเหลือ ให้ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือเกินจริงเพื่อเรียกความน่าสงสารและขอเงินจาก Case Manager

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active