จี้ รมว.เกษตรฯ กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนก่อนหมดทะเล

เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ตั้งคำถาม ‘เฉลิมชัย’ กล้าปกป้องความมั่นคงทางอาหารหรือไม่ โต้ ‘อธิบดีกรมประมง’ อย่าพูดความจริงครึ่งเดียว เตะถ่วงให้เกิดการทำลายตัดวงจรสัตว์น้ำวัยอ่อน 

ในเวทีพูดคุยออนไลน์ “สรุปหลัง #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู ใครจงใจลากถ่วงไม่ยอมประกาศ ม.57“ ทางเพจเฟซบุ้ก ”สมาคมรักษ์ทะเลไทย”  วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และ ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย   เปิดประเด็นเปรียบเทียบการให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านประมงของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล 

จากกรณีล่าสุดที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย  นำโดย มงคล สุขเจริญธนา ประธานสมาคมฯ เข้าพบเพื่อนำเสนอประเด็นข้อหารือและติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาด้านการประมง พร้อมทั้งชี้แจงเกี่ยวกับรายงานบทสรุปนโยบายของมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเข้ารับฟังติดตามปัญหาด้วยตัวเอง   แต่ในกรณีตัวแทนประมงพื้นบ้าน และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันรณรงค์ทวงคืนน้ำพริกปลาทู เรียกร้องยุติการจับ การขาย การซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน ด้วยการออกกำหนดขนาดและชนิดสัตว์น้ำวัยอ่อน กลับมีเพียงผู้ช่วยของรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มารับเรื่องภายนอกศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

ส่วนกรณีที่ เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน กรมประมงได้ดำเนินการในหลายวิธี เช่น การประกาศปิดอ่าว ในช่วงฤดูกาลสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อน การกำหนดห้ามมิให้อวนล้อมจับที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน การกำหนดขนาดตาอวนก้นถุงของเรืออวนลาก ไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบหมึก ไม่น้อยกว่า 3.2 เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบปลากะตัก ไม่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร และการกำหนดตาอวนของลอบปู ไม่น้อยกว่า 2.5 นิ้ว เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประมงนั้น     ประเด็นนี้ตัวแทนประมงพื้นบ้าน เห็นว่า กรมประมงตอบไม่ตรงคำถาม ชี้แจงคนละเรื่อง ซึ่งการแก้ไขปัญหาประมง เคยพูดเรื่องหลักประตู 3 บาน   บานที่ 1 การคุมคนจับเรื่องใบอนุญาต, บานที่ 2 ใช้มาตรการต่าง ๆ ขณะไปจับ เช่น กำหนดแนวเขต ปิดอ่าวฤดูวางไข่ ตาอวน  แต่ที่ภาคประชาชนและเครือข่ายประมงพื้นบ้านเสนอตอนนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องบานที่ 2 ตามที่อธิบดีกรมประมงกล่าวอ้าง  เพราะเป็นเรื่องประตูบานที่ 3 คือให้ไปดูว่ามีสัตว์น้ำวัยอ่อนมากกว่าที่กำหนดไหม ซึ่งยังไม่มีการกำหนดอันนี้จึงชัดเจนว่าชี้แจงคนละเรื่อง 

“เดิมภาพรวมเราจับสัตว์ทะเลได้ 2 ล้านตันต่อปี และมากำหนดเปลี่ยนเพดานเมื่อปี2558 ให้เหลือ1.5 ล้านตัน ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2563 จากการบริหารจัดการ ไม่ปิดประตูบานที่ 3  ภาวะที่มันเกิด คืออวนลากคู่ ลากเดี่ยว ไปจับเอาสัตว์น้ำวัยอ่อน ตัดวงจรมันเรื่อยๆ ด้วยการเร่งจับให้ได้เยอะๆ ในน้ำหนักเท่าเดิมตัวเล็กลง ผลการจับน้อยลงทุกปี  ปี 2562 ได้รวม 1.4 ล้านตัน , ปี 2563 จับได้ 1.3 ล้านตัน และ ปี2564 น่าตกใจมาก เหลือ 1.1 ล้านตัน ลดลงไปถึงปีละ 2 แสนตัน สะท้อนอนาคตประเทศไทยกำลังจะแย่ ซึ่งมันไม่ใช่แค่อนาคตชาวประมง แต่เป็นอนาคตของชาติลูกหลานที่จะแย่ลง นี่จึงไม่ใช่เรื่องของชาวประมงที่จะมากำหนดชะตาได้อย่างเดียว“ 

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

“เรื่องนี้ไม่เหนือความคาดหมาย ทำให้เห็นชัดว่า เราไม่ได้สู้กับรัฐอย่างเดียว รัฐสวมร่างเป็นทุนจึงไม่ได้นอกเหนือจากที่ผมคิด เพราะฉะนั้นปรากฎการณ์นี้จึงตอกย้ำภาพที่ผมคิด ภาคประชาชนคิด มันเป็นจริง คือ นายทุนรัฐบาลเป็นพวกเดียวกัน ดังนั้น 60 ปี การก่อร่างสร้างกรมประมง มามีงานวิจัยต่างๆมากมายแลัวแต่กลับทำไม่ได้ ”

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย

ประเด็นที่ 2 ที่กรมประมงพยามชี้แจงว่า การประกาศตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ก.การประมง 2558 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมงนั้น ต้องคำนึงถึงสภาพธรรมชาติและความหลากหลายของสัตว์น้ำ เพราะในประเทศไทยเครื่องมือประมงที่ใช้ไม่สามารถเลือกจับสัตว์น้ำเป็นรายชนิดได้อย่างชัดเจนเนื่องจากตั้งอยู่ในเขตร้อน มีความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำมาก ส่งผลให้การทำประมงในแต่ละครั้งสามารถจับสัตว์น้ำได้มีความหลากหลายทั้งชนิดและขนาด   ขณะที่ข้อกำหนดของมาตรา 57 หากพบสัตว์น้ำขนาดเล็กบนเรือประมงแม้เพียงตัวเดียวหรือชนิดเดียวก็มีความผิด จึงต้องใช้บทบัญญัติตามมาตรา 71(2) ประกอบด้วย เพื่อให้สามารถออกข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับได้โดยบังเอิญ จึงจะสามารถนำไปสู่การควบคุมตามกฎหมายได้นั้น   วิโชคศักดิ์  เห็นว่าอธิบดีกรมประมง  พูดความจริงไม่หมด แทงกั๊กพูดครึ่งเดียว ซึ่งตนยอมรับเห็นด้วยว่าทะเลไทยมีความหลากหลาย แต่กลับไม่พูดความจริง เรื่องการใช้เครื่องมือแบบเลือกจับได้ ซึ่งอยากจะเน้นว่ามีเครื่องมือมากมายที่สามารถเลือกจับสัตว์น้ำทั้งชนิดและขนาดได้ โดยมีผลพลอยจับที่เป็นสัตว์น้ำอย่างอื่นได้น้อย ไม่ถึง 5 % เท่านั้น 

“เอาแบบง่ายๆ ซีเลคทีฟฟิชชิ่งเกีย คือเครื่องมือเลือกจับในสังคมไทย ส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น แต่นอนซีเลคทีฟฟิชชิ่งเกียร์ มีแค่ 2-3 ประเภทเท่านั่นเอง แต่ในคำแถลงท่านอธิบดีบอกว่า การประมงในไทยจับได้ทุกประเภท นี่ท่านพูดแค่ครึ่งเดียว แค่กลุ่มอวนลาก อวนล้อม จริงๆเขาจับ ปล่อย เลือกจับได้ อีกกลุ่มปั่นไฟ จับในเวลากลางคืน บางที่ใช้ตาอวนเล็กกว่านั้นจับปลากระตัก แต่ได้ปลาทูเล็กมาด้วย เราบอกไม่ได้ห้ามจับปลากระตักนะ แต่จับลูกปลาทูให้น้อยลงได้ไหม“ 

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

วิโชคศักดิ์ กล่าวต่อว่า มีข้อมูลของกรมประมง ซึ่งทั้งอธิบดีกรมประมง  รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนายกรัฐมนตรีก็น่าจะทราบดี ข้อมูลอวนลากคู่จับปลา คือจับปลาที่นำมาทานได้เลยประมาณปีละ  20,237 ตัน คือ 20 ล้านกิโลกรัม แต่สิ่งที่น่าตกใจ คือปลาเป็ด ปลาตัวเล็ก ปลาไม่มีคุณภาพป้อนอาหารสัตว์ 154,000 ตัน หรือ  154 ล้านกิโลกรัม นี่คือผลผลิตจากอวนลากคู่ จึงไม่แปลกใจทำไม NGO จากอังกฤษเขามาเสนอว่า ประเทศไทยควรเลิกอวนลากได้แล้ว เลยทำให้ทางเราคิดว่าทำข้อเสนอเบาไปหรือไม่ 

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย

ด้าน ปิยะ กล่าวถึงกรณีที่กรมประมงอ้างว่า การกำหนดขนาดและชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ หากชาวประมงจับปลาตัวเดียวก็จะมีความผิด อันนี้ยืนยันว่าไม่จริง เพราะประมงพื้นบ้านเราพูดและเสนอเรื่องสัดส่วนเปอร์เซ็นการจับชัดเจน 

“มีการประชุมแก้ไขปัญหาประมงพื้นบ้านในเรื่องที่จะออกกำหนดขนาดสัดส่วน มีเสนอ 3% 7% 5% สุดท้ายไม่เกิน10% เพราะฉะนั้นจะบอกว่าจับได้ตัวเดียวจะมีความผิด อันนี้ไม่จริงแน่นอน  2. ที่ผู้ประกอบการบอกจะทำไม่ได้ก็ไม่จริง เพราะเป็นเรื่องสัดส่วน เช่น จับมาได้ 10,000 กิโลกรัม ก็คือจะมีสัดส่วนปลาขนาดเล็กไม่เกิน 1 ตันเพราะฉะนั้น สามารถทำได้ทั้งผู้ประกอบการและผู้ทำการควบคุมอยู่แล้ว“

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย

“หมายความว่าข้อกำหนดนี้เมื่อประกาศออกมาโดยเจตนาก็คือ จะไปควบคุมทุกเครื่องมือนั่นแหละ ไม่ว่าคุณจะใช้เรือเล็ก ไม่ว่าคุณจะใช้อวนลาก หรือใช้อวนติดตา หรือใช้อะไรก็ตามถ้าคุณจับมาได้รอบนั้น ไม่ว่าจะปลาทูหรือปลาอื่น ซึ่งเป็นขนาดเล็กตามที่รัฐมนตรีกำหนด ก็ต้องไม่เกินสัดส่วนที่กำหนด คือมีการการกำหนดเงื่อนไขวิธีปฏิบัติเวลาจับสัตว์น้ำได้โดยบังเอิญ ไม่ใช่จับตัวเดียวก็ผิด อันนี้ก็เข้าใจด้วยกัน และผมก็ว่า 10% ก็เยอะแล้ว“

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

อีกประเด็นที่ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่าการปฏิบัติการควบคุมการทำประมง โดยการใช้กฎหมายนั้น จะต้องสามารถทำได้ทั้งผู้ที่กฎหมายบังคับ และเจ้าหน้าที่จะต้องทำหน้าที่ควบคุมให้เป็นไปตามแนวทางนั้นด้วย ซึ่งกรมประมงจะเร่งดำเนินการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้แนวทางในการกำหนดมาตรการที่เป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องต่อไปนั้น 

เรื่องนี้ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ยังคงยืนยันที่จะไม่เข้าร่วมประชุมอีก และยืนบนหลักการว่า การบริหารสัตว์น้ำวัยอ่อน ต้องยืนอยู่บนงานวิจัย ข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นเรื่องการไปโหวตในที่ประชุม ต่อรองกันว่าใครจะยอมกัน หรือไม่ยอมกัน มันจึงไม่ใช่เรื่องการต่อรองการเมือง และต้องอาศัยความกล้าหาญของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจเรื่องนี้ 

“คือเป็นเรื่องวิชาการที่ต้องการอย่างเดียว คือจริยธรรมของนักการเมือง จริยธรรมความอาจหาญกล้าหาญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมประมง ซึ่งมีทางเดียวที่จะทำได้ตามอำนาจหน้าที่ในกฎหมาย ท่านจะอ้างบ่ายเบี่ยงนั่นนี่ลากถ่วงไป รังจะทำร้ายทะเลไทย “ 

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

“เปรียบเทียบบทพิสูจน์ เรื่องปลากับทะเล ก็เหมือนบทพิสูจน์เรื่องสัมปทานป่าไม้สัก ที่จะโค่นเอาไปขาย แต่ในยุคนั้นเกิดความเสียหายมาก ตอนนั้น พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น และเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็สั่งยุติเปิดป่า ถือเป็นความกล้าหาญ เพราะว่ามันเกิดอุทกภัย ภัยแล้ง ดังนั้นกับทะเลเหมือนกัน ปล่อยจับสัตว์น้ำวัยอ่อน กลับไม่ยุติ ไม่ใช้ความกล้าหาญ จึงเป็นความท้าทายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ พรรคประชาธิปัตย์จะกล้าปกป้องทะเล ปกป้องความมั่นคงทางอาหารหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ“ 

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นไม่ควรที่จะเปิดรับฟังถามชาวประมง กันแต่เฉพาะในกลุ่มที่จับปลา หรือผู้ที่ได้ประโยชน์จากการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

“ถามหน่อยว่า คนที่ได้ประโยชน์ เขาจะยอมรับได้ยังไง ไปถามผู้บริโภคสิครับ แล้วก่อนถาม เราทำความเข้าใจว่า อวนลากทำร้ายทะเลเท่าไหร่ จับสัตว์น้ำวัยอ่อนกันแบบไหน ผมคิดว่าไม่มีทางที่ความเห็นผู้บริโภค จะยอมให้มีการประมงจับสัตว์น้ำวัยอ่อนกันแบบนี้  แต่กลับกัน หากไปถามความเห็นผู้ประกอบการประมง  ใครเขาจะยอมรับให้มากำหนดควบคุม  เรื่องนี้ตลก ผมว่าสังคมต้องตระหนัก ต้องใช้งานวิชาการการจับสัตว์น้ำเป็นหลัก และสำคัญคือต้องเข้าใจว่าตอนนี้คนเกิดก่อน แม้จะมีสิทธิเลือกอาชีพในการดำรงวิถีชีวิตได้ แต่เราไม่มีสิทธิทำลายสัตว์น้ำอนาคต ทำลายทรัพยากรในอนาคต“

ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย

“ถ้าจะให้จบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องเอาข้อมูลข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน มาเปิดเผยให้คนไทย ให้ผู้บริโภคตัดสินใจร่วมกัน แต่ต้องไม่ใช่ ไปสร้างวงหารือกันในกลุ่ม ประมงพื้นบ้าน กับประมงพาณิชย์ ให้ไปตกลงกันเอง ถ้าเป็นแบบนี้ไม่เอา ไม่ได้อะไร“ 

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

เครือข่ายประมงพื้นบ้าน สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ระบุว่า จะมีเวทีออนไลน์นำเสนอข้อมูลปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากภายใน 30 วัน ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการออกประกาศกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน จะกลับมาเคลื่อนไหวกันอีกครั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ