ภาคประชาสังคม จับตาหลัง ครม. คว่ำ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

“ธัญวัจน์” ชี้ รัฐขาดความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ กรณีเทียบ หลักการพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมใกล้เคียง ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต แจงยังสามารถเสนอสู่สภาฯ เพื่อพิจารณาใหม่ได้

วันนี้ (30 มี.ค.65) ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาคล้าย พ.ร.บ.คู่ชีวิต พร้อมผลักดันให้กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เดินหน้าศึกษาเพิ่มร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)  ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน เดือนเม.ย. นี้ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ ป.พ.พ.1448 หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ว่า รู้สึกผิดหวังที่ ครม. มีอำนาจอยู่ในมือแต่ไม่คิดสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมถึงสมรสเท่าเทียม (Marriage) และคู่ชีวิต (Civil Partnership) ไม่เท่ากัน ทั้ง สิทธิ ศักดิ์ศรี และ สวัสดิการ

“การให้ข่าวต่อสื่อของโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ค.ร.ม. เห็นว่ามีหลักการใกล้เคียงกัน ก็ต้องถือว่า ท่านไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวเลย สะท้อนการต่อสู้ความเสมอภาคทางเพศอีกหลายประเด็นก็อาจจะเป็นปัญหาในอนาคต เพราะในความเป็นจริงแล้ว สมรสเท่าเทียม และ คู่ชีวิต ต้องแยกกันพิจารณา และด้วยอำนาจของคณะรัฐมนตรีก็สามารถมีมติรับหลักการทั้ง 2 ร่างได้ การปัดตก สมรสเท่าเทียม สะท้อนความไม่เข้าใจของคณะรัฐมนตรี สะท้อนความคิด ครม. มองว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำเป็นต้องมี สิทธิ์ ศักดิ์ศรี และ สวัสดิการ เสมอภาคกับชายหญิงทั่วไปอย่างนั้นหรือ”

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์

ธัญวัจน์ ยืนยันว่า การต่อสู้ไม่ได้สิ้นสุดลงเพราะร่างฯ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม สามารถเสนอสู่สภาฯ เพื่อพิจารณาใหม่ได้ และ ส.ส. ทุกคนควรทำเพื่อประชาชน

นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่จับตาการพิจารณาร่างฯ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง กล่าวกับ The Active ระบุว่า มติครั้งนี้ไม่เหนือความคาดหมายของภาคประชาชน เพราะเป็นการรับร่างกฎหมายระหว่างรัฐกับรัฐ ขณะที่การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตก่อนหน้านี้ผ่านช่องทางออนไลน์ ตนได้เสนอว่า ขอให้เป็นการรับฟังที่ไม่ใช่เพียงพิธีกรรม เพราะเสียงสะท้อนร้อยละ 80-90 ในครั้งนั้นเห็นด้วยว่าควรนำร่าง ฉบับนี้กลับไปแก้ไข และได้ให้ความเห็นเพื่อเป็นข้อเสนอแนะในรายมาตราการ จึงตั้งข้อสังเกตว่าการรับฟังในครั้งนั้นได้มีการนำไปพิจารณาร่วมก่อนออกมาเป็นมติ ครม. ครั้งนี้หรือไม่

“ครั้งนี้เราก็สงสัยเหมือนกันที่ ครม.จะเดินหน้านำร่างฯ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นข้อมูลฉบับไหน หากเป็นงานวิจัยในปี 60 ที่ได้รับรางวัลนั้นเราเห็นด้วยในเชิงหลักการ ที่ทำให้คู่รักที่เป็นเพศหลากหลายมีสิทธิเท่ากับคู่สมรส และเป็นวิทยานิพนธ์ที่ตอบโจทย์คำว่าสมรสเท่าเทียมมากที่สุด”

นัยนา สุภาพึ่ง

The Active ค้นหางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีงานวิจัยเรื่อง “สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย” โดย ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปีการศึกษา 2559 โดยผลวิจัยชิ้นนี้ได้สรุปว่า คู่รัก LGBTIQN+ ในประเทศไทยประสบปัญหา สืบเนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติเงื่อนไขการสมรสให้เฉพาะชายและหญิงตามเพศที่กำเนิด ทำให้ขาดสิทธิและหน้าที่ทางกฎหมาย แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะมีบทบัญญัติห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และอนุสัญญาและกติการะหว่าประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมลงนามและให้สัตยาบันก็ได้มีบทบัญญัติเช่นเดียวกับในต่างประเทศที่มีกฎหมายที่รองรับการใช้ชีวิตคู่ของคู่รัก LGBTIQN+ ซึ่งร่างฯ พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มิได้ให้ศักดิ์ศรี สิทธิ ความเสมอภาค เทียบเท่าการสมรสและคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ยังได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ในระดับดีมาก และถูกใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลในการร่างกฎหมายภาคประชาชน

อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนยังคงตั้งข้อสังเกตว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นฉบับเดียวกับที่ ครม. ให้นำมาศึกษาร่วมกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตหรือไม่

แม้มติ ครม.ในครั้งนี้ จะไม่ได้ทำให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมต้องตกไปทันที เพราะตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เปิดช่องให้ ครม.สามารถขอรับร่างกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส.หรือ ประชาชนไปพิจารณาก่อนสภาลงมติได้ เมื่อครบกำหนด 60 วันร่างกฎหมายดังกล่าวจะกลับเข้าสู่สภาฯ อีกครั้ง เพื่อลงมติรับหลักการหรือไม่ในวาระ 1 แต่ท่าทีของ ครม.ก็อาจทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตไปถึงมติของเสียงข้างมาก ที่อาจส่งผลให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ไปต่อ

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน