ผู้ประกอบการ เรียกร้องรัฐบาลจริงจังแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง มองนโยบายอัดฉีดเป็นระลอก แก้ปัญหาไม่ตรงจุด นักวิชาการ ชี้ เศรษฐกิจไทยซบเซาเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน สินค้าจีนทะลัก ท้าทายรัฐต้องแก้ปัญหาระยะยาว ธปท. ต้องไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง
อีกไม่กี่วันนี้ จะมีประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ วาระแรก โดยมี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีวาระหารือ ประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานและการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อชับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงแผนเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเลต เฟส 2
ซึ่งคาดว่าหลังการจัดตั้งบอร์ดบริหารนี้ จะตามมาด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินว่า ที่ผ่านมา ปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.7% และคาดว่าในปี 2568 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3% บวกลบ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า จนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ ที่ชัดเจนจากรัฐบาล
ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะกลับมาดีได้มากน้อยเพียงใด ? เศรษฐกิจไทยจะพุ่งสู่ขาขึ้นได้จริงหรือไม่ ?
The Active ลงพื้นที่สำรวจย่านตลาดสำเพ็ง แหล่งจับจ่ายใช้สอยเก่าแก่ที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นตลาดค้าส่ง – ปลีกสินค้าที่เคยมีชีวิตชีวามากที่สุดแห่งหนึ่งของกทม. บัดนี้กลับซบเซาเงียบเหงา ผู้ซื้อต่างพากันรัดเข็มขัดประหยัดรายจ่ายแม้จะอยู่ในช่วงใกล้สิ้นปี ในขณะที่ฝ่ายผู้ค้าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าลูกค้าบางตาและการทำมาค้าขายก็ยากลำบากยิ่งขึ้นกว่าปีก่อนมาก
ภาพร สกุลวิริยบุตร ประชาชนผู้มาจับจ่ายใช้สอยย่านสำเพ็งเป็นประจำเล่าให้ทีมข่าวฟังว่าตนเองมักมาซื้อของใช้ในครัวเรือน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาย้อมผม สำหรับครอบครัวที่นี่เป็นประจำ และซื้อในจำนวนมากเพื่อใช้ให้เพียงพอในครอบครัว แต่ในปีนี้กลับต่างออกไป
“ปกติเวลาเรามาซื้อของที่นี่ เราจะซื้อยกโหล เพราะราคาประหยัดกว่า แต่ปีนี้ต้องซื้อแค่พอใช้ไปก่อน หมดแล้วค่อยเดินทางมาใหม่ เพราะเศรษฐกิจฝืดเคืองมาก เราต้องลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของเข้าบ้านเกือบครึ่งหนี่ง (เมื่อเทียบกับปีก่อน) เพราะต้องออมเงินไว้ใช้ให้ถึงสิ้นเดือน เราอยากให้ไทยมียุครุ่งเรืองเศรษฐกิจเหมือนเมื่อก่อน” ภาพร เล่า
ด้านเจ้าของกิจการร้านขายของตกแต่งปีใหม่อย่าง นวลพรรณ ลาภสมบูรณ์ดี เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเองเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวมาเป็นเวลานานและผันตัวมาเปิดร้านขายของตกแต่งตามเทศกาลมาในช่วง 6 ปี มานี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตนเองไม่เคยเห็นตลาดสำเพ็งเงียบเหงาซบเซาเท่าช่วงเวลานี้
“เมื่อก่อนที่นี่คนเบียดกันแทบเดินไม่ได้ แต่ตอนนี้ ทางโล่งเดินได้สบายมาก เราคิดว่าคนที่มาที่นี่หายไปกว่าครึ่ง ประชาชนเริ่มรัดเข็มขัด เราเห็นคนระมัดระวังในการจับจ่ายมาก ซื้อแต่ข้าวของจำเป็นเท่านั้น อย่างของตกแต่งตามเทศกาลที่ร้านเราขาย เมื่อก่อนคนจะซื้อยกโหล แต่ตอนนี้คนมาซื้อครั้งละ 2-3 ชิ้นเท่านั้น”
นวลพรรณ ยังย้ำอีกว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจในย่านการค้าแห่งนี้ซบเซามาจากหลายปัจจัย หนี่งในนั้นคือการตีตลาดของทุนจีนที่มีการตัดราคา และยังมีทางเลือกที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่า ทั้งการค้าขายออนไลน์ และการแปรเปลี่ยนจากผู้ค้าส่งเป็นผู้ค้าปลีกเสียเอง เห็นได้จากการมีผู้ค้าชาวจีนจำนวนมากตั้งแผงขายของในย่านสำเพ็งเคียงคู่พ่อค้า – แม้ค้าไทยที่อยู่มาตั้งดั้งเดิม
“เราอยากให้รัฐบาลแก้ไขจริงจังต่อเนื่อง ไม่ใช่การอัดฉีดเป็นระลอก มันคือการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และไม่ต่อเนื่องระยะยาว เหมือนลูกระเบิดที่ระเบิดออกมาครั้งเดียวแล้วเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว และต้องช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ว่าประชาชนแท้จริงแล้วต้องการอะไร” นวลพรรณ อธิบาย
และนี่คือเสียงจากประชาชนที่ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยทรุดหนักอย่างต่อเนื่องและไม่เห็นสัญญาณใด ๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตผู้ค้าดีขึ้นได้ ยังไม่นับรวมจากการแทรกแซงจากจีน แพลตฟอร์มออนไลน์ และอาจรวมถึงภาคการเมืองที่กำลงสร้างผลกระทบมหาศาล
เศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่ยังดีไม่พอ ? เมื่อสินค้า “จีน” เป็นปัจจัย
ด้าน ศ. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง วิเคราะห์ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่า มีความเป็นไปได้ที่ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 2.8%แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอาเซียนนั่นคือ 4.4% ซึ่งสะท้อนว่าไทยเติบโตช้า และช้าต่อเนื่องยาวนานถึง 20 ปีแล้ว
“ก่อนปี ค.ศ. 1990-2000 เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวได้ดีถึง 10% แต่หลังจากนั้นก็ลดลงเหลือเพียง 5% สิ่งนี้สะท้อนว่าขีดความสามารถเราลดลง เรามีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ คนรวยได้มาก คนจนได้น้อย และอีกส่วนหนึ่งคือ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้นสูงสุดในอาเซียน”
ในขณะที่การเข้ามาของผู้ค้ารายใหญ่อย่าง “จีน” ศ. สมชาย ยอมรับว่าภูมิรัฐศาสตร์นี้ กระทบต่อเศรษฐกิจของไทยไม่น้อย
“ช่วงปี ค.ศ. 2012 จีนรุ่งเรืองมาก เศรษฐกิจขยายตัวถึง 10% จนกระทั่งโควิดทำให้ลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือเพียงแค่ 4-5% ในปัจจุบัน และเมื่อความต้องการในประเทศลดลง ก็เน้นส่งออกมาก สินค้าทะลักออกมาสู่หลายประเทศรวมทั้งไทยด้วย”
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ศ. สมชาย มองว่าไทยต้องมีมาตรการการเก็บภาษีที่ต่อต้านการทุ่มตลาดของจีน แม้ตอนนี้จะมีการใช้กฎหมายตรวจสอบการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เข้ามานั้น ว่ามีการจดทะเบียนหรือถูกต้องตามกฎหมายแล้วนั้น แต่ยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะยังมีความกังวลเรื่องนโยบายทางต่างประเทศ
“การเล่นงานตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีแล้ว แต่ยังคงแก้ปัญหาไม่ทั้งหมด จำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างการแข่งขัน ปรับต้นทุน ผลักคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาไทยทำน้อยมาก ด้านหนี่ง ไทยจำเป็นต้องแข่งขันขันกับจีนให้ได้ และอีกด้านหนึ่ง ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการค้าของเขาด้วย (เช่น นำสินค้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มของจีน)”
การเมืองแทรกแซง รัฐแก้ปัญหาระยะสั้น – ปัจจัยเศรษฐกิจพัง
อีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจไทยคงหนีไม่พ้น การกุมบังเหียนของสององคาพยพหลักอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งบอร์ดบริหารในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่
ศ.สมชาย มองว่า โดยหลักการแล้ว ธปท. จำเป็นต้องเป็นอิสระจากดุลยพินิจทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง แต่ไม่ว่าอย่างไร จะโดนตรวจสอบโดยภาคประชาชนอยู่แล้วโดยกลไกของสังคม
“บอร์ดแบงค์ชาติมีหน้าที่ดูทุนสำรอง ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน นั่นหมายความว่าถ้าเขาใช้ดุลพินิจทางการเมืองมากเกินไป ภาคเอกชนจะเริ่มไม่พอใจ ทำให้เราได้เห็นแรงกดดันจากประชาชนที่มีให้ตลอด
“และหากยังมีการใช้ดุลพินิจดังกล่าวนั้นจะนำไปสู่ระดับที่น่ากลัวกว่านั้นและเป็นต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจ ดังเช่นเห็นในตัวอย่างของประเทศแถบละตินอเมริกา อย่าง เวเนซูเอลามาแล้ว และน่ายินดีที่ไทยเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น”
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ยังเน้นย้ำอีกว่า ไม่ว่าผลการเลือกบอร์ดบริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองให้ได้ และขอให้เน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวเป็นหลัก เพราะทั้งรัฐบาลและประเทศจะได้ประโยชน์ไปด้วยกัน ต่างจากระยะสั้น ที่รัฐบาลได้ประโยชน์ฝ่ายเดียวแต่กลับสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ การแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องยาก รัฐบาลแต่ละชุดที่ผ่านมาแทบไม่เคยทำได้สำเร็จ และเลือกจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นกันทั้งนั้น นี่จึงเป็นความท้าทายรัฐบาลชุดนี้