เลิกโยนบาปต้นเหตุโลกร้อนให้ชนเผ่าพื้นเมือง

ประเดิม “วันชนเผ่าพื้นเมืองฯ 65”  ภาคปชช. เสนอสร้างการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ย้ำ เสียงคนเมือง คนกับป่า ต้องเท่ากัน

วานนี้ 7 ส.ค.65 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย  ร่วมกับ Thai PBS, The Active และภาคีเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง จัดกิจกรรมรณรงค์สาธารณะเนื่องใน “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี2565” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นอกจากการฉายสารคดี “มันนิ ใต้ป่าภูผาเพชร” แล้วยังมีเวทีเสวนา “เสียงชนเผ่าพื้นเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยมีตัวแทนจากแวดวงต่างๆ อาทิ นักกฎหมาย สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)  มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ตัวแทนกลุ่ทชาติพันธุ์ ร่วมสะท้อนปัญหาและแนวทางในการกำหนดนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างมีส่วนร่วม

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล นักกฎหมายและตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล นักกฎหมายและตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแต่มาเป็นที่รับรู้เมื่อคนชนชั้นกลางเริ่มได้รับผลกระทบ โดยที่ต้นตอของปัญหาอย่างโครงการอุตสาหกรรม ไร่ข้าวโพด ท่อไอเสียจากรถยนต์ ไม่ได้ถูกพูดถึงหรือมีกฎหมายเข้าไปกำกับ ควบคุมมากนัก แต่กลับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนบนพื้นที่สูงซึ่งตามประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นเพียงฝ่ายเดียวอยู่แล้วเพราะฉะนั้นการจะทำให้คนกลุ่มนี้เป็นจำเลยของประเด็นโลกร้อนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมจึงเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด 

ขณะที่ความพยายามแก้ปัญหาเรื่องสิทธิที่ทำกิน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เตรียมส่งมอบพื้นที่ในการจัดทำ คทช. ประมาณ 5 ล้านไร่ มองว่า แม้จะฟังดูเหมือนมาก แต่ตัวเลขพื้นที่เป้าหมายในการจัดทำมีอยู่ประมาณ 15 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 3-4-5 แต่พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1-2 ซึ่งเป็นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข ดังนั้นแม้แต่ คทช.ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อคนที่อาศัยกับป่าอย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐไม่ต้องการที่จะทำให้คนที่อยู่บนพื้นที่สูงได้เข้าถึงสิทธิในที่ดิน พื้นฐานก็มาจากมายาคติเรื่องโลกร้อนที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคน แต่กลับส่งผลต่อการกำหนดชีวิตของคนจริง ๆ เพียงเพราะเขาไม่ใช่คนชนชั้นกลาง หรือคนในเมือง

“ปี 54 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกทม. กระแสหรือความคิดของผู้มีอำนาจ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่เริ่มทำให้เกิดความคิดที่ว่าการอยู่กับป่า การทำไร่หมุนเหวียนเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ  ที่น่าสังเกตคือหลังปี 54 เป็นต้นมา ถ้าเป็นคดีบุกรุกป่าเกิน 1 ไร่ ศาลจะไม่รอกลงอาญา สร้างบ้านเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรโทษแค่ 10 เดือนก็ไม่รออาญา ต่างไปจากก่อนปี 54 สิ่งนี้สะท้อนชัดเจนว่าจากวาทะกรรมโลกร้อน นำไปสู่การพิพากษาในชีวิตจริงได้อย่างไม่ต้องสงสัย”

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล 
สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

สอดคล้องกับความเห็นของ สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ​กล่าวถึงสถานการณ์คนกับป่าในประเทศไทย โดยเฉพาะหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ตัดเรื่องการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีคือสิทธิมนุษยชนออกไป ในขณะที่ 28 ก.ค.65 สมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ได้ลงมติว่า การเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน เป็นหลักสิทธิมนุษยชน แบบนี้เท่ากับรัฐธรรมนูญขัดหลักสากลหรือไม่ โดยเฉพาะการตีความในกฎหมายลูกยังขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.43 ที่ระบุให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิจัดการบำรุงรักษาทรัพยากรป่าไม้ เช่น กฎหมายป่าไม้ อุทยานฯ  เขียนกำกับให้ชนเผ่าพื้นเมืองที่เกิดในป่าก็ผิดกฎหมาย  รวมถึงการทำ EIA ให้อำนาจในการตัดสินใจอยู่ในมือของคนจากกระทรวง กรมต่างๆ แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมของคนที่อยู่กับป่า การเขียนให้ลุ่มน้ำชั้น 1A ห้ามมีคนอาศัยอยู่ แต่ทำเหมืองได้ก็ขัดแย้งกับความอุดมสมบูรณ์ ยั่งยืน 

ดังนั้น การรวมกลุ่มของชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ ใช้สิทธิเสรีภาพในการต่อสู้เพื่อที่ทำกินจึงเป็นสิ่งสำคัญเวลานี้ เช่นที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านกะเบอะดิน จ.เชียงใหม่ ที่ไม่เอาเหมืองแร่ มีชาวบ้านกว่า 2000 คนออกมาใช้สิทธิในเวทีรับฟังความเห็น และยังฟ้องศาสปกครอง ชาวบ้านคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ออกมาสื่อสารข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพ ข้อมูลชุมชน เรื่องราววิถีชีวิตคนอยู่กับป่า ประกอบการฟ้องคดีสื่อสารสู่สาธารณะ ในขณะที่ภาครัฐยังไม่มีแนวทางในการบอกว่าจะมีกระบวนการฟื้นฟู เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ เหล่านี้อย่างไร 

“ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนจากตะกอนสารพิษ การชดเชยเยียวยาก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะป่าคือระบบนิเวศที่ต่างกัน ไม่ใช่ทำเหมืองแล้วเอาต้นไม้อื่นไปปลูกในพื้นที่จะมาบอกว่าบริษัทฉันลดการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ โลกร้อนไม่ใช่แค่การเผา แต่ต้องมองตั้งแต่ไปขุดแร่ขึ้นมาจากใต้ดินลำเลียง ขนส่ง จนเกิดการเผา ทุกกระบวนการทำให้เกิดโลกร้อน การไล่พี่น้องออกจากป่าเพื่อโฆษณาลดคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง”

สุภาภรณ์ มาลัยลอย
วนัน เพิ่มพิบูลย์ จาก Climate Watch Thailand

ด้าน วนัน เพิ่มพิบูลย์ จาก Climate Watch Thailand กล่าวว่า ในทางวิชาการหากพูดถึงปัญหาโลกร้อนต้องดูจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ อุณหภูมิในโลกสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย และ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่ยังไม่ลงมาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเชิงประจักษ์ คือ สิ่งที่ชาวบ้านที่อยู่กับป่าต้องเจอในฐานะต้นน้ำ ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องเร่งสื่อสารถึงต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงออกไป เช่น การใช้ถ่านหิน การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เผาป่า ล้วนก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

แต่สิ่งที่สำคัญ คือต้องดูว่าต้นเหตุนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร ตัวอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมานานแล้วและเป็นขนาดใหญ่ การผลิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยเพื่อความสะดวกสบายมีการพูดถึงคนกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่ ขณะที่การเผาเพื่อการดำรงชีพเรากลับยอมรับไม่ได้ ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนชาวเขาเต็มที่อาจจะปลูกต้นไม้ 10 ต้น ตัด 10 ต้น เพื่อดูดคาร์บอนไดออกไซด์ทดแทนกัน ในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า “วงจรคาร์บอน” ขณะที่ปัญหาคือถ่านหิน ต้องขุดเอามาเผา กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินในโลกนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และตอนนี้กำลังมีการปรับแผนสร้างให้เกิดภาพพจน์สีเขียวซึ่งน่ากังวลอย่างมาก

เช่น สร้างพื้นที่ป่า เก็บรักษาพื้นที่ป่า เพื่อดูดก๊าซที่ตัวเองปล่อยออกมา แต่ข้อกังวลคือทำให้เกิดการจ่ายเงินให้ชาวบ้านช่วยรักษาป่า แต่บริษัทยังคงปล่อยก๊าซแบบเดิมแทนที่จะเป็นการสร้างพลังงานหมุนเวียน และอีกรูปแบบคือการตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงที่เกิดการเผาไหม้นำไปไว้ใต้ดิน แต่ไม่ได้นำไปสู่การทำให้บริษัทลดละเลิกการปล่อยก๊าซอย่างแท้จริง

“โลกเราไม่ควรจะดำเนินไปในรูปแบบนี้ พวกคุณนั่นแหละคือกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบ และทุกคนที่รู้ว่าใครมีส่วนร่วมในการทำก็ต้องช่วยกันชี้ให้เห็นว่าคนๆ นั้นเป็นใคร ชี้ไปที่ช้างอย่าไปบี้กับยุง หรือทำให้ชาวบ้านอยู่ในวงจรปัญหากับคุณไปด้วย “

วนัน เพิ่มพิบูลย์
ร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR)

ขณะที่ ร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสากล โดยระบุว่าโลกรู้จักกับปัญหาโลกร้อนมาตั้งแต่ปี 2531 แต่เวลานั้นยังไม่มีใครทำอะไร ชนเผ่าพื้นเมืองถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เป็นผู้ลุกขึ้นมาให้มีการรับรองภูมิปัญญาของชนเผ่าว่ามีส่วนในการช่วยยุติหรือปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ แต่ต่อมากลับเป็นจำเลยของสังคม ทั่วโลกชนเผ่าพื้นเมืองจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตัวเองต้องอยู่ติดกับทะเล ป่า เขา ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบก่อนชนชั้นกลางเสมอ

ยังเป็นที่น่าสนใจว่าพื้นที่ 1 ใน 4 ของโลกที่เป็นแผ่นดิน กว่าร้อยละ 25 ถูกครอบครองโดยชนเผ่าพื้นเมือง ขณะที่ร้อยละ 80 ของแผ่นดินความหลากหลายทางชีวภาพก็อยู่ในพื้นที่ของชนเผ่าพื้นเมืองด้วยเช่นกัน เนื่องจากวิถีชีวิตที่ถูกนิยามว่าเป็น ผู้ปกปักษ์รักษา เช่นเดียวกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่รับรองว่าชนเผ่าพื้นเมืองเป็นส่วนสำคัญในการดูแลรักษาสภาพภูมิอากาศ พร้อมเสนอแนะการรับรองสิทธิในที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองทางกฎหมาาย เพราะความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยย่อมส่งผลต่อผู้มีส่วนสำคัญในการดูแลป่าและจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งทำได้ดีกว่าพื้นที่ของรัฐ บทบาทของรัฐในต่างประเทศจึงรับรองให้ป่าต้องมีชีวิตและประเทศสมาชิกของ UN ทั้ง 193 ประเทศ จะต้องได้รับการรับรองหากจะทำอะไรในเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนจะต้องคำนึงถึงการใช้ภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมืองในการรับมือ แต่คำถามคือจะสื่อสารข้อเท็จจริงนี้ไห้กับรัฐบาลไทยเข้าใจได้อย่างไร

ธนกฤต โต้งฟ้า นักกิจกรรมชนเผ่าพื้นเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มR2S

ด้านธนกฤต โต้งฟ้า นักกิจกรรมชนเผ่าพื้นเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มR2S พื้นที่ในการสื่อสารจากพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ุทั่วประเทศสู่สาธารณะ กล่าวว่า ตนเองเกิดในหมู่บ้านคลิตี้ล่างท่ามกลางผลกระทบและการต่อสู้ของคนรุ่นพ่อแม่ จึงเป็นเหตุผลในการออกมาต่อสู้ และเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เป็นนักกฎหมาย นักกิจกรรม แลกเปลี่ยนปัญหากับพี่น้องชาติพันธ์ุทางภาคเหนือ จึงพบว่าหลายพื้นที่เจอปัญหาด้านสิทธิที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และการถูกแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ไม่ต่างกัน จึงเริ่มทำงานเป็นเครือข่าย สื่อสารประเด็นชนเผ่าพื้นเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมชักชวนคนเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้มีพื้นที่ในการสื่อสาร ส่งเสียงให้สาธารณะได้เข้าใจว่าชนเผ่าพื้นเมืองไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน สร้างแนวร่วม สร้างความเข้าใจใหม่ ๆ 

“เราจะใช้โอกาสของวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นสื่อสาร ลบล้างมายาคติที่รัฐสร้างขึ้น หรือที่เรียนกันในตำรา ว่าจริง ๆ แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เราต้องการจะให้คนเมืองได้รับฟังทั้งหมด”

ธนกฤต โต้งฟ้า

ขณะที่บรรยากาศนิทรรศการ “เสียงชนเผ่าพื้นเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่จัดแสดงบริเวณชั้น 5 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 3 เครื่องมือ คือ ภาพถ่าย คลิปสั้นและสื่อผสม  บอกเล่าเรื่องราวของ 4 หมู่บ้าน คือ ชุมชนบ้านเบ๊อะบลูตะ จ.ตาก ชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง ชุมชนบ้านห้วยมะกอก จ.แม่ฮ่องสอน ชุมชนบ้านกะเบอะดิน จ.เชียงใหม่ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก และจะมีการจัดแสดงถึงวันที่ 14 ส.ค.65 

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน