“หาที่ว่าง สร้างสวนทั่วกรุง” ภารกิจเพื่อพื้นที่สีเขียว ถ้าผู้ว่าฯ กทม. ชื่อ ‘สกลธี ภัททิยกุล’

สำรวจนโยบาย ‘สกลธี ภัททิยกุล’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ผ่านคอลัมน์ Green Vision: วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว ใน The Active Podcast

The Active Podcast ชวน #ปลุกกรุงเทพฯ สำรวจนโยบาย 7 ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคอลัมน์พิเศษ “Green Vision : วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” จากความร่วมมือกับ “สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง” พูดคุยกับ ‘สกลธี ภัททิยกุล’ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วัย 44 ปี ผู้ชูแนวคิด “50 สวน 50 เขต เข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ง่าย สะดวกสบายมากขึ้น” จะทำได้จริงแค่ไหน ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ งบประมาณ และกลไกการบริการที่ล่าช้าของ กทม.

ยกมาตรฐาน งาน “รุกขกรรม” เป็น KPI ของสำนักงานเขต

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 3 บอกว่า หน้างานของสำนักงานเขตงานเยอะ เช่น ผู้รับเหมาจะต้องเทปูนก่อสร้างบริเวณใกล้กับต้นไม้ ไม่ได้มีรุกขกรเข้าไปดูแลในทุกกรณี แต่ในช่วง 3 – 4 ปีหลัง มีการย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เป็นนโยบายลงไปในพื้นที่เขตมากขึ้น ปัญหาของผู้อำนวยการเขต มีการปรับเปลี่ยนเยอะมาก บางครั้งการย้ายพื้นที่ทำให้ไม่เข้าใจเนื้องานที่สานต่ออยู่ และบ้างก็ไม่มีความรู้ในด้านนี้ ดังนั้นจึงจะต้องมีคู่มือที่เป็นแบบแผนให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

สกลธี ภัททิยกุล

“จะต้องทำให้เป็นมาตรฐานเหมือนไกด์บุ๊กว่า ต่อจากนี้ไม่ว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับต้นไม้ จะมีขั้นตอนอย่างไร หนึ่ง สอง สาม สี่ ข้อเสนอที่ว่าทำให้แนวทางการตัดแต่งต้นไม้ตามแบบแผนที่ถูกต้อง ให้ไปอยู่ในการประเมินความสำเร็จของหน่วยงานคิดว่าทำได้ จะรับไปเลย ต้องเอาเรื่องนี้ให้ไปอยู่ในนโยบายการบริหาร ระบุว่าจะอยู่ใน KPI นะ คิดว่าแบบนี้ทำได้อยู่แล้ว”

เพิ่มสวนสาธารณะ “50 เขต 50 พื้นที่”

สกลธี ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 38 แห่ง ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดทุกเขต แต่ในต่างประเทศจะพบว่าสวนไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เสมอไป แต่กระจายให้ทั่วถึง ดังนั้นจึงอยากทำให้สวนเล็ก ๆ กระจายไปทั่วทุกเขต ซึ่งกรุงเทพมหานครเองมีแปลงพื้นที่ว่าเปล่าในความดูแลเยอะมาก

อย่างที่เขตลาดพร้าว พบพื้นที่รกร้างราว 14 ไร่ คิดว่าหากนำมาทำพื้นที่สวนสาธารณะ จะทำให้ผู้คนเข้าถึงทั้งเขตลาดพร้าว เขตจตุจักร แต่พบมีผู้บุกรุกอยู่ 30 ครอบครัว ก็เลยให้ย้ายไปอยู่บ้านมั่นคง และปรับปรุงพื้นที่ ปลูกต้นไม้ ทำทางเท้า เกิดเป็น “สวนอยู่เย็น” เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยที่ใช้งบประมานต่ำ เพียงแต่อาศัยพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว และปรับเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

สกลธี ภัททิยกุล

“ที่มันเยอะมากแต่มันคล้ายกับว่ารกรุงรังกลายเป็นที่เปล่าๆ ไม่ได้ใช้ มันจะมีลิสต์อยู่แล้วในสำนักการคลังของกรุงเทพมหานครว่า มีที่กี่แปลงกี่ไร่ขนาดเท่าไหร่ ถ้าเราเอามาดูจะรู้ว่าแปลงไหนมีศักยภาพ หรือที่ในสำนักงานเขต ของเอกชน ก็อาจจะขอเจรจาได้เพื่อนำมาให้เป็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้น แต่สวนขนาดใหญ่ที่มีอยู่ ก็ต้องทำให้มันดีขึ้น เช่น ที่บึงหนองบอน สามารถทำให้เป็นสวนกีฬาทางน้ำเพิ่มเติมได้ ปรับสิ่งที่มีอยู่สร้างกิจกรรมให้คนสนใจก็จะดีมากขึ้น”

สกลธี ยอมรับว่า ปกติงบประมาณของกรุงเทพมหานครก้อนใหญ่ ๆ จะถูกใช้ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงการขนาดใหญ่ ส่วนสำนักงานเขตมีงบประมาณเพียง 2 – 3 ล้านบาท ทำถนนเส้นเดียวก็หมดแล้ว ดังนั้นจึงต้องบริหารจัดงานงบประมาณที่มีอยู่ในส่วนกลางให้กระจายลงไปยังสำนักงานเขตต่าง ๆ เพราะหากผู้อำนวยการเขตมีทุน ก็จะสามารถทำอะไรต่อได้มาก รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเอกชนก็ให้เข้ามามีส่วนร่วมได้ หากดูจากงบประมาณทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร ราว 80,000 ล้านบาท แต่ ร้อยละ 40 เป็นเงินเดือนข้าราชการ ที่ผ่านมารอเงินจากรัฐบาลเท่านั้น ดังนั้นอะไรที่กรุงเทพมหานคร หาเงินได้เองจะต้องทำ

สร้างหุ้นส่วนการพัฒนา สนับสนุน “พื้นที่สีเขียว”

ปกติ กทม. เก็บขยะเอง งบประมาณที่ใช้ซื้อรถขยะ ถังขยะ ราว 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี แต่เราสามารถที่จะจ้างเอกชนมาจัดการ และเอางบประมาณที่เหลือมาทำอย่างอื่น เช่น เอามาใช้สร้างพื้นที่สวนสาธารณะมากขึ้น เพราะยิ่งในช่วงโควิด-19 ระบาดงบประมาณ กทม.ยิ่งหายไปราว 30%

“ถ้าผมได้เป็นผู้ว่าฯ ผมก็จะทำทุกทางให้มีงบประมาณที่เกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวให้ได้เยอะที่สุด และนำมาใช้ได้เร็วที่สุด ถ้ามีโอกาสก็ควรจะดึงภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย มันอยู่ที่น้ำหนักของผู้ว่าแต่ละคนว่าจะให้น้ำหนักเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ลำพังถ้าหาเงินเท่าเดิมก็จะทำได้เท่าเดิม แต่ถ้าเรามีส่วนสนับสนุนเพิ่มเติมก็จะทำได้มากกว่าเดิม เช่น หาก ปตท.อยากจะทำ CSR ทำสวน เราก็ให้คุณเอาเงินมาลงเลย อาจจะไปช่วยลดภาษีอย่างอื่นได้ หรือรวมไปถึงการออกแบบพื้นที่สีเขียวในอาคารเอกชนก็อาจจะแต่ต้องตั้งข้อบัญญัติ กทม.ใหม่ตรงนี้ขึ้นมาจากการเสนอของผู้ว่าฯ และให้สภา กทม. พิจารณาอีกที”

แก้ปัญหาโลกร้อน เพื่อคุณภาพชีวิตคนกรุง ที่ดีกว่า

การก่อสร้าง การปล่อยไอเสียจากรถยนต์ล้วนเป็นผลให้เกิดภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีจำนวนเยอะมากขึ้นในภาครวมต้องลดกิจกรรมที่ก่อมลพิษให้ได้มากที่สุด เป็นหน้าที่ที่ต้องสนับสนุนให้คนใช้ขนส่งสาธารณะให้มากที่สุด

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือปัญหาหนักแต่คนมองไม่ค่อยเห็น ถ้าผมมีโอกาส จะอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพราะลำพังกรุงเทพฯ อย่างเดียวก็ทำได้อยาก ทำยังไงให้เอกชนมาร่วมกับเราให้ได้ ช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอน การที่จะบริหารเมืองให้ดีได้ ต้องดูว่าอะไรเป็นสิ่งไม่จำเป็น อันไหนควรทำก่อน อันไหนต้องพิจารณาเร่งด่วน”

  • ติดตามรับฟังเนื้อหาเพิ่มเติมของ ‘สกลธี ภัททิยกุล’ ได้ที่ คอลัมน์ “Green Vision วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” โดยความร่วมมือของ The Active และ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ได้ในรายการ The Active Podcast และ ThaiPBS Podcast

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้