LGBTIQN+ ร่วมยินดี “ชัชชาติ” ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17

จับตานโยบาย ‘เมืองปลอดภัย’ สำหรับคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง แรกจัดเทศกาล Bangkok Pride เรียกเม็ดเงินเข้าประเทศ พร้อมมีกลไกให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม กำกับ ติดตาม เป็นส่วนหนึ่งของมหานครสีรุ้ง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ถูกแช่แข็งมาถึง 9 ปี ผลออกมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้น กว่า 1.3 ล้านคะแนน ซึ่งหนึ่งในฐานเสียงกลุ่มสำคัญ คือเสียงของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ซึ่งคาดว่ามีจำนวนมากกว่า 2 แสนคน ที่บอกว่าพวกเขาไม่ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษให้กับตัวเอง แต่การให้ความสำคัญกับนโยบายความเสมอภาคระหว่างเพศ จะส่งผลดีต่อภาพรวมในสังคม และเป็นสิทธิที่พึงได้รับในฐานะพลเมืองหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมหานครแห่งนี้

ดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

The Active พูดคุยกับ ดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย หนึ่งในเครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาวะของกลุ่ม LGBTIQN+ และแนวร่วมเครือข่ายภาคประชาชน ที่เดินสายถามหานโยบายหลากหลายทางเพศจากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อขอให้ประเด็นนี้บรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาของทุกผู้สมัคร ระบุว่า เรื่องแรกที่อยากเห็นจากผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ไม่ใช่การควักเนื้อหรือใช้งบประมาณมหาศาล แต่เป็นการนำเม็ดเงินเข้ากระเป๋า กทม. เช่น การจัดเทศกาล Bangkok Pride ดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาที่ กทม. ทำให้เป็นดินแดนสวรรค์ของ LGBTIQN+ อย่างแท้จริง และใช้รายได้ที่เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ หรือจับมือกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว จะกลายเป็น 1 ในเป้าหมายการท่องเที่ยวที่ต่างชาติสนใจ และอยากเดินทางมา

ขณะที่ประเด็นสำคัญ ควรให้สิทธิสวัสดิการกับข้าราชการ LGBTIQN+ สังกัด กทม. ที่มีคู่ชีวิต จัดกิจกรรมจดทะเบียนจดแจ้งความรักครบทุกเขต และให้มีสิทธิอย่างน้อย คือ การตัดสินใจรักษษกรณีฉุกเฉินให้กับคู่ชีวิต โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัด เพื่อเป็นการนำร่องก่อนที่จะเสนอเป็นนโยบายระดับประเทศต่อไป

“ ที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ว่าฯ กทม. ก็คือการเปิดใจกับข้อมูลใหม่ ๆ ที่พวกเราส่งต่อให้ท่าน มาพัฒนาให้ กทม. เป็นมหานครสีรุ้ง ของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ได้จริงๆ”

ดนัย ลินจงรัตน์

ก่อนการเลือกตั้งองค์กรและบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ 26 องค์กร ได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้สมัครฯ ผู้ว่าฯ กทม. เช่น ประกาศให้ กทม.เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อ LGBTIQN+ มีแคมเปญส่งเสริมนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทย บุคลากรของสำนักงานเขตทุกพื้นที่จึงต้องให้บริการประชาชนในทุกๆ มิติของชีวิตโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เรื่องสิทธิ LGBTIQN+ ของ กทม. สำหรับเยาวชน ครอบครัว ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา บริหารจัดการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงประชากรทุกกลุ่ม รวมทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การระบาคโควิค 19 จัดตั้งบริการสายด่วนให้คำปรึกษาและส่งต่อเฉพาะ LGBTIQN+  เพื่อให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดฉุกเฉิน ถูกกระทำความรุนแรง ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ กำหนดมาตรการทางกฎหมาย กฎระเบียบ ในสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานในสังกัด กทม. ให้ LGBTIQN+ มีโอกาสเข้าถึงอย่างเท่าเทียม และแสดงวิสัยทัศน์ต่อประเด็น #สมรสเท่าเทียม เพื่อช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวกับสาธารณะมากขึ้น

สำหรับนโยบาย 214 ข้อ ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มี 2 หัวข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการส่งเสริม แก้ปัญหา คุณภาพชีวิต ของกลุ่ม LGBTIQN+ ใน กทม. คือ

ปลอดภัยดี – หน่วยงาน กทม.เข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ  กลุ่ม LGBTIQN+ ในกทม.ได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม. ในฐานะหน่วยงานรัฐ ประชาชนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ

สุขภาพดี – นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย สุขภาพของคน กทม. กลุ่ม LGBTIQN+ ดีขึ้น เนื่องจากการบริการทางสุขภาพทำให้ผู้ใช้บริการไม่กังวลเรื่องการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นมิตร และเชื่อมั่นในการรักษาและการให้คำแนะนำทางสุขภาพแบบเฉพาะทาง

โดยในวันสากลสำหรับการยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศและคนข้ามเพศ หรือ International Day Against Homophobia, Biphobia, and Transphobia (IDAHOBIT) #IDAHOBIT  17 พ.ค.65 นายชัชชาติ ยังกล่าว สนับสนุนแนวคิดที่ กทม. ต้องเป็นเมืองที่โอบรับความหลากหลาย ไม่ใช่เพียงแต่ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ในฐานะองค์กรบริหารเมืองต้องแสดงออกถึงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เช่น การร่วมเป็นเจ้าภาพ Pride Month และอำนวยความสะดวกการจัดงาน การติดธงสีรุ้งสัญลักษณ์ที่สนับสนุนและส่งเสริมความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศบริเวณศาลาว่าการฯ

ขณะที่เครือข่าย LGBTIQN+ ย้ำว่า จะติดตามนโยบายตามที่ ชัชชาติ ได้สัญญาไว้ พร้อมเข้าใจว่ามีหลากหลายข้อเรียกร้องที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องเข้ามาสะสาง แต่หากมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับภาคประชาชนในกลุ่มต่างๆ ที่ยื่นข้อเสนอ หรือให้ผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในประเด็นนั้นๆ เข้าไปร่วมเป็นที่ปรึกษา ก็จะสามารถแบ่งเบาการทำงานได้อีกทางหนึ่ง รวมถึง “สมุดปกขาว” จากการระดมเสียงผ่านเครือข่าย ปลุกกรุงเทพฯ ที่เปรียบเสมือนพันธะสัญญาจากภาคประชาชนที่ส่งถึงผู้ว่าฯ กทม.  หนึ่งในหัวข้อเมืองเป็นธรรม ประเด็นที่ 6 เสริมสร้างความเท่าเทียมด้านเพศ ให้ผู้บริหารและคณะกรรมการทุกชุดของ กทม. มีสัดส่วนผู้หญิงและผู้ชายใกล้เคียงกัน โดยให้มีตัวแทนของคนพิการและผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน