‘ธรณ์’ เผย 10 ข้อเท็จจริง “ทะเลเดือด” หายนะหญ้าทะเลถึงพะยูน

ห่วงโซน ตรัง-กระบี่ ได้รับผลกระทบมากสุด สะท้อนข้อจำกัดด้านบุคลากร งบฯ ศึกษาวิจัยสัตว์หายาก ยังมีน้อย

วันนี้ (8 มี.ค. 2567) จากกรณีเพจ ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ โพสต์ภาพ พะยูน ลักษณะผอม พร้อมเขียนข้อความ ระบุว่า

“จะร้องแล้ว”

พะยูนผอมมาก ท่าเรือบ้านพร้าวเกาะลิบงไม่มีใครสนใจ รอให้ตายหมดก่อนเหรอคับ หญ้าก็หาย. ตะกอนจากการก่อสร้างก็ไม่มีใครทำอะไร บอกใครก็ไม่สนใจ มารวมกันช่วยหน่อยได้ป่าว หลายเดือนแล้วไม่บูมเลย พะยูนตายทุกคนก็เฉยๆ สภาพแย่ลงไปทุกวัน หญ้าเหลือน้อยแล้วนะ

ขอความสนใจหน่อย ปีนี่ตายไปหลายตัวแล้วนะ

พร้อมแท็กไปถึงเพจ และสื่อต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับหญ้าทะเล และพะยูน โดยในเวลาต่อมาเพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้โพสต์ภาพดังกล่าวอีกครั้งพร้อมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ในส่วนของปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก ด้านสมุทรศาสตร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งคณะดังกล่าวได้ลงพื้นที่ เพื่อมาเก็บข้อมูล รวมทั้งได้พูดคุยกับชาวบ้านชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ เมื่อวันที่ 16-18 ก.พ. ที่ผ่านมา รวมทั้งได้วางแผนลงพื้นที่อีกครั้งในวันที่ 10-16 มี.ค. เพื่อหาสาเหตุของการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล และนำมาออกมาตรการแก้ไขหรือฟื้นฟูหญ้าทะเลโดยเร็วที่สุด

อาจารย์ธรณ์ เผย 10 ข้อเท็จจริง วิกฤต หญ้าทะเล-พะยูน

เวลาต่อมา ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ Thon Thamrongnawasawat เกี่ยวกับ 10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤติหญ้าทะเล/พะยูน ระบุว่า

1. หญ้าทะเลตรัง/กระบี่ ตายเป็นจำนวนมากจากโลกร้อน อาจมีรายงานเรื่องขุดลอกหรือทรายกลบที่ลิบง แต่เป็นเฉพาะพื้นที่ในอดีตและการขุดลอกหยุดไปหลายปีแล้ว

2. หญ้าตายหนนี้เริ่มตายปี 65-67 ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้น และอาจขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากโลกร้อนไม่หยุด ปัจจุบัน มีรายงานหญ้าเสื่อมโทรมในลักษณะคล้ายกันในพื้นที่อื่นๆ เช่น เกาะพระทอง (พังงา) ภาพที่เห็นคือหญ้าทะเลไหม้เนื่องจากน้ำลงต่ำผิดปรกติ น้ำยังร้อน/แดดแรง ปัจจุบันในพื้นที่นั้นหญ้าตายหมดแล้ว หญ้าทะเลยังตายจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนรุนแรง บางแห่งเน่าจากปลาย บางแห่งเน่าเฉพาะโคนก่อนใบขาด ยังมีความเป็นไปได้ในเรื่องโรค (เชื้อรา)

3. พะยูน 220 ตัวอยู่ที่ตรัง/กระบี่ (ศรีบอยา) เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

4. กรมทะเลมีงบศึกษาวิจัยสัตว์หายากน้อยมาก แม้เริ่มมีอุปกรณ์และทีมงานดีขึ้น แต่งบปฏิบัติการยังน้อยและทำการสำรวจได้ไม่เต็มที่

ในด้านสัตวแพทย์ทะเล ฯลฯ ยังมีบุคลากรจำกัด การศึกษาที่จำเป็น เช่น ตรวจฮอร์โมน ศึกษา DNA การย้ายถิ่น ฯลฯ เพิ่งเริ่มต้น และคงต้องใช้เวลาอีกนานด้วยความจำกัดในหลายด้าน

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

5.คาดว่าพะยูนอาจเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ยังมีหญ้าเหลือ โดยมีเส้นทางขึ้นเหนือ (กระบี่ตอนบน/พังงา/ภูเก็ต) หรือเส้นทางลงใต้ (สตูล) แต่ยังบอกไม่ได้ชัดเจน บอกไม่ได้เพราะการสำรวจทำตามงบจำกัด ไม่สามารถสำรวจต่อเนื่องเป็นพื้นที่กว้างในช่วงเวลาเดียวกัน

6. ในอดีตไม่เคยมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน ตั้งแต่เริ่มต้นสำรวจหญ้าทะเลที่ตรังเมื่อ 40 ปีก่อน หญ้าไม่เคยหายไปเยอะแบบนี้ เนื่องจากหญ้าตายเพราะโลกร้อน/สิ่งแวดล้อม การแก้ที่ต้นเหตุจึงยากมาก

7.การปลูกฟื้นฟูจำเป็นต้องเลือกพื้นที่เหมาะสม พันธุ์หญ้าที่เหมาะสม (DNA) ภูมิต้านทานโรค ฯลฯ ไม่สามารถทำได้ทันที เพราะสภาพแวดล้อมแปรปรวน คณะประมงตั้ง “หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน” และมีโรงเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลเพื่อเรื่องนี้ตั้งแต่ 4 ปีก่อน

8.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องพะยูน คือการสำรวจให้กว้างที่สุด ดูการอพยพ (หากมี) เพื่อดูแลแหล่งหญ้าใหม่ที่พะยูนอาจไป แนวทางใหม่ๆ เช่น การติดตามสัตว์แบบ tracking ด้วยดาวเทียม การตรวจสุขภาพแบบจับมาตรวจ การให้อาหารเฉพาะหน้า ฯลฯ อาจต้องเริ่มคิดกัน

9.กรมทะเลตั้งคณะทำงานแล้วตั้งแต่ต้นปี ทำงานต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ (บางคนก็อยู่ในทะเลตอนนี้) ประชุมกันเกือบทุกวัน เราไม่มีผู้เชี่ยวชาญดีกว่านี้อีกแล้ว

10.ทางออกที่สำคัญสุดคือการสนับสนุนงบประมาณให้โครงการต่างๆ ที่กรมทะเลเสนอไป เพื่อให้งานเดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของพะยูน ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้งบหรือไม่ ? (งบไม่ใช่หลายล้าน ทั้งหมดที่เสนอไป ราคาใกล้เคียงรถ EV จากจีน)

ทช. ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม แข่งกับเวลา

ทั้งนี้ ต้นเดือน ม.ค. 2567 มีการจัดตั้ง คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ระดมนักวิชาการสำรวจหญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายาก และสมุทรศาสตร์ ลงพื้นที่ติดตามและสำรวจสถานภาพหญ้าทะเล พื้นที่เกาะลิบง และเกาะมุกด์ จ.ตรัง เพื่อติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำทะเล หญ้าทะเล และตะกอนดิน นำไปตรวจสอบหาสาเหตุความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล

จากการลงพื้นที่สำรวจแหลมจูโหย เกาะลิบง ได้ข้อสรุปว่าหญ้าคาทะเลมีสภาพเสื่อมโทรม มีร้อยละการปกคลุมพื้นที่น้อย โดยหญ้าคาทะเลมีลักษณะปลายใบขาดสั้น และบางส่วนยืนต้นตาย สาเหตุหลักอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของอนุภาคตะกอนดิน พบพื้นทะเลมีลักษณะขนาดอนุภาคตะกอนดินโคลนลดน้อยลง ตะกอนทรายเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสมุทรศาสตร์ คือ ระดับน้ำทะเลมีการลดระดับมากกว่าปกติและมีระยะเวลานานขึ้น จึงทำให้เกิดการผึ่งแห้งของหญ้าทะเลนานมากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอลงได้ เช่นเดียวกับพื้นที่เกาะมุกด์ บริเวณด้านใกล้ชายฝั่งเกาะมุกด์ มีหญ้าใบมะกรูดสมบูรณ์ มีการปกคลุมพื้นที่ 70-80% พบรอยกินของพะยูน แต่พบหญ้าคาทะเลเสื่อมโทรมลง ใบขาดสั้นเช่นเดียวกับหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง

แต่จนถึงเวลานี้ยังหาวิธีป้องกันและฟื้นฟูไม่ได้


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active