“ครม.เศรษฐา1” ความท้าทายแก้วิกฤตประเทศ

ราชดำเนินเสวนา ชี้ รัฐบาลใหม่มีความท้าทายหลายด้านหลังวิกฤตประเทศ ‘นักวิชาการ’ ห่วง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากไปทำเงินเฟ้อ ‘วีแฟร์’ แนะ รัฐบาลเศรษฐา ปฏิรูประบบภาษี สร้างรัฐสวัสดิการ

วันนี้ (3 ก.ย. 2566) ที่ทำการชั่วคราวสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา ครั้งที่ 1/2566 หัวข้อ “การบ้าน ครม.เศรษฐา 1 แก้วิกฤตประเทศ” เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการนำไปต่อยอดนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมจับตามองทิศทางของรัฐบาลเศรษฐาในการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ในสังคมไทย ที่อยู่ในสภาวะวิกฤตมายาวนาน

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย มองว่า มีฉากทัศน์เศรษฐกิจ 6 ด้าน ที่ถือว่าเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลเศรษฐา คือ 1. เศรษฐกิจไทยได้รับความบอบช้ำต่อเนื่องหลายปี 2. สภาพคล่องตัวและหนี้เปราะบางเป็นปัญหาของประเทศ 3. ส่งออกหดตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี 4. ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว 5. กำลังซื้ออ่อนแอ-กำลังการผลิตทรงตัวระดับต่ำ และ 6. ความสามารถในการฟื้นความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุน

ธนิต ชี้อีกว่านโยบายที่รัฐบาลใหม่ควรเร่งทำ ได้แก่ 1. การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Quick Wins ปัญหาคือเงินในมือของประชนส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่องจากรายได้ฝืด 2. การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนครัวเรือนและหนี้ธุรกิจ 3. การโปรโมทภาคการท่องเที่ยว เป็นภาคส่วนเดียวที่มีการฟื้นตัวชัดเจน และ 4. แก้ปัญหาส่งออกหดตัว คำสั่งซื้อลดลง

“เข้าใจว่ารัฐบาลเศรษฐามากับความท้าทาย มาภายใต้ความคาดหวัง แต่ก็ทำให้ขั้วที่แตกต่างทางการเมืองมาจับมือกันได้”

ธนิต โสรัตน์

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นการศึกษา ว่าการศึกษาที่สำคัญตอนนี้คือคนที่อยู่ในตลาดแรงงาน อย่างน้อย 12 ล้านคนในกลุ่มนี้ต้องได้รับการ up-skill และ re-skill แต่ยังไม่เห็นนโยบายพรรคไหนที่เน้นด้านนี้ เหตุที่ต้องผลักดันคนกลุ่มนี้เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ผลักดันประเทศต่อไป

ส่วนความเหลื่อมล้ำก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะเวลาเกิดวิกฤต จะพบว่าเด็กคนหนึ่งที่ครอบครัวประสบภัยด้านเศรษฐกิจก็ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ถ้าปัญหาไม่ถูกแก้ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นวิกฤตในอนาคตแน่นอน สถานการณ์ที่ดูเหมือนไม่เร่งรีบ แต่ก็ควรเร่งแก้เพื่อปลดล็อกสังคม

“คนไทยส่วนใหญ่ถ้าฐานะไม่มั่นคงพอ นั่นคือกลุ่มเปราะบางทั้งนั้น”

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

เกียรติอนันต์ กล่าวอีกว่า ต้องเริ่มตั้งคำถามยาก ๆ เกี่ยวกับกลุ่มการศึกษา ทำไมทุกคนต้องสอนซ้ำตามโมเดลการศึกษาในอดีต จำเป็นหรือไม่ที่ครูต้องสอนเหมือนกันหมด ดังนั้น คุณภาพการสอนจะประเมินเหมือนกันหมด แล้วเราถามหามาตรฐานการศึกษาของประเทศ การศึกษาคือการสร้างอนาคต ฉะนั้น กระทรวงการศึกษาธิการต้องหลุดออกจากกรอบเก่าให้ได้ก่อน ต้องถอยกลับมา ใช้กำลังของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดในการแก้ปัญหาการศึกษา ส่วนตัวคิดว่าต้องรอดูว่ารัฐบาลใหม่จะออกแบบวางแผนเรื่องการศึกษาอย่างไร

ด้าน นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงาน We Fair หรือ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม มี 9 ข้อเสนอให้กับพรรคการเมือง คือ 1. เงินอุดหนุนเด็ก เกิดไม่อด ลดรายจ่าย 2. การศึกษาฟรียกเลิกหนี้มีเงินเดือน 3. ระบบสุขภาพรวมสามกองทุนมาตรฐานเดียว 4. ที่อยู่อาศัยคุณภาพเข้าถึงได้ 5. แรงงานมีคุณค่ามีเวลา ดูแลครอบครัว 6. ประกันสังคมครอบคลุมคุ้มค่า 7. บำนาญถ้วนหน้า อิสรภาพวัยเกษียณ 8. สวัสดิการเสมอหน้าเท่าเทียม และ 9. ปฏิรูปภาษี มีเงินเพิ่ม เติมงบสวัสดิการ

สำหรับภาพรวมของนโยบายพรรคการเมืองต่าง ๆ นิติรัตน์ เห็นว่าควรจะเป็นเชิงรัฐสวัสดิการ สาเหตุที่ต้องไปในเชิงรัฐสวัสดิการ เนื่องจากสถานการณ์ความยากจนในสังคมไทย อยู่ในสถานการณ์ส่งต่อความจน ส่วนความเหลื่อมล้ำนั้นติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

หากนำงบประมาณ 560,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินดิจิทัล เป็นตัวตั้ง ตัวรัฐบาลควรมีการปฏิรูปของระบบภาษี ภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีความมั่งคั่ง ซึ่งก็เป็นข้อเสนอของธนาคารโลก ภาษีจากการซื้อขายที่ดินหรือตลาดหุ้นต่าง ๆ ต้องหยิบยกประเด็นนี้มาพูด เพราะตัวตั้งของงบประมาณที่จะใช้จ่ายก็มาจากภาษีอากรของประชาชน ซึ่ง นิติรัตน์ ได้ยกตัวอย่างและเปรียบเทียบว่างบประมาณนี้จะใช้เป็นสวัสดิการอะไรได้บ้าง เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด อาหารกลางวันฟรี เรียนฟรี รักษาสุขภาพถ้วนหน้า เงินอุดหนุนคนพิการ บ้านเช่ามาตรฐานราคาถูก และขนส่งสาธารณะ อาจจะให้บทบาทแก่ท้องถิ่นในการลงทุนด้วย เป็นต้น

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่าระยะยาวเรื่องทิศทางของประเทศไทย และความท้าทายในรัฐบาลเศรษฐา ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมามีนัยสำคัญว่าจะเห็นนโยบายใหม่เข้ามามากขึ้น เนื่องจากผลการเลือกตั้งมีการข้ามจากขั้วอนุรักษ์นิยมไปเป็นเสรีนิยมมากขึ้น

นอกจากนี้ นณริฏ มองว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ในทางวิชาการจะเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจไทยที่ควรจะเป็น ถ้ากระตุ้นเยอะไปก็อาจทำให้เงินเฟ้อ

ส่วนเรื่องหนี้ นั้นมีความน่ากังวลใจ เพราะหนี้ครัวเรือนของประชาชนมีถึงร้อยละ 90 บางคนไม่มีเงินออม ต้องเพิ่มเรื่องของการสร้างเงินออมให้มากขึ้น หัวใจสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือการเน้นการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ต้องให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการกระจายทรัพยากร

ส่วนเรื่องการต่อยอดสวัสดิการแห่งรัฐที่คนยังหลุดรั่วออกจากระบบ บางคนไม่ได้ถือบัตร เมื่อรัฐแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาช่วงหนึ่งแล้ว ก็ควรส่งเสริมให้ประชาชนยืนด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่การแจกเงินเท่านั้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active