ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจ.ตรัง ร่วมรณรงค์ ทวงคืนน้ำพริกปลาทู

เดินหน้ารณรงค์หยุดจับ หยุดขาย หยุดซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน ยื่นหนังสือ ผวจ.ตรัง เรียกร้องออกประกาศจังหวัด หยุดการทำประมงจับสัตว์น้ำวัยอ่อน กำหนดขนาดสัตว์น้ำที่ห้ามทำการประมง ห้ามทำการประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน โลมา เต่าทะเล และควบคุมกิจกรรมต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหญ้าทะเล

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.65 ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังและสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ได้เคลื่อนขบวนรณรงค์ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู“ หยุดจับ หยุดขาย หยุดซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อสะท้อนและสร้างการรับรู้ต่อปัญหาสถานการณ์การจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่ส่งผลผลต่อทรัพยากรทางทะเลที่ลดน้อยลง และกระทบต่อประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคในตัวเมืองจังหวัดตรัง

อะเหร็น พระคง ประธานชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง กล่าวว่า ตอนนี้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลลดน้อยลงอย่างมาก มาจากหลายปัจจัยทั้งสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ที่เปลี่ยนไป แต่อีกสาเหตุสำคัญที่เป็นการตัดวงจรชีวิตสัตว์ทะเล คือยังมีการจับสัตว์น้ำวันอ่อนไปขาย โดยยังพบ เรือปั่นไฟจับปลากระตักที่ ใช้อวนตาถี่อวนลากอวนลุน ซึ่งกวาดต้อนเอาลูกปลาเล็กๆไปขายเป็นปลาเป็ด หรืออาหารทะเลคุณภาพต่ำ

ทวงคืนน้ำพริกปลาทู

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคบางส่วนยังไม่รับรู้ในสถานการณ์และเข้าใจว่า ปลาเล็ก ๆ เหล่านั้นมีคุณค่าทางอาหารและราคาถูก แต่จริง ๆ เป็นการตัดวงจรชีวิตและการเติบโตในการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำนอกจากนี้ เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างที่ว่ามานั้น ยังส่งผลต่อพื้นที่หญ้าทะเล แหล่งอาหารสำคัญของพยูน และแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อนอีกด้วย

“อวนตาถี่เล็ก ๆ ไม่มีอะไรสามารถเล็ดรอดไปได้ กวาดต้อนไปทั้งหมด ปลา กุ้ง หอย ตัวเล็ก ๆ ถูกจับไปหมดยังไม่ทันได้โต หญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพยูน และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวันอ่อนก็ถูกทำลายไปด้วย และเครื่องมือประมงบางชนิด เช่น เบ็ดตกปลากะเบน ก็ส่งผลกระทบทำให้พยูนได้รับบาดเจ็บ“

จากนั้นจึงได้เคลื่อนขบวนรณรงค์ไปยังศาลากลางจังหวัดตรัง ยื่นหนังสือต่อ ขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในฐานะประธานคณะกรรมการประมงจังหวัดตรัง เรียกร้องให้เกิดการขับเคลื่อนให้มีการทำการประมงทะเลอย่างยั่งยืนควบคู่กับการอนุรักษ์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิทธิของชาวประมงพื้นบ้านโดย

1. เสนอให้คณะกรรมการประมงจังหวัดพิจารณากำหนดมาตรการไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนและเสนอให้กรมประมงกำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ห้ามทำการประมง

2. เสนอให้คณะกรรมการประมงจังหวัดตรัง พิจารณาจัดทำข้อเสนอไปยังกรมประมง ห้ามเรือปั่นไฟจากอ่าวไทยข้ามมาทำการประมงในฝั่งทะเลอันดามัน

3. เสนอให้คณะกรรมการประมงจังหวัดตรัง เร่งออกประกาศคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดตรัง เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. .… เพื่อแก้ปัญหาการตายของพะยูน โลมาและเต่าทะเล และเพื่อคุ้มครองครองสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ให้อยู่คู่ทะเลตรังต่อไป  

4 . เสนอให้จังหวัดตรัง ควบคุมกิจกรรมต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหญ้าทะเล ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย โดยกำหนดมาตรการควบคุมแผนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งเพื่อป้องกันกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหญ้าทะเล สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนชายฝั่งในการดูแลรักษา คุ้มครองและเฝ้าระวัง ตลอดจนสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนในการหวงแหนทรัพยากรหญ้าทะเล เพื่อให้พะยูนอยู่คู่กับทะเลตรังอย่างยั่งยืนต่อไป

5. ชาวประมงพื้นบ้านมีสิทธิทำการประมงอย่างยั่งยืนในอุทยานทางทะเล เนื่องจากชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดตรัง ทำการประมงด้วยเครื่องมือประมงที่ไม่ผิดกฎหมายและไม่เป็นอันตรายต่อพะยูน โลมา และเต่าทะเล แต่ไม่สามารถทำการประมงตามวิถีดั้งเดิมเนื่องจากพรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำการประมงเฉพาะในบางพื้นที่ตามภูมิลำเนาเท่านั้น  มีชาวประมงพื้นบ้านหลายรายถูกจับกุมและริบเครื่องมือประมงรวมทั้งถูกดำเนินคดี ทำให้ขาดรายได้ กระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ ซึ่งค่อนข้างมีความยากลำบาก

การกระทำดังกล่าวเป็นการริดรอนสิทธิการทำประมง ขัดกับวิถีการทำประมงดั้งเดิม จึงขอให้อุทยานแห่งชาติแห่งชาติทางทะเลทุกพื้นที่ เสนอ กรมอุทยานฯ ให้พิจารณาทบทวนการออกกฎหมายรอง โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและให้ชาวประมงพื้นบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน

6. หยุดไมโครพลาสติกในทะเล ช่วยกันลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังตระหนักถึงภัยคุกคามของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารทะเล ได้ร่วมกับจังหวัดตรัง มูลนิธิอันดามัน ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ขับเคลื่อนแก้ปัญหาขยะ ภายใต้ “โครงการตรังยั่งยืน ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” แต่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จำเป็นต้องกลับมาใช้กล่องและแก้วน้ำพลาสติกเพิ่มมากขึ้น จึงเห็นว่า จังหวัดตรังต้องรณรงค์ ประชาสัมพันธ์และสนับสนุนกิจกรรมของทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของศาลากลาง ตลาด ร้านค้า และภาคประชาชนในการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างจริงจัง เพื่อหยุดไมโครพลาสติกในทะเล

หลังจากนั้นจึงได้เคลื่อนขบวน ส่งไม้ต่อการรณรงค์ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู“ หยุดจับ หยุดขาย หยุดซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน ให้กับชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่ พังงา ระนอง โดยนัดพบชาวประมงพื้นบ้านที่เคลื่อนขบวนรณรงค์ในฝั่งอ่าวไทย ที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร และ จะเคลื่อนขบวนรณรงค์ต่อเนื่องมีเป้าหมายถึงเจ้าพระยาวันที่ 6 มิถุนายนนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ