‘ก้าวไกล’ เตรียมเสนอ ‘ร่างกฎหมายคำนำหน้านาม’ เข้าสภาฯ วาระแรก 21 ก.พ.นี้ เปิดทางดำเนินชีวิตตามเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้
จากกรณี มีมี่ เทา นางแบบข้ามเพศระดับโลก โพสต์สลิปโอนเงินของ ปอย-ตรีชฎา หงษ์หยก มิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์ส 2547 ที่โอนเงินช่วยค่าอาหารนกของ “ฟิล์ม-ธัญญรัศม์ จิตประภาจิณ” มิสทิฟฟานี่ ปี 2017
โดยประเด็นที่กลายเป็นกระแสดรามา คือ คำนำหน้าชื่อของทั้ง 2 คน เมื่อพบว่าสลิปในส่วนของปอยผู้โอนเงิน ระบุคำนำหน้าว่า ‘คุณตรีชฎา’ ส่วน ฟิล์ม ระบุคำนำหน้า ว่า ‘นายธัญญรัศม์’ จนมีการตั้งคำถามไปถึง SCB THAILAND เพจของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อขอให้ชี้แจง ว่า สาเหตุที่คำนำหน้าเป็น ‘คุณ’ นั้นเกิดจากอะไร ขณะเดียวกันก็มีผู้เดินทางไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อหาคำตอบด้วยตัวเอง
จากนั้นเพจ SCB THAILAND ชี้แจงกรณีการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อบัญชีนั้น ไม่สามารถทำได้ การเลือกใช้คำนำหน้าชื่อทางธนาคารจะยึดตามเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ ขณะที่ผู้ใช้เฟสบุ๊กรายหนึ่งโพสต์อ้างถึงบทสนทนาระหว่างพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารทางโทรศัพท์ ช่วงหนึ่งว่า
“เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของพนักงานสาขาต้นทางที่เปิดบัญชี ที่เลือกจะบันทึกข้อมูลคำนำหน้านามของคุณตรีชฎาว่า คุณ ทั้งที่จริงแล้วจะต้องใช้คำนำหน้าว่า นาย ตามบัตรประจำตัวประชาชนที่ทางราชการออกให้”
พร้อมระบุว่า ปอย ต้องกลับมาเปลี่ยนคำนำหน้าให้ตรงตามบัตรประจําตัวประชาชนเช่นเดียวกับคนอื่น และหลังจากนี้ทางธนาคารจะประกาศให้ลูกค้าทุกคนทราบ ว่าได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว
พลิกดรามาสู่โอกาส ‘กฎหมายเลือกคำนำหน้านาม’ ตามความสมัครใจ
ประเด็นนี้ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ก็ออกมาโพสต์ชี้แจงด้านข้อกฎหมาย ว่า กฎหมายในประเทศไทยปัจจุบัน ยังเป็นระบบสองเพศ จึงทำให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ ในกรณีดังกล่าวธนาคารจึงแจ้ง และยืนยันเรื่องการใช้คำนำหน้าตามบัตรประชาชน ซึ่งไม่เป็นไปตามอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลข้ามเพศ เรื่องเพศจึงยังถูกกำหนดโดยระบบเดิม ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องผลักดันสิทธิและการคุ้มครองให้ครอบคลุมต่อคนทุกเพศเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ
“ร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ของพรรคก้าวไกล จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 21 ก.พ.นี้ โดยหลักการสำคัญ คือการเลือกเพศตามเจตจำนง (Self Determination) อัตลักษณ์ทางเพศถือเป็นเจตจำนงที่บุคคลดังกล่าวจะดำเนินชีวิตตามเพศที่ตนเองต้องการ”
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
ธัญวัจน์ ระบุด้วยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวคือการรับรองเพศ เพื่อให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เลือกคำนำหน้าตามสมัครใจ และมีบทบาท หน้าที่ สิทธิ ตามเพศที่ตนแสดงเจตจำนง ซึ่งร่างฯ ดังกล่าวมีแนวคิดจากประเทศอาร์เจนตินา และมอลตา ซึ่งเป็นกฎหมายการรับรองเพศที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก
โดยร่างกฎหมายดังกล่าวยังได้รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และอีกหลายหน่วยงานให้เป็นไปตามหลักการยอกยาการ์ตา ที่กฎหมายนั้นต้องปรับปรุงและต้องคำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศ, เพศสภาพ, เพศวิถี และเพศทางกายภาพ เพื่อสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิต, แก้ปัญหาเรื่องเอกสารราชการ, เรื่องการเดินทาง, ระเบียบการแต่งกาย, การทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ ให้หมายรวมถึงอัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพด้วย บุคคลข้ามเพศ เพศกำกวม และเพศอื่น ๆ สามารถแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศของตนผ่านคำนำหน้าได้ในเอกสารราชการต่าง ๆ เพราะเพศคือเจตจำนงของบุคคล เป็นสิทธิมนุษยชนที่กำหนดเอง ดังนั้นกฎหมายต้องเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ยังมีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการระบุคำนำหน้านามตามความสมัครใจ อีก 2 ฉบับ ได้แก่
- ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT) เป็นร่างที่ภาคประชาชนร่างขึ้น โดยใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมายซึ่งต้องรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีขึ้นไป) อย่างน้อย 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเปิดให้เข้าชื่อผ่านทาง https://www.gen-act.org
- ร่างพระราชบัญญัติรับรองเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) ซึ่งผลักดันโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ 11-30 กันยายน 2566 โดยร่างกฎหมายที่หน่วยงานรัฐจัดทำ จะเสนอต่อสภาผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.)
หลายประเทศขานรับเลือกคำนำหน้านามตามความสมัครใจ ไม่ต้องได้รับการรับรองจากจิตแพทย์
ปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศ ที่คนข้ามเพศสามารถทำเรื่องขอเปลี่ยนเพศ หรือคำนำหน้านามในเอกสารทางราชการ โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากแพทย์ เช่น อาร์เจนตินา ในปี 2012 เป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้คนข้ามเพศเปลี่ยนเพศในเอกสารทางกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากแพทย์หรือยืนยันจากจิตแพทย์ กฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนหรือเสียงข้างมากเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกวุฒิสภา
ประเทศที่ 2 คือ มอลตา ในปี 2015 ได้ออกกฎหมายคล้ายกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศที่ไทยกำลังผลักดันอยู่ ที่ให้สิทธิรับรองเพศสภาพแก่คนข้ามเพศ และ Intersexuality กฎหมายฉบับนี้มาพร้อมกับการห้ามไม่ให้ผ่าตัดเลือกเพศแก่เด็กที่เป็น intersexualityโดยปราศจากการได้รับการยินยอมจากบุคคลนั้นก่อน
ประเทศที่สาม ไอซ์แลนด์ ในปี 2019 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้คนข้ามเพศทุกคนสามารถยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศกับนายทะเบียนได้โดยไม่ต้องใช้เอกสารทางการแพทย์ เอกสารรับรองจากจิตแพทย์ สามารถเข้าไปที่นายทะเบียนเพื่อประสงค์จะเปลี่ยนได้ทันทีโดยที่คนที่ประสงค์จะเปลี่ยนคำนำหน้านามหรือเปลี่ยนเพศในเอกสารราชการสามารถที่จะระบุเพศของตัวเองเป็นชาย หญิงหรือเพศอื่นได้
ทั้งนี้ตามหลักการยอกยาการ์ตา ซึ่งเป็นหลักการที่ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อสร้างหลักประกันคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ก้าวไปสู่ความเสมอภาคและความเคารพในสิทธิทางเพศ มีหลักการทั้งหมด 38 ข้อ
แต่ที่น่าสนใจคือ ข้อ 31 กล่าวไว้ว่า “สิทธิของการถูกรับรองทางกฎหมาย ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิเข้าถึงการรับรองทางกฎหมายโดยไม่ถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยนสรีระ หรือเปิดเผยเพศสภาพ ความพึงพอใจทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และลักษณะทางเพศสรีระ มนุษย์มีสิทธิเข้าถึงเอกสารทางกฎหมายที่ใช้รับรองอัตลักษณ์ที่รวมถึงสูติบัตรไม่ว่าจะพึงพอใจทางเพศสภาพ การแสดงออกหรือลักษณะเพศสรีระทางเพศแบบใดก็ตาม มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการเปลี่ยนข้อมูลอัตลักษณ์ทางเพศของตนในเอกสารทุกฉบับที่มีข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ”
ภาคประชาชน เตรียมเข้าชื่อเสนอร่าง กม. 3 ฉบับ เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ