กมธ.แก้จน ชี้ รัฐสร้างความเหลื่อมล้ำด้านน้ำ พท.นอกเขตชลประทานถูกเมิน

งงแผนยุทธศาสตร์หน่วยงานน้ำระดับชาติ มองแต่โครงการขนาดใหญ่ ปล่อยพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน 70% ของประเทศเคว้ง หวังพึ่งน้ำฝน ชวนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เดินหน้าสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กยั่งยืน ชู ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ นวัตกรรม ตอบโจทย์ชุมชน

สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่เพื่อทำการเกษตรทั่วประเทศของไทย มีทั้งสิ้น 149.2 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทาน ที่รัฐจัดหาน้ำให้แก่เกษตรกรได้เพียง 32.79 ล้านไร่ หรือคิดเป็นเพียง 22% ของพื้นที่ทำการการเกษตรทั้งประเทศเท่านั้น อีกกว่า 117 ล้านไร่ หรือ 78% เป็นพื้นที่เกษตรที่ต้องพึ่งน้ําฝนเป็นหลัก

“ผมขอตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดพื้นที่การเกษตร ส่วนใหญ่ 78% จึงยังไม่มีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบเป็นหลักให้แก่เกษตรกร เพราะเมื่อพิจารณาดูจากแผนยุทธศาสตร์ทั้งของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ กรมชลประทาน จะพบว่า ไม่มีแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำนอกเขตชลประทานโดยตรงเลย จะมีก็เพียงงานโครงการที่แก้ปัญหาแล้ง และการขาดแคลนน้ำเป็นโครงการไปซึ่งไม่ใช่ทั้งระบบ”

สังศิต ยังระบุถึงยุทธศาสตร์ของกรมชลประทาน ซึ่งพบว่า การพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพลักษณะลุ่มน้ำ (Basin–based Approach) ไม่มีความแน่ชัดถึงกลยุทธ์ หรือแผนยุทธศาสตร์ปฎิบัติการที่จะกล่าวถึงวิธีการ การลดพื้นที่เกษตรพึ่งพาน้ำฝน หรือพื้นที่นอกเขตชลประทาน และไม่พบในแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ของ สทนช.เช่นกัน ดังนั้นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน 117 ล้านไร่ จึงเป็นสิทธิของชุมชน และองค์กรท้องถิ่น ที่จะต้องตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อแก้ปัญหาโดยใช้ทางเลือก แสวงหานวัตกรรมการจัดการน้ำ ที่ไม่มีอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ใด ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำระดับชาติ ก็ควรสนับสนุน ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นพึ่งพาตนเองต่อการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ และไม่สมควรกีดกัน การพึ่งตนเองของชุมชน และองค์กรท้องถิ่นด้วย

“จากการที่คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ หารือกับ เลขาธิการ สทนช. เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65 ที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำว่างานในปี 2566 คณะกรรมาธิการฯ จะต้องมุ่งมั่นทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ที่ให้ความสนใจเรื่องการแก้ปัญหาแหล่งน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืน ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าทุกรัฐบาลล้วนแต่สนับสนุนโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางเท่านั้น”

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ ยอมรับด้วยว่า นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลทหาร ล้วนแล้วแต่สนับสนุนโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางเหมือน ๆ กัน ยังไม่เคยมีรัฐบาลชุดใด และพรรคการเมืองใด ที่สนับสนุนการจัดหาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เพราะมีแต่แหล่งน้ำขนาดเล็กเท่านั้น ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้าน และชุมชนท้องถิ่นได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ใน ปี 2566 องค์การบริหารส่วนจังหวัด และท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคม ที่ให้ความสนใจการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้แก่เกษตรกร จึงควรสนับสนุนการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กให้แก่ชุมชน โดยร่วมมือกับคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ เพื่อจัดทำแผนงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก ได้แก่ ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้สนับสนุนให้เกิดขึ้นแล้ว 300 แห่งทั่วประเทศ โดยเชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้แก่เกษตรกรได้อย่างตรงเป้ามากที่สุด

ฝายแกนดินซีเมนต์

“เป็นที่นำประหลาดใจอย่างยิ่งว่า ฝายแกนดินซีเมนต์ที่สร้างกระจายทั่วประเทศแล้วกว่า 300 ตัวนั้น ไม่ได้ปรากฎอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ใด ๆ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานภาครัฐเลย แต่ฝายแกนดินซีเมนต์เหล่านี้ ล้วนเกิดจากการดิ้นรน ขวนขวายของชาวบ้านนอกเขตชลประทานทั้งสิ้น ทั้งที่พวกเขารอคอยน้ำจากหน่วยงานภาครัฐมาแล้วนับสิบปี”

สังศิต ยังเชื่อว่า ฝายแกนดินซีเมนต์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาตนเองของชาวบ้านและชุมชน ท้องถิ่น ถือเป็นนวัตกรรมการพึ่งพิงตนเองของเกษตรกร และชุมชนนอกเขตชลประทานที่เกิดขึ้นระหว่าง ปี 2558-2565 โดยไม่ได้เกิดจากการขับเคลื่อนของแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานด้านน้ำ ซึ่งได้รับงบประมาณมาจากภาษีของประชาชนปีละหลายแสนล้านบาทแต่อย่างใด

สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจน
และลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

“ที่ผ่านมาหาคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ ขอบคุณท้องถิ่นหลายแห่ง รวมถึงภาคประชาสังคม ที่ให้ความร่วมมือกับการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในหลายจังหวัด เช่น จ.แพร่, เทศบาลเชียงม่วน จ.พะเยา, จ.น่าน ที่ได้ช่วยกันสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ ให้เป็นต้นแบบแก่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เช่นเดียวกับที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนการสร้างในพื้นที่อีกนับ 1,000 แห่ง โดยจะเริ่มสร้าง 400 แห่ง ในปีงบประมาณหน้าทันที”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active