ภาคประชาชน เตรียมเข้าชื่อเสนอร่าง กม. 3 ฉบับ เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ

ภาคีกฎหมายภาคประชาชน จัดงาน “Three Miracle Laws สลัดทิ้งโลกขมขื่นที่ล้าหลัง” เดินหน้าเสนอกฎหมาย สมรสเท่าเทียม รับรองเพศสภาพ ยกเลิก พ.ร.บ.ค้าประเวณี พร้อมดันเข้าสภาฯ ภายในสัปดาห์หน้า

วันนี้ (20 ก.ย.66) ภาคีกฎหมายภาคประชาชน 3 ฉบับเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ  จัดงาน “Three Miracle Laws สลัดทิ้งโลกขมขื่นที่ล้าหลัง” ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ที่ขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายและความเป็นธรรมทางเพศ โดยมีข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและขจัดการเลือกปฎิบัติอันเนื่องจากเพศ คือ

กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือ (ร่าง)พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ…

 • กฎหมายการรับรองเพศสภาพ หรือ (ร่าง)พระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ….

 • การทำให้พนักงานบริการถูกกฎหมาย หรือ (ร่าง) พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539

บรรยากาศก่อนวงเสวนา มีตัวแทนเยาวชนกล่าวถึงความสำคัญที่เยาวชนต้องมีส่วนในการร่างกฎหมายภาคประชาชน ระบุว่า ในปี 2563 มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1448 จากผู้แสดงความเห็นกว่า 5.4 หมื่นคน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา กว่า 3.5 หมื่นคน สะท้อนว่าที่ผ่านมาเยาวชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม และประเด็นความเท่าเทียมทางเพศถูกผลักดันให้เป็นวาระสำคัญ เพื่อคุณภาพชีวิต ศักดิ์ศรีของประชาชน

อย่างไรก็ตามในการเรียกร้องที่ผ่านมา มีเยาวชนหลายคนที่ต้องสูญเสีย เจ็บปวด เผชิญกับความรุนแรงด้วยอคติทางเพศ จึงอยากฝากไปถึงผู้ใหญ่ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นเด็ก เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตให้กับเด็กคนนั้นได้ แต่สามารถเลือกที่จะอยู่กับปัจจุบันเพื่อป้องกันไม่ให้บาดแผลเหล่านั้นเกิดขึ้นอีกได้ เพื่อให้เยาวชนรุ่นต่อไปสามารถที่จะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ปลอดภัย มีครอบครัวที่ยอมรับ โรงเรียนที่ไม่กีดกัน เพื่อสังคมที่มองคนเท่ากัน

ปรากฏการณ์ #สมรสเท่าเทียม บทเรียนที่สภาฯ ใหม่ต้องเรียนรู้

นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า  จากบทเรียนที่ประชาชนร่วมกันติดแฮชแทก #สมรสเท่าเทียม ถล่มทลายในโซเชียลมีเดีย หลังศาลรัฐธรรมวินิจฉัย ปพพ. 1448 ให้การสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  (17 พ.ย.2564) ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะว่ามีอคติทางเพศ จึงมองเห็นว่าการขับเคลื่อนต่อในครั้งนี้ หากร่างฯ สมรสเท่าเทียมโดยภาคประชาชน กลับเข้าสู่สภาฯ อีกครั้ง สส. นักกฎหมาย หรือนักวิชาการ ที่ออกมาบอกว่าไม่เอาสมรสเท่าเทียม โดยขาดหลักฐานทางวิชาการ หรือให้ความเห็นที่มีอคติทางเพศ ก็อาจจะถูกแรงกดดันจากสังคมได้

“มันมาถึงยุคที่คุณจะเป็นคนสร้างกฎหมายที่ดีขึ้น หรือจะยังสร้างกำแพงที่ชื่อว่าความไม่เป็นธรรมทางเพศต่อไป โดยเฉพาะลูกหลานของเราที่จะต้องได้รับผลกระทบจากนี้ ทำไมผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะยังให้พวกเขาเผชิญกับบาดแผลเหล่านี้ต่อไป”

นัยนา สุภาพึ่ง

บุคคลย่อมมีเจตจำนงในการเลือกเพศให้กับตัวเอง และได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ

ณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวเกี่ยวกับ ร่างกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ… ว่า ในฉบับที่กำลังขับเคลื่อนมีต้นแบบมาจาก 3 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ต้นแบบของการริเริ่มร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพ , มอลตา ครอบคลุมทุกอัตลักษณ์ เช่น อินเตอร์เซ็กซ์และนอนไบนารี  และไอซ์แลนด์ ประเทศที่กฎหมายก้าวหน้ามากที่สุด โดยคำนึงว่า ‘บุคคลย่อมมีเจตจำนงในการเลือกเพศให้กับตัวเอง’ มีสิทธิใช้คำนำหน้าและการระบุเพศสภาพในเอกสารราชการ ให้สอดคล้องกับเพศสภาพของตัวเอง

สำหรับความคืบหน้าในประเทศไทยมีการศึกษา และเตรียมเดินหน้าเข้าสู่สภาฯ ทั้งหมด 3 ฉบับ ประกอบด้วยฉบับภาคประชาชน พรรคก้าวไกล และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งส่วนตัวมองว่าหลักการสำคัญของร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพ คือ บุคคลย่อมมีเจตจำนงในการเลือกเพศให้กับตัวเอง

“กระทรวงสาธารณสุขเคยบอกว่าบุคคลข้ามเพศในประเทศไทยมีมากกว่า 3 แสนคน การสนับสนุนให้คนตั้ง 3 แสนคนได้รับการรับรองจากรัฐ จากภาษีที่พวกเราจะต้องจ่ายเช่นเดียวกับชาย- หญิง ไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่กำลังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้คนหนึ่งคนได้มีความสุข”

ณชเล บุญญาภิสมภาร

Sex Worker ไม่ต้องตรากฎหมายใหม่ แค่ต้องมอง ‘คนเท่ากัน’

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ SWING Clinic Bangkok องค์กรขับเคลื่อนสิทธิของบริการเพื่อนพนักงานบริการ มากว่า 30 ปี กล่าวว่า ที่ภาคประชาชาชนต้องผลักดันพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เนื่องจากกฎหมายบังคับใช้มาเป็นเวลานานกว่า 27 ปี โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่กดทับกลุ่ม Sex Worker และเป็นพื้นที่ในการแสวงหาผลประโยชน์มาอย่างยาวนาน ดังนั้นการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้สิ่งแรกคือสังคมต้องยอมรับการมีอยู่ของอาชีพนี้ ซึ่งปัจจุบันในสังคมถือว่าเปิดใจยอมรับมาขึ้น เช่น การสนับสนุนแนวคิด sex work is work หรือมองเห็นว่ากลุ่มคนที่ทำงานบริการก็แค่พยายามจะไม่เป็นภาระของสังคม พยายามจะหารายได้เลี้ยงตัวเอง แต่งานของพวกเขายังไม่ถูกกฎหมาย และไม่มีโอกาสได้สวัสดิการทางสังคม

ดังนั้นหัวใจของร่างกฎหมายภาคประชาชน คือ การให้ Sex Worker ถูกมองเป็น คนเท่ากัน มีสิทธิมีเสียง ได้รับการปกป้องดูแลเช่นเดียวกับแรงงานตามกฎหมาย รวมถึงมีบทลงโทษเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป

“สิ่งที่เราเห็นก็คือ พี่น้องเราถูกจับในข้อหาที่ไม่ถูกระบุไว้ในกฎหมายใดๆ  ถูกขังโดยที่ยังไม่มีความผิด ดังนั้นเราอยากให้เอากฎหมายปราบปรามการค้าประเวณีออกไป แล้วไม่ต้องตรากฎหมายใหม่มาครอบเราอีก เราขอเป็นเหมือนคนอื่น ถ้าจะกระทำความผิด ก็ขอให้เราได้รับโทษทางแพ่ง หรืออาญา”

สุรางค์ จันทร์แย้ม

กฎหมายในศตวรรษต่อไป จะต้องเขียนโดยประชาชน

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักขับเคลื่อนสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงความสำคัญของกลไกรัฐสภาเพื่อสิทธิความเป็นธรรมทางเพศ ว่า การนำร่างกฎหมาย 3 ฉบับนี้ เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาเป็นแพคไปพร้อมกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ยังมีการกดขี่ทางเพศจำนวนมาที่เราอยากจะไปด้วยกัน เพราะตามหลักสากลการคุ้มครองสิทธิความเป็นธรรมทางเพศ ต้องประกอบด้วย การจัดตั้งครอบครัว รับรองเพศสภาพ ยุติการเลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งในที่นี้คือ sex worker

ทั้งนี้ยังอาจเป็นการนำร่องที่ดีต่อก้าวต่อไปของการรื้อถอนโครงสร้างอำนาจ และกฎหมายในประเทศนี้ พร้อมกล่าวถึงความสำเร็จจากเคลื่อนไหวโดยประชาชน เพื่อออกแบบนโยบาย เช่น 30 รักษาทุกโรค แต่หลังจากนั้นพบว่ากว่าที่รัฐจะตรากฎหมายแต่ละหมวด มาตรา มาจากการเขียนโดยราชการ มีขั้นมีตอน จึงเกิดขึ้นได้ล่าช้า จึงจำเป็นต้องเกิดการเสนอทุกกฎหมายผ่านภาคประชาชน

“เชื่อมั่นว่ากฎหมายในศตวรรษต่อไปเราต้องเขียนเอง การเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชนก็เพื่อมีสิทธิเข้าไปพื้นที่ทางกฎหมายในชั้นกรรมาธิการ แต่ที่สำคัญ การที่เราเสนอไปเป็นแพค 3 ฉบับ เพราะเราต้องการพลังมากกว่าการขับเคลื่อนขบวนเดี่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ”

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

สำหรับร่างกฎหมายสิทธิความเป็นธรรมทางเพศ ที่เข้าสภาไปก่อนหน้านี้คือ ร่างแก้ ปพพ.1448 โดยพรรคก้าวไกล ที่ค้างฯ อยู่ในสภาหลังผ่านวาระที่ 1 และหมดอายุไปแล้วหลังจากไม่ได้นำมาพิจารณารับรองผ่านครม. ภายใน 90 วันหลังเปิดสภา เนื่องจากความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาล

ขณะที่การผลักดันกลับเข้าสู่สภาฯ ชุดนี้ ภาคประชาชนได้เรียกร้องให้ใช้ร่างแก้ ปพพ.1448 เป็นร่างหลัก โดยในขณะนี้มีร่างแก้ ปพพ.1448 ของพรรคก้าวไกล โดย ธัญวัจน์ กมลวงวัฒน์ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็น ส่วนร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าภภาคีกฎหมายภาคประชาชน 3 ฉบับเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ ไม่น้อยกว่า 20 คน จะร่วมแจ้งความประสงค์เป็นผู้เชิญชวนประชาชนให้เสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ หลังจากสภาฯ แจ้งให้ดำเนินการต่อไปได้จึงจะเปิดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกันไม่ต่ำกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อประธานสภาฯ อีกครั้ง เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรต่อไป หากทั้งหมดเป็นไปตามกลไกที่วางไว้ ภาคีฯ คาดว่าจะสามารถทำได้ทันในช่วงวันวาเลนไทน์ 67 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active