สทนช. เดินหน้าศึกษา SEA พื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ

วางแผนบริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายทั้งระบบ ประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 10 จังหวัดลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ บรรเทาปัญหา ภัยแล้ง อุทกภัย ดินถล่ม รวมถึงการจัดสรรและกระจายน้ำอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

สราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. ได้ให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท อินเตอร์ เทค คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท โพธิศิรินทร์ ไทยคอนซัลแต๊นท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้การพัฒนาของลุ่มน้ำสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ หรือมีผลกระทบในระดับที่ยอมรับได้ และเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) พร้อมทั้งจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จัดลำดับความสำคัญของโครงการพัฒนาในอนาคต การป้องกันอุทกภัยและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือสำหรับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ ลดความซ้ำซ้อนของแผนงาน และกำหนดกรอบแนวทาง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป


ทั้งนี้ พบว่าแต่ละพื้นที่ มีความจำเป็นต้องเร่งรัดวางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบลุ่มน้ำ ต้องบริหารจัดการการใช้ประโยชน์และจัดสรรน้ำตามความต้องการของประชาชน การพัฒนาของเมืองและชนบท การใช้น้ำเพื่อการพัฒนาภาคส่วนต่าง ๆ การเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังต้องอนุรักษ์น้ำสำหรับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ เพื่อวางเป้าในการแก้ไขปัญหาจากภัยธรรมชาติ น้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาชุมชน ความเป็นอยู่ การกินดีอยู่ดี ซึ่งลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือมีความเกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำระหว่างประเทศ จึงต้องพิจารณาบริบทการใช้น้ำระหว่างประเทศ และต้องเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับพื้นที่ศึกษาลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 36 ลุ่มน้ำสาขา ที่แบ่งเป็น 9 กลุ่มลุ่มน้ำสาขา ครอบคลุม 10 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมพื้นที่ 47,165.08 ตร.กม หรือ 29.8 ล้านไร่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ

รวมทั้ง ทบทวนวิเคราะห์การดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ศึกษาโครงการที่ผ่านมาสำหรับประกอบการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) พร้อมประเมินผลการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2564 และจัดทำแผนปฏิบัติการ การบริหารทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยกิจกรรมสร้างการรับรู้ผ่านสื่อในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการรับรู้ รับทราบสาระสำคัญของโครงการ อันเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารของสื่อมวลชนไปสู่สาธารณะต่อไป


อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ว่า สร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม และมีความเชื่อมโยงกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ทั้ง 6 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย ใน 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1. การจัดหาและจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำ 2. การป้องกัน คุ้มครอง และฟื้นฟูการให้บริการระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรน้ำโดยการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใช้น้ำ 3. การส่งเสริมการปรับตัวของผู้ใช้น้ำต่อปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 4. การสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมศักยภาพการบริหารจัดการลุ่มน้ำ

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์