‘สมรสเท่าเทียม’ ไม่ได้เปลี่ยนทัศนคติสังคมไทย ในพริบตา

‘กมธ. สมรสเท่าเทียม’ ยอมรับ ต้องให้เวลาสังคมเปลี่ยนผ่านความคิด ชี้กฎหมายไม่ใช่ทำเพื่อ LGBTQIAN+ แต่ส่งผลต่อเนื่อง เปิดพื้นที่เรียนรู้ ภาพลักษณ์ เศรษฐกิจ ย้ำยังมีอีกหลายเรื่องต้องทำต่อ

หลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา สังคมยังเกิดการตั้งคำถาม ว่า กฎหมายนี้ ส่งผลต่อภาพรวมของสังคมในแง่ต่าง ๆ อย่างไรบ้าง และนอกเหนือจากเรื่องสมรสแล้ว ยังคงมีประเด็นอะไร ที่ชุมชน ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ต้องขับเคลื่อนกันต่อเพื่อให้สิทธิต่าง ๆ ของประชาชนเท่าเทียมกัน

วันนี้ (20 มิ.ย. 67) ณชเล บุญญาภิสมภาร คณะกรรมาธิการวิสามัญสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน ให้สัมภาษณ์ผ่าน รายการตรงประเด็น ไทยพีบีเอส ว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ใช่กฎหมายของ LGBTQIAN+ เท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเท่าเทียมแก่สังคมไทย ซึ่งผลที่สังคมโดยรวมจะได้รับจากกฎหมายนี้ คือ การมีพื้นที่ในการเรียนรู้เกี่ยวกับ LGBTQIAN+ มากขึ้น

โดยการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเปิดให้ระบบการศึกษาได้พูด และมีโอกาสทำความเข้าใจภาษาต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างความเท่าเทียมให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ รวมถึงภาษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQIAN+ เช่น กลุ่มคำ SOGIESC

นอกจากนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยให้ ครอบครัวของกลุ่ม LGBTQIAN+ มีความแน่นแฟ้น ความรักและเกิดการยอมรับมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาหลายครอบครัวเกิดความกังวลเรื่องความมั่นคงในการสร้างครอบครัวและสิทธิการแต่งงานของลูกหลานที่เป็น LGBTQIAN+

ณชเล ยังระบุอีกว่า นอกจากเรื่องของพื้นที่การเรียนรู้แล้ว กฎหมายสมรสเท่าเทียม ยังส่งผลถึง ภาพลักษณ์ และ เศรษฐกิจ ของประเทศ เพราะการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า ไทยได้ทำตามสัญญาที่มีกับนานาประเทศ

“กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นเครื่องพิสูจน์คำพูดที่ว่า ไทยให้การยอมรับ โอบรับและเป็นสวรรค์ของ LGBTQIAN+ ไม่ใช่เพียงคำพูดเพื่อโปรโมทประเทศเท่านั้น แต่ไทยทำให้เกิดขึ้นจริงโดยการมีสมรสเท่าเทียม อีกทั้งส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศ เพราะให้สิทธิแก่คู่รักเพศหลากหลายในการทำธุรกรรมและการลงทุนต่าง ๆ ร่วมกัน”

ณชเล บุญญาภิสมภาร

ณชเล ยังได้ให้ความเห็นว่า หลังจากที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวุฒิสภาแล้ว ภาคประชาสังคมยังคงมีงานที่ต้องขับเคลื่อนต่ออีก ทั้งการร่วมกันจับตามองความพร้อมของภาครัฐในการเตรียมความพร้อมภายใน 120 วัน หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา และการผลักดัน พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ที่ยอมรับว่าเป็นงานยาก เพราะเกิดการตั้งคำถามเยอะ แต่การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ใช้เวลาผลักดันถึง 23 ปีนั้น ได้สร้างความหวังต่อความสำเร็จของกฎหมายนี้ที่เริ่มกระบวนการการต่อสู้มาแล้ว 12 ปี

ณชเล บุญญาภิสมภาร

“ถ้าเราเดินรอยตามสมรสเท่าเทียม เราอาจจะไม่ต้องรอถึง 23 ปี แน่นอนว่ามันสำเร็จแน่ แต่อาจต้องให้เวลากับมันในการสร้างความเข้าใจ”

ณชเล บุญญาภิสมภาร

อีกทั้งยังมีเรื่องของ ความสัมพันธ์ของบิดา มารดา และบุตร ในกฎหมาย ที่ยังไม่ใช้คำที่มีความเป็นกลางทางเพศอย่างคำว่า บุพการี แทนคำว่า สามีและภรรยา และเรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กจากเทคโนโลยีอนามัยเจริญพันธุ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อของพ.ร.บ.อุ้มบุญ ที่ยังไม่ให้สิทธิการอุ้มบุญแก่คู่สมรสเพศหลากหลาย

ญชเล ได้สะท้อนว่า เสียงจากในสภาฯ เมื่อวันโหวตร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม คือ ภาพจำลองของสังคมไทย ที่อาจยังมีคนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่ยอมรับกลุ่ม LGBTQIAN+ ซึ่งในฐานะนักกิจกรรมที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งนี้ได้ทำให้เห็นว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องเดินหน้าทำงานกันต่อ

พร้อมทิ้งท้ายว่า กลุ่ม LGBTQIAN+ ไม่ใช่คนเพียงกลุ่มเดียวที่ควรได้รับการคุ้มครอง แต่ความเท่าเทียมควรจะเกิดขึ้นกับคนทุกคนในสังคม

“แม้ว่าเราจะมีสมรสเท่าเทียม แต่นั่นไม่ได้ความหมายว่า ทัศนคติของสังคมไทยจะเปลี่ยนในพริบตา การที่เราจะทำให้ทัศนคติของคนในสังคมเปลี่ยน ต้องประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ และองค์ประกอบที่สำคัญ คือ การให้เวลาในการศึกษา การสร้างการยอมรับ และการสร้างกฎหมายตัวอื่น ๆ ที่จะกลายเป็น Safety net ให้กับกลุ่มคนที่อาจถูกลืมจากการคุ้มครองทางกฎหมาย”

ณชเล บุญญาภิสมภาร

Author

Alternative Text
AUTHOR

พรยมล ดลธนเสถียร

นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย