LGBTQIAN+ หวัง ส.ส. หนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

กลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม เกาะติดประชุมสภาฯ 15 มิ.ย.นี้ กังวลร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของครม. มีเนื้อหาแตกต่างไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ย้ำรัฐต้องศึกษา ทำประชาพิจารณ์ เสี่ยงเกิดปัญหามากกว่าเป็นของขวัญตามที่รัฐบาลอยากให้

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.65 กลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม และคณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์ แถลงข้อกังวลเกี่ยวกับการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยกระทรวงยุติธรรม และส่งให้สภาผู้แทนราษฎรทันที ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเตรียมเพื่อใช้ประกบกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่จะมีการพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ วันที่ 15 มิ.ย. 65 นี้ ซึ่งอาจจะสร้างความสับสนให้กับประชาชนได้ เนื่องจากทั้ง 2 ฉบับ มีหลักการตลอดจนเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันอย่างมาก ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการสร้างครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) จึงเตรียมที่จะจัดกิจกรรม พร้อมยื่นหนังสือถึง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ กล่าวว่า หลักการของ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่ภาคประชาชนสนับสนุน และเรียกร้องมาโดยตลอดคือการเรียกร้องการแก้ไข ให้สิทธิเดียวกันอย่างเสมอภาคและสามารถสมรสกันเฉกเช่นเดียวกับทุกคนได้ เมื่อรัฐไม่สามารถยืนยันในหลักการได้และยังออกกฎหมายที่ซ้ำเติมประชาชนกลุ่ม LGBTQIAN+ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมที่จะตามมาด้วยปัญหาหากมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จริง โดยเฉพาะในฝ่ายของเจ้าหน้าที่รัฐที่โครงสร้างไม่มีการรองรับระบบหรือการมีตัวตนของ LGBTQIAN+ เลย อาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้อย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น การใช้ดุลยพินิจในการจำกัดสิทธิเมื่อคู่ชีวิตประสบอุบัติเหตุร้ายแรง มีการบังคับใช้กฎหมายโดยอนุโลม ซึ่งเป็นการผลักภาระหน้าที่ใช้ผู้ใช้กฎหมายต้องพึ่งพิงการตีความของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และ หากมีข้อโต้แย้งต้องนำไปสู่การพิจารณาโดยศาล ซึ่งภาคประชาชนไม่ต้องการการอนุโลม

เอกวัฒน์ ยังมองถึงภาคการศึกษา ว่าจะมีแบบการเรียนการสอนที่รองรับการมีอยู่ของครอบครัวที่เป็นคู่ชีวิตให้เด็กๆ ผู้ปกครองเข้าใจได้อย่างไรเมื่อยังมีความแตกต่างกับคู่สมรส และผลกระทบของเด็กที่อยู่ในครอบครัวของคู่ชีวิต ที่อาจถูกแบ่งแย่ง ตีตรา รวมถึงของกังวลของนักสิทธิเด็กว่า ในการดูแลบุตรบุญธรรมร่วมกัน หากผู้ร้องขอเสียชีวิตระหว่างรออนุมัติบุตรบุญธรรมร่วมกัน เด็กอาจที่จะกำพร้าได้เช่นกัน หรือแม้แต่ในมิติสุขภาพ ที่ผู้ปฏิบัติงานต้องนำแนวคิดของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไปพิจารณาในการที่จะให้บริการคนไข้ที่เป็น LGBTQIAN+ ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมในทุกๆ ด้าน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาอาจจะเป็นข้อกังวลที่ไม่เกิดขึ้นจริง หรือสามารถเกิดขึ้นจริงก็ได้ ฉะนั้นจึงหมายถึงสิทธิในการคุ้มครองครอบครัวตั้งแต่เด็กจนถึงคนอื่น ๆ ในครอบครัว สังคม

“แม้ว่าเราจะโกรธแค่ไหน เจ็บปวดแค่ไหน คนที่ทำสมรสเท่าเทียมเราทำด้วยความรัก เพราะเราอยู่กับพวกคุณ เป็นครอบครัวเดียวกัน แม้จะออกจากกรอบอัตลักษณ์ดั้งเดิมของคุณก็ตาม แต่เรายังมีพ่อแม่ มีคนรักต้องดูแล สมรสเท่าเทียมเท่านั้นจะเป็นการยืนยันสิทธิของเรา การรักในเพื่อนมนุษย์ ฉะนั้นคุณจึงต้องสนับสนุน ทำให้เรามีศักดิ์ศรีอย่างไม่มีเงื่อนไข”

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์
ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

ด้าน ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ยังได้อ่านแถลงข้อกังวลต่อความแตกต่างของร่างฯ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่ เพจนักวิจัยกฎหมาย LGBTI ใน 2 ประการ

1. แม้กฎหมายทั้งสองฉบับจะส่งผลให้การใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลเพศเดียวกันได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมาย ทว่า กฎหมายทั้งสองฉบับนั้นมีหลักการตลอดจนสาระสำคัญอันแตกต่างกันอย่างมากและอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ จึงควรประชาสัมพันธ์ถึงความแตกต่างดังกล่าวให้ประชาชน ตลอดจนสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชนทั้งปวงนั้นทราบโดยกระจ่างชัด

2. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนั้นหากมิได้กระทำแยกกันเป็นสัดส่วนโดยเด็ดขาด อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลักการตลอดจนสาระสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ และการลงมติใด ๆ ภายใต้ความสำคัญผิดเช่นว่านั้นย่อมเป็นการบิดเบือนเจตจำนงร่วมกันของประชาชน ซึ่งอาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กล่าวทิ้งท้ายว่า ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ทางเครือข่ายมองความรูปแบบของความเป็นไปได้ 2 อย่าง อย่างแรกคือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่มีการทำงานมาอย่างน้อย 2 ปี สามารถที่จะไปต่อและรับวาระนำไปสู่การศึกษาว่าควรที่จะแก้ไขหมวดไหน หรือทั้ง 60 มาตรา ส่วนอีกทางคือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็ควรที่จะเอามาสู่สภาฯ หลังจากนั้นควรจะทำประชาพิจารณ์ทางเว็บไซต์ ลงพื้นที่อีกครั้งว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่เห็น และจึงกลับเข้าสภาฯ เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยในเบื้องต้น คือการกำหนดให้กฎหมายคู่ชีวิตใช้ได้แต่เพศเดียวกัน

“เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก ประชาชนเองก็ยังไม่เข้าใจว่าทั้ง 2 ฉบับมันแตกต่างกันยังไง แม้กระทั่ง ส.ส. เอง จึงควรจะมีเวลาพูดคุยและแชร์ให้เห็น ไม่ใช่แบบเสนอแบบอาย ๆ ว่านี่เป็นของขวัญให้กับ LGBTQIAN+ เราขอยืนยันว่าของขวัญที่เลือกปฏิบัติไม่ใช่ของขวัญให้กับมนุษย์”

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง
สมรสเท่าเทียมภาคประชาชน อีกหนึ่งฉบับที่ยังไม่เสนอพิจารณาในวาระนี้

ทั้งนี้ในวันที่ 15 มิ.ย.65 เครือข่ายฯ ระบุว่า จะมีการเคลื่อนขบวนไปยังอาคารรัฐสภา เกียกกาย เพื่อยื่นหนังสือถึง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก่อนการพิจารณา พร้อมทั้งจับตาการโหวตของ ส.ส. และจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสีสันจนกว่าจะทราบผลอย่างเป็นทางการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน