สำนักการศึกษา กทม. สั่งโรงเรียนในสังกัด “ห้ามมีการบ้าน”

‘ผอ.สำนักการศึกษา กทม.’ เผย ให้โรงเรียนในสังกัด “ปรับพื้นฐานนักเรียน” เพื่อแก้ปัญหาความรู้ถดถอย ดีเดย์ปีการศึกษา 2565 “ห้ามมีการบ้าน” หวังสร้างความสุขต่อการเรียนรู้หลังห่างโรงเรียนเกือบ 2 ปี

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 เกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร เผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ส่งผลให้ กทม. ใช้มาตรการควบคุมโรคด้วยการปิดสถานศึกษาจนส่งผลกระทบต่อภาวะการเรียนรู้ของนักเรียนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563

ล่าสุด สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร อนุญาตให้โรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง จัดการเรียนการสอนแบบ On site มาตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา จากการสำรวจพบว่ามีนักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนแล้วมากกว่า 80% และจากข้อมูลในภาคเรียนที่ 2/2564 ที่มีนักเรียน 261,160 คน พบว่ามีนักเรียน 434 คน ไม่ได้ศึกษาต่อในโรงเรียนและออกจากระบบการศึกษา

เกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร

ผู้อำนวยการสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้มีนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดปรับพื้นฐานให้กับนักเรียนเพื่อแก้ปัญหาความรู้ถดถอย หรือ Learning loss โดยอาจเป็นการสอนเสริมช่วงหลังเลิกเรียน และให้ปีการศึกษา 2565 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นไม่มีการบ้าน หวังให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียนรู้มากขึ้น และช่วยลดภาระผู้ปกครอง

สำหรับการดูแลกลุ่มนักเรียนยากจนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วและเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มเติม สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ได้ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพิ่มข้อมูลนักเรียนในสังกัด กทม. เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลทุนเสมอภาคของ กสศ. เป็นครั้งแรก หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมา มีเพียงโรงเรียนในสังกัด สพฐ. , ตชด. และ อปท. ที่เข้าระบบนี้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองความยากจน ได้รับทุนปีการศึกษาละ 3,000 บาท และอยู่ในระบบประกันโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับการส่งต่อเข้าสู่การศึกษาระดับสูงตามความสนใจต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม