ส.ส. ก้าวไกล ชม กสม. หนุนสมรสเท่าเทียม แม้ช้ากว่าภาคประชาชน

“ครูธัญ” แนะ เดินหน้ารณรงค์ ทำความเข้าใจ พิสูจน์บทบาทองค์กรอิสระเคียงข้างประชาชน ด้าน ‘เฟมินิสต์ปลดแอก’ ยืนยัน #สมรสเท่าเทียม เป็นคำตอบสุดท้าย เตรียมเคลื่อนไหวรัฐสภา 8 ก.ย. นี้

จากกรณีที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์สนับสนุนสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายรับรองคู่ชีวิต โดยยึดหลักการความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ นั้น

วันนี้ (7 ก.ย. 2565) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ หรือ ครูธัญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ – Tunyawaj Kamolwongwat ใจความระบุชื่นชมต่อแถลงการณ์ของ กสม. ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แม้จะออกมาในช่วงเวลาที่ช้าเกินกว่าความก้าวหน้าที่สังคมเรียกร้อง พร้อมเสนอให้ กสม. ศึกษาความแตกต่างของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่มีหลักการต่างกัน

“หากจะให้ชอบธรรมและเพิ่มศักดิ์ศรีแก่องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธิของพี่น้องประชาชน กสม. ต้องศึกษาความแตกต่างของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะหากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่ผ่าน แต่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่าน แล้วออกมาดีอกดีใจแสดงความยินดี จะเป็นการสะท้อนว่า กสม. เองก็ขาดความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนกฏหมายที่ให้สิทธิไม่เท่าเทียมกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ”

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 

ธัญวัจน์ ยังกล่าวว่า หาก กสม. พิสูจน์ได้ว่าเคียงข้างประชาชนและให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนจริง ๆ ตนเองในฐานะผู้ที่ทำงานผลักดันกฎหมายเพื่อความเท่าเทียม พร้อมที่จะทำงานร่วมกัน

สมรสเท่าเทียม กสม.

ทั้งนี้ กสม. ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและกฎหมายรับรองคู่ชีวิต โดยยึดหลักการความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ โดยเห็นว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการเลือกคู่ครองและสร้างครอบครัวของคนทุกเพศ สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคล ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 2 ข้อ 23 และข้อ 26 ซึ่งเป็นพันธสัญญาที่ประเทศไทยให้การรับรอง รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakata Principles) ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ จึงสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และขจัดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศในประเทศไทย อีกทั้งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในการสร้างครอบครัวตามแบบที่ต้องการ

ขณะที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต และสมรสเท่าเทียม พ.ศ… แถลงความคืบหน้าการพิจารณา พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดย ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะพิจารณาทุกวันพุธ และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พิจารณาทุกวันพฤหัสบดี เพื่อให้แล้วเสร็จทั้ง 2 ร่างแบบคู่ขนาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 18 ก.ย. 2565 ก่อนจะส่งให้ประธานสภาฯ บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาในวาระ 2 และวาระ 3 ปลายปีนี้ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอนรวมถึงการพิจารณาในชั้นของวุฒิสภา

สมรสเท่าเทียม

ด้าน กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก แถลงความเคลื่อนไหววันที่ 8 ก.ย. นี้ ระบุ ภาคประชาชนจะไปยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ กมธ.ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อให้ร่างฯ ไปให้ไกลถึงวาระ 2 และ 3 และไปถึงวุฒิสภาให้ได้หากยังไม่ได้รับการตอบรับจาก ส.ว. หรือรัฐบาล จะยื่นในนามภาคประชาชนอีกครั้ง พร้อมจับตาพรรคการเมือง หรือ ส.ส. ที่โหวตไม่เห็นด้วยกับภาคประชาชน เพื่อตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active