ประกาศเพิ่มพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม บ้านห้วยไร่ ห้วยงู แม่ปูนน้อย จ.เชียงราย

ชาวบ้านยืนยันสิทธิจัดการที่ดิน ทรัพยากรตามวิถีชนเผ่า ด้านหน่วยงานและภาคประชาชนเห็นพ้อง ยุติแผนประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับที่ชุมชน ลงนามความร่วมมือส่งเสริม-คุ้มครองวิถีชาวกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2565 ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย หมู่ที่ 11 ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้าจ.เชียงราย ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) องค์การบริหารส่วนตำบลสันสลี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย เพื่อร่วมกันจัดทำแผนการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม ทั้งแผนการคุ้มครองวัฒนธรรม แผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิต หลังจากชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย ต้องเผชิญปัญหาการละเมิดสิทธิด้านการจัดการที่ดินป่าไม้มากว่า 30 ปี

หลายภาคส่วนร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงส่งเสริม-คุ้มครองวิถีกะเหรี่ยง

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เขตพื้นที่วัฒนธรรมบ้านห้วยไร่ ห้วยงู และแม่ปูนน้อย  ระหว่างนายอำเภอเวียงป่าเป้า, ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย), วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย, หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท, นายกองค์การบริหารส่วยตำบลสันสลี, ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.สันสลี, ตัวแทนชุมชนบ้านห้วยไร่, ตัวแทนชุมชนบ้านห้วยงู, ตัวแทนชุมชนบ้านแม่หูนน้อย, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ โดยมีเนื้อหาความร่วมมือดังนี้

1. ส่งเสริมสิทธิการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่ายและสนับสนุนในการจัดการ บำรุงรักษา อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามหลักจารีตประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชน โดยยึดหลักปฏิบัติตามแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553

2. ส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เร่งรัดแก้ไขปัญหาในพื้นที่และส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาวัฒนธรรม

3. สนับสนุนการสืบทอดวิถีวัฒนธรรมของชุมชน รวมทั้งสร้างกลไกขับเคลื่อนการทำงานในเขตพื้นที่วัฒนธรรมร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในวิถีวัฒนธรรม ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน

อพยพคนออกจากป่า-ทวงคืนผืนป่า สู่พื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม

บ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 11 ต.สันสลี อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนตั้งแต่ปี 2442 ก่อนจะถูกประกาศพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผ่านหลัง จนในปี 2534 หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เกิดโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) หรือที่ภาคประชาชนเรียกกันว่า “นโยบายอพยพคนออกจากป่า” ทำไปสู่การเร่งรัดสำรวจและเร่งรัดประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเขตป่าเป็นอย่างมาก 

หนึ่งในนั้นคือชุมชนบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย ทำให้ชุมชนเข้าร่วมการต่อสู้กับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) เพื่อต่อสู้กับแผนอพยพดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 และร่วมผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชนของภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายร่วมกับเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือในปี 2542 ก่อนจะถูกสมาชิกวุฒิสภาปัดตกในปี 2545 และพยายามผลักดันกฎหมายของหน่วยงานเองที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชนนั่นคือการไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์

น้อย นุแฮ ชาวบ้านห้วยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ในปี 2547 ชุมชนจึงได้ร่วมกับ คกน. อีกครั้ง จัดกิจกรรม “เดินธรรมชาติยาตรา” จาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ สู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้หยุดพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับดังกล่าว ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน จนสามารถคัดค้านได้สำเร็จ หลังจากนั้นจึงได้ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายชาติพันธุ์ทั่วประเทศผลักดันจนเกิดแนวนโยบายสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ หรือโฉนดชุมชน จนมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 มีพื้นที่นำร่อง 486 ชุมชน รวมถึงบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อยด้วย และยังมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง รองรับรูปแบบการจัดการพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษหรือพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อหนุนเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้ด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมของตนเอง และเป็นแนวนโยบายเพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. จึงได้มีการออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ หรือ “ทวงคืนผืนป่า” ประกอบกับแผนแม่บทก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2557 ที่กำหนดว่าจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ โดยจำแนกเป็นป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ และป่าเศรษฐกิจ15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สถานการณ์ในชุมชนบ้านห้วยไร่-ห้วยงู-แม่ปูนน้อย เริ่มตึงเครียดอีกครั้ง ในได้มีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท ในปี 2560 และมีแผนจะผนวกพื้นที่เพิ่มเติมทับซ้อนกับพื้นที่ของชุมชนอีกหลายพันไร่ รวมถึงการกลับมาอีกครั้งของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่ไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 2562 ทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง

ชุมชนจึงได้ร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เดินหน้าเจรจาในระดับนโยบายกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าในพื้นที่ และยังได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรมในการผลักดันพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม และผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จนสามารถประกาศให้ชุมชนเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมได้ในที่สุด

“ผมสู้มา 30 ปี ตั้งแต่หนุ่มยันแก่ ผมคิดว่ารัฐไม่ได้เปลี่ยนเลย สุดท้ายก็หาทางจะมาคุกคามเราตลอด ออกกฎหมายมาชาวบ้านก็อ่านไม่ออก ไม่เข้าใจ ตามไม่ทัน วันนี้ผมรู้ว่าประกาศพื้นที่คุ้มครองได้แล้ว เอาเขตห้ามล่าฯ ออกได้แล้วก็เป็นชัยชนะส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ทั้งหมด สุดท้ายในอนาคตเราจะเจออีก ผมบอกลูกหลานเสมอว่ามันจะเจออีก แต่ยังไงวันนี้ก็ยังดีใจที่ยังได้ทำอะไรไว้ให้ลูกหลาน คือการเอาเขตห้ามล่าฯ ออกไปได้”

น้อย นุแฮ ชาวบ้านห้วยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
น้อย นุแฮ ชาวบ้านห้วยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย

หลายฝ่ายเห็นพ้อง ยุติประกาศเขตห้ามล่าฯ ทับชุมชน

​ในช่วงบ่าย มีการจัดเวทีเสวนาว่าด้วยบทเรียนการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม โดยมีตัวแทนชาวกะเหรี่ยงในแต่ละพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมในการเสวนา โดยประเด็นสำคัญคือแนวทางของหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ ว่าจะหันหน้าร่วมมือกับชุมชนในการดูแลจัดการป่าอย่างไร มากกว่าการยืนยันใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดที่จะสร้างแต่ความขัดแย้งไม่รู้จบ

​ณรงค์ฤทธิ์ คำลือ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท ยืนยันว่ากฎหมายมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 นั้น มีช่องทางให้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้ตามภูมิปัญญา โดยทางเขตห้ามล่าฯ ก็ต้องการองค์ความรู้ของชาวบ้านในการจัดการพื้นที่เพื่อนำไปจัดทำเป็นแผนจัดการพื้นที่ด้วยเช่นกัน แต่พื้นที่ประมาณ 5,030 ไร่ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท มีแผนประกาศผนวกเพิ่มเติมทับชุมชนบ้านห้วยไร่ ห้วยงู และแม่ปูนน้อยนั้น ตนขอยืนยันกับชาวบ้านว่าจะไม่มีการประกาศพื้นที่ตรงนี้เพิ่มเติมอีก

สมเกียรติ ปูกา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ย้ำว่า พื้นที่ทั้ง 5 พันกว่าไร่นั้นให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการตามหลักจารีตประเพณีได้

ซ้าย : ณรงค์ฤทธิ์ คำลือ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท
ขวา : สมเกียรติ ปูกา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย)

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เล่าถึงการต่อสู้และความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่มาอย่างยาวนานหลังมีแผนการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับพื้นที่โดยชี้ว่า อุทยานฯ ไม่เข้าใจวิถีการจัดการของชาวบ้านที่เรียกว่าพื้นที่จิตวิญญาณ แต่ยืนยันจะใช้แต่กฎหมายซึ่งที่ผ่านมาก็ขาดการมีส่วนร่วมมาโดยตลอด จึงเรียกร้องว่า หากยกเลิกแผนการผนวกพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าแม่โท แล้ว ก็ขอให้มีการทำเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอบ้านสบลาน

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวว่า ทั้ง 3 หย่อมบ้าน ได้แก่บ้านห้วยไร่ ห้วยงู แม่ปูนน้อย พิสูจน์แล้วว่าสามารถบริหารจัดการป่าได้ดีมาก จึงทำให้มีเหตุผลที่สมควรว่าทำไมเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าแม่โท จึงไม่จำเป็นต้องประกาศพื้นที่ทับชุมชน และตนขอเสนอให้ยุบกรมป่าไม้หากไม่มีความจำเป็น ให้คงเหลือเพียงกรมอุทยานฯ ก็ได้ แล้วให้มีการประกาศอุทยานชุมชน ให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของตนเองได้เอง

ด้าน เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็เห็นว่า ที่ผ่านมากฎหมายจากรัฐจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ก็ยังไม่ให้มีการจัดตั้งชุมชนได้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิ เพราะป่าชุมชน หากชุมชนจัดการเองได้ ก็ควรจะให้ชุมชนจัดการได้ในทุกประเภทป่า  โดยหลังจากนี้ในพื้นที่นี้ควรจะให้มีการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน และควรร่วมกันพัฒนามูลค่าจากป่าชุมชนต่อไป หากสามารถทำได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีกรมป่าไม้ เพราะการจัดการร่วมได้เกิดขึ้นแล้ว

ซ้าย : เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ขวา : ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active