ทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อน ‘จ๊ะเอ๋’ ขายทั่ว กทม. เตือนระวังก่อนซื้อ

คุมตัวเจ้าของกิจการ รับสารภาพ ผลิตอาหารไร้มาตรฐาน ไม่ขออนุญาตใด ๆ ทำมาแล้ว 2 ปี ส่งขายตลาด กทม.-ปริมณฑล วันละ 300-800 กิโลกรัม อ้างลูกชิ้นหมู แต่ผสมเนื้อไก่ หวังลดต้นทุน พบปนเปื้อนบอแรกซ์ โรงงานผลิตไม่ผ่านเกณฑ์ ผิด พรบ.อาหาร

วันนี้ (18 ก.พ.66) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อนย่าน ต.คลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พร้อมตรวจยึดอายัดของกลางกว่า 20 รายการ

กรณีนี้สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปลายเดือนมกราคมปีก่อน ปรากฏข่าวเด็ก 6 คน กินไส้กรอกไม่มียี่ห้อ แล้วเกิดอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หายใจเร็ว และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล จากเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. สืบหาแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นำไปสู่การนำกำลังเข้าตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี ในวันที่ 2 ก.พ.2565 พร้อมยึดอายัดของกลาง 32 รายการ มูลค่า กว่า 700,000 บาท จากเหตุการณ์ดังกล่าว นำมาสู่มาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันเหตุไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก เจ้าหน้าที่จึงได้ติดตาม สืบสวนหาข่าว เพื่อเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค โดยพบว่า มีโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนแห่งหนึ่ง ย่าน จ.ปุทมธานี ลักลอบผลิตลูกชิ้นหมูจำนวนมาก ในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ บรรจุส่งขายตามตลาดนัดทั่วไปใน กรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายแห่ง ตำรวจจึงได้ลงพื้นที่สืบสวน จนทราบถึงแหล่งผลิตลูกชิ้นดังกล่าว

และเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้สนธิกำลังกับ เจ้าหน้าที่ อย. นำหมายค้นศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ 48/2566 ลง วันที่ 16 ก.พ.2566 เข้าตรวจค้นโกดังเก่า ที่ดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้น หมู่ ที่ 2 ต.คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบผู้แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตภัณฑ์ ลูกชิ้นยี่ห้อ จ๊ะเอ๋  จึงได้ตรวจยึดของกลาง ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นบรรจุถุง กว่า 30 ถุง 2. เนื้อไก่และเนื้อหมูสด ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ  3. Sodium benzoate (วัตถุกันเสีย) 12 กิโลกรัม 4. บรรจุภัณฑ์และส่วนผสมต่าง ๆ ที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร ปี 2522 กว่า 20 รายการ รวมถึงได้ปิดโรงงาน และอายัดผลิตภัณฑ์ลูกชิ้น, เนื้อสัตว์ที่กำลังแปรรูป, ส่วนผสมต่าง ๆ และเครื่องจักร อีก 3 รายการ

สำหรับการตรวจค้นครั้งนี้ ยังพบอีกว่า กระบวนการผลิตลูกชิ้นหมูดังกล่าวขาดสุขลักษณะไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นหมูที่โฆษณาว่าเป็นเนื้อหมูแท้นั้น เจ้าของโรงงานได้ลักลอบนำเนื้อไก่มาผสมกับเนื้อหมู เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดและ อาจซื้อไปบริโภคได้โดยไม่ทราบถึงส่วนผสมที่แท้จริงของอาหาร

จากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ ตามหลักเกณฑ์ GMP พบว่า “ไม่ผ่านเกณฑ์” และยังพบโรงงานดังกล่าว ไม่มีการควบคุมการผลิตในกรณีที่ใช้วัตถุเจือปนอาหาร อย่างเหมาะสม อีกทั้งขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฏหมาย โดยจากการนำส่วนผสมที่พบในโรงงานมาตรวจสอบกับชุดทดสอบสารปนเปื้อนบอแรกซ์ในเบื้องต้น พบผลเป็นบวก สันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นที่ผลิตในโรงงานดังกล่าวอาจมีสาร บอแรกซ์ปนเปื้อนในลูกชิ้นที่ส่งขายให้กับผู้บริโภค

สัมฤทธ์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งแสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยอมรับสารภาพ ว่า ได้ผลิตลูกชิ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีแต่อย่างใด โดยลูกชิ้นหมูยี่ห้อดังกล่าว ไม่แสดงเลขสารบบอาหาร (ไม่ผ่าน อย.) ขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ก็ซื้อมาจากตลาดนัดทั่วไป ส่วน Sodium benzoate (วัตถุกันเสีย) นั้น ซื้อมาจากร้านค้าแห่งหนึ่งย่านเขตจตุจักร จากนั้นจะนำส่วนผสมต่าง ๆ มาผลิตเป็นลูกชิ้นที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, นนทบุรี และ สมุทรปราการ กว่า 41 แห่ง โดยยอมรับด้วยว่า ทำมาแล้ว 2 ปี โดยจำหน่ายลูกชิ้นวันละประมาณ 300-800 กิโลกรัม

จากการตรวจสอบบัญชีลูกค้าเพิ่มเติมพบหลักฐานบิลใบเสร็จลงวันที่ 15 ก.พ.2566 ได้ส่งลูกชิ้นไปยังโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง ใน จ.ปทุมธานี จำนวน 65 กิโลกรัม เบื้องต้นตำรวจได้เร่งประสานไปยังโรงเรียนให้งดการนำลูกชิ้นหมูดังกล่าวมาประกอบอาหารให้กับเด็กนักเรียนแล้ว

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พรบ.อาหาร ปี 2522

1. ฐาน “ผลิตอาหารปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท

2. ฐาน “ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหาร โดยสถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP)” ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท 

3. ฐาน “ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากถึงผู้บริโภค อย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active