#สมรสเท่าเทียม ได้ไปต่อ รับหลักการด้วยคะแนน 212 ต่อ 180

สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม แล้ว พ่วง ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอโดย ครม. และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

วันนี้ (15 มิ.ย. 2565) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 มีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ คือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. .. เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ ขณะเดียวกัน ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้เลื่อนวาระการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. ที่ ครม. เสนอ, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. .. ที่ ครม. เสนอ และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. …. ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมพิจารณาประกบด้วย โดยให้เหตุผลว่าเป็นร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญใกล้เคียงกัน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณา จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ขอให้ที่ประชุมลงมติอีกว่า เห็นควรให้มีการลงมติรับร่างกฎหมายแต่ละฉบับแยกกันหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 232 ต่อ 5 เสียง

สำหรับญัตตินี้ ฝ่ายค้านงดโหวต ด้วยเหตุผลว่า จะร่วมกระทำผิดด้วยไม่ได้ จากกรณีนี้ที่ประธานสภาฯ รับรองญัตติให้เลื่อนร่างกฎหมายคู่ชีวิตมาพิจารณาไปพร้อมกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสู่ระเบียบวาระ ทั้งที่เป็นกฎหมายคนละหลักการ และขัดขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมายประกบ

“ธัญเป็นกะเทย ยืนอยู่ตรงนี้นะคะ ธัญเป็นธรรมชาติค่ะ ธัญไม่เข้าใจว่า โลกเราจะผลิตยานอวกาศไปทำไม เพื่อที่จะบินออกไปแล้วหยิบหินดาวอังคารแล้วก็บอกกับโลกใบนี้ว่า นี่ไงวิทยาศาสตร์ นี่คือหินของดาวอังคาร เราบินไปไกลขนาดนั้นเพื่อยอมรับวิทยาศาสตร์นอกโลก แต่คนที่ยืนข้าง ๆ ท่าน เป็นเพื่อนท่าน ท่านไม่ยอมรับและมองว่าผิดธรรมชาติ”

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กล่าวถึงญัตติที่ตนเป็นผู้เสนอ โดยระบุอีกว่า เหตุใด งานวิจัยที่มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเล็ก ๆ จึงมีผลกับความคิดเห็นของฝ่ายรัฐบาลมากกว่าประชาชน 54,000 คน ที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นร่างฯ ที่มีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ของภาคประชาชนก็มีคนร่วมลงชื่อมากกว่า 4 แสนคน สะท้อนว่ารัฐบาลมีทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ และไม่เคยฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน ใช้ความคิดแบบชายเป็นใหญ่ยัดเยียดร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มาให้กลุ่มหลากหลายทางเพศ ยัดเยียดความไม่เท่าเทียมมาให้กับประชาชน พร้อมระบุว่า หากร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่าน จะกลายเป็นตราบาปชีวิตไปตลอดกาลของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ว่าพวกเขาคือพลเมืองชั้นสอง รัฐบาลอาจจะมองว่ากำลังให้ของขวัญกลุ่ม LGBTIQ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว นี่จะเป็นชัยชนะของชายเป็นใหญ่ แต่พ่ายแพ้ของ LGBTIQ

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฯ ระบุหลักการและเหตุผลว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการรองรับสิทธิในการสร้างครอบครัวระหว่างคนเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติ กล่าวคือ 1) เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัว ขจัดปัญหาความไม่เป็นธรรมในครอบครัวหลากหลายประเภท เช่น การจัดการทรัพย์สินที่หาได้ร่วมกัน สิทธิในการรับรองทายาท สิทธิในการจัดการแทนผู้เสียหายและดำเนินคดีแทนผู้ตาย สิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 2) เป็นเครื่องมือในสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม เข้าใจและยอมรับความแตกต่าง เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3) ปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายใดยอมรับความหลากหลายทางเพศ การจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต และได้รับสิทธิและหน้าที่ตามสมควร เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ระบุว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้วฯ แต่ความจริงมีคู่รักหลากหลายทางเพศใช้ชีวิตร่วมกันจำนวนมาก จึงควรมีกฎหมายรับรองความสัมพันธ์ 4) การร่างกฎหมายดังกล่าว ได้มีการศึกษาพันธกรณีของต่างประเทศ นโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลักศาสนา รวมถึงสถานการณ์และหลักกฎหมายอื่นของประเทศไทย

ด้าน อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแตกต่างกับฉบับของ ครม. โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ประชาชนยังไม่เข้าใจความเหมือนหรือแตกต่างกันของเรื่องการสมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิต ซึ่งร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นอีกทางเลือก โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นการใช้ชีวิตคู่กันโดยมีเพศกำเนิดแบบใด สาระสำคัญ คือ 1) เป็นการพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ คนสองคนอาจเลือกอยู่ด้วยกันเพราะมีทัศนคติตรงกัน แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบคู่สมรส เพื่อเป็นทางเลือกความสัมพันธ์ของคนคู่นี้ 2) ความสัมพันธ์ด้านครอบครัว มีงานวิจัยระบุว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยผู้ใหญ่ 2 คน ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีกว่า นี่จึงจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กได้รับความอบอุ่นจากบุคคลสองคนที่ไม่ได้เป็นคู่สมรสกัน และประชาชนสามารถเลือกระดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับคู่ของตัวเอง

เขายังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม ซึ่งศาสนาพุทธ การประกอบพิธีศาสนาในงานมงคลสมรส เป็นการประกอบเพื่อความสิริมงคลเท่านั้น ต่างกับคริสต์หรืออิสลาม ที่การสมรสเกี่ยวกับศาสนา สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ หากเป็นการสมรสเท่าเทียม จะเป็นการบังคับผู้นำศาสนา ให้ต้องประกอบพิธีสมรสให้กับคนทุกเพศ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่า เสียงของผู้นำศาสนาอื่น จะไม่รับฟังหรืออย่างไร

หลังการอภิปรายผ่านไปกว่า 6 ชั่วโมง เวลา 16.20 น. โดยประมาณ ศุภชัย โพธิ์สุ ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดให้ลงมติร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับของธัญวัจน์ ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง นั่นหมายความว่า ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างสมรสเท่าเทียม หรือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่….) พ.ศ. .. ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ มีผู้ลงมติเห็นด้วย 229 เสียง ไม่เห็นด้วย 167 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่….) พ.ศ. .. ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ เห็นด้วย 230 เสียง ไม่เห็นด้วย 169 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วย 251 เสียง ไม่เห็นด้วย 123 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง

จากนั้น ที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 พร้อมกำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติจำนวน 15 วัน และเนื่องจากมีการรับหลักการร่างกฎหมายมากกว่า 1 ฉบับ ที่ประชุมมีการลงมติ โดย ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ประชุมมีมติให้ร่างของ ครม. เป็นร่างหลัก ส่วน ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ประชุมมีมติให้ใช้ร่าง ครม. เป็นร่างหลักเช่นกัน

ภาคีสีรุ้งเพื่อความเท่าเทียม จับตา ส.ส. หนุนร่างสมรสเท่าเทียม

สำหรับบรรยากาศช่วงเช้า ก่อนเริ่มประชุมสภาฯ กลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อความเท่าเทียม เข้ายื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา ผ่าน แทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับหนังสือ ขอให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ในวาระที่ 1 หลังมีข่าวว่าในการพิจารณาวันนี้ ที่ประชุมสภาจะไม่รับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่จะรับหลักการใน 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ ค.ร.ม. เสนอ และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์

ตัวแทนภาคีสีรุ้งเพื่อความเท่าเทียม กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชน ต้องการประกาศจุดยืนว่า ไม่ต้องการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะแม้จะมีหลักการในการส่งเสริมการมีครอบครัวของคนเพศหลากหลาย แต่เนื้อหา ข้อกฎหมายต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ ครม. จะระบุว่า มีการรับฟังเสียงสะท้อนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลักศาสนา แล้วก็ตาม

“เรื่องสำคัญที่สุดคือความเป็นความตาย การดูแลรักษาคนรักในยามเจ็บป่วย จึงฝากถึง ส.ส. ให้ฟังเสียงและรับใช้ประชาชนทุกคน ไม่ว่าเขาหรือเธอจะมีอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศวิถีแบบไหน ยืนยันว่ากลุ่ม LGBTQ+ ไม่ต้องการเป็นคนพิเศษ แต่ต้องการสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนคนทั่วไป”

สำหรับเอกสารที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิก ยังได้ตั้งข้อสังเกตและแสดงความเห็นต่อการพิจารณากฎหมายไว้ 13 ข้อ โดยหลัก ๆ คือการแสดงจุดยืนและผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงระบุว่าการที่รัฐบาลยืนยันจะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนของประชาชนที่สนับสนุนร่างแก้ไขสมรสเท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ สมรสเท่าเทียม กว่า 330,000 รายชื่อ

ขณะที่การจับตาที่ประชุมรัฐสภาวันนี้ ภาคประชาชนจะรวมตัวกันบริเวณข้างอาคารรัฐสภา โดยยืนยันว่าไม่ใช่การชุมนุมปราศรัยใหญ่ แต่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และจัดกิจกรรมร้องเพลง เล่นดนตรีเท่านั้น ขณะที่ช่วง ส.ส. ยกมือโหวต ก็จะร่วมกันจับตาว่า ส.ส. คนไหนสนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมบ้าง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active