“บัตรสวัสดิการผู้ค้า-ธนาคารเพื่อผู้ค้า” ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตหาบเร่แผงลอย เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นธรรม 1 น 5 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายแก้ปัญหาประเทศจากหลักสูตร PPCIL รุ่น 6
วันนี้ (7 ก.ย.2567) ท่ามกลางปัญหาที่ท้าทายของสังคมไทย ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ปัญหาการว่างงาน ทำให้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้พยายามแสวงหาความร่วมมือเพื่อสร้างนวัตกรรมทางนโยบายขึ้นมาแก้ปัญหาเหล่านี้ ผ่านการจัดหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 6
โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย NIA จัดพิธีปิดหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของภาครัฐและเอกชน รุ่นที่ 6 (PPCIL#6) โดยหลักสูตรนี้มุ่งเน้นไปที่การสร้างศักยภาพผู้นำ บ่มเพาะทักษะและกระบวนทัศน์จนเกิดเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเชิงนวัตกรรม เกิดการทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย และพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรมในทุกมิติ
กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า หลักสูตร PPCIL ต่อเนื่องมาจนถึงรุ่นที่ 6 เนื่องจากเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยในครั้งนี้ มุ่งปรับเปลี่ยนชุดความคิดของกลุ่มผู้บริหารระดับกลางที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดสู่ผู้บริหารระดับสูง เพื่อวางรากฐานการคิดนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation) ให้เกิดเป็นข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญของประเทศ สามารถให้ผู้เข้าอบรมสามารถออกแบบนวัตกรรม และวางแผนการจัดการเชิงนโยบาย โดยคาดการณ์ร่วมกับหลักการออกแบบนโยบายที่ต้องเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อสร้างแนวปฏิบัติความร่วมมือแบบใหม่ เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ
“NIA ภายใต้บทบาทผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม หรือ Focal Conductor ให้ความสำคัญในการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อยกระดับทักษะและความสามารถทางด้านนวัตกรรม ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบหลายมิติ ทั้งเครือข่าย นวัตกร และองค์กรแห่งนวัตกรรม ดังนั้น การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Maker) จากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคความมั่นคง ภาคการเมือง และสื่อมวลชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเร่งขับเคลื่อนประเทศในอนาคต”
กริชผกา บุญเฟื่อง
เมื่อประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาจึงเกิดเป็น 5 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย
ด้วยความหลากหลายของปัญหาในประเทศไทยที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ผู้เข้าร่วมอบรมจึงมีข้อเสนอเพื่อที่จะช่วยผลักดันและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วย 5 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย จากผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 85 คน ทั้งภาครัฐ 35 คน, ภาคเอกชน 39 คน, ภาคความมั่นคง 5 คน, ภาคการเมือง 1 คน และภาคสื่อมวลชน 5 คน โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่ม APOLLO : Street food ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ
ปัญหาที่พบจนทำให้เกิดเป็นข้อเสนอนี้คือ 80% ของต้นตอโรค NCDs คือ อาหาร ซึ่งสำหรับคนกรุงเทพฯ มีการกินอาหารริมทาง (Street food) ถึงร้อยละ 20 ของการกินอาหารประจำทั้งหมด หรือ 2-4 ครั้งต่อสัปดาห์
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนห่างไกลจากโรค NCDs รวมทั้งสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารริมทาง จึงมีข้อเสนอให้มีการยกระดับคุณภาพโภชนาการของอาหารริมทาง (Street food) โดยมี Sandbox Model ซึ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ เริ่มตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ มีมาตรฐานควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สามารถสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ จนเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
2.กลุ่ม CHANG’E : อาชีวะเลือดใหม่ เศรษฐกิจไทยไปโลด
ปัญหาหนึ่งที่พบสำหรับกลุ่มนี้คือ “งานว่างคน คนว่างงาน” เนื่องจากปัจจุบันประชากรรุ่นใหม่ยังขาดทักษะที่ตรงกับงาน โดยผู้ประกอบการในไทยพบว่า 43% ของบุคลากรยังขาดแรงงานที่มีความสามารถ จึงไม่ต้องการลงทุนด้านนวัตกรรมในประเทศ
ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับการสร้างทักษะบุคลากรไปสู่งานแห่งอนาคต จึงควรมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของความร่วมมือทุกภาคส่วน สร้าง Global Workforce สมรรถนะสูง เพื่อให้เกิด Lifelong Learning เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เพื่อให้บุคลากรมีทักษะและความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน
3.กลุ่ม MILLENIUM FALCON : สร้างภูมิคุ้มกันให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี
สถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่าผู้สูงวัยถูกหลอกหรือผู้สูงวัยมีการแชร์ Fake News มากที่สุด จนประเทศไทยเป็นอันดับ 6 ของโลกที่มีอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 7,100 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการปรับตัวของมิจฉาชีพที่พร้อมจะหากลยุทธ์ใหม่ ๆ มาเพื่อหลอกลวงผู้สูงวัยอยู่เสมอ
ดังนั้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้อย่างเท่าทันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงมีข้อเสนอให้นำ AI มาใช้ในการเรียนรู้ พัฒนาโปรแกรมการศึกษา จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล สนับสนุนและปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้น บนหลักการ “Competency Base Learning” เพื่อให้คนสูงวัยอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยให้เทคโนโลยีเป็นส่วนสร้างเสริมศักยภาพ และเป็นส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาสังคม
4.กลุ่ม VIKING : D-Baht คนไทย โอนเงินมั่นใจ ต้านภัยไซเบอร์
ปัญหาการโอนเงินโดยไม่รู้ว่าเงินที่โอนนั้นถูกโอนไปยังบัญชีที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งโอกาสในการได้เงินคืนนั้นมีเพียง 1.2% จนทำให้ปัจจุบันนี้เกิดมูลค่าความเสียหายกว่า 69,000 ล้านบาท และมีคดีฉ้อโกงออนไลน์ถึง 612,603 คดี ส่งผลให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือจากนักลงทุนติดลบ 40%
ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล รวมถึงลดปัญหาดังกล่าวให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เข้าถึงง่าย และปลอดภัย จึงมีข้อเสนอให้ใช้ D-Bath เงินรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางที่รองรับการเขียนโปรแกรมที่สามารถสร้างระบบ Programmable Money หรือ การโอนเงินที่มีการกำหนดเงื่อนไขอัตโนมัติ โดยสามารถแจ้งเตือน ตรวจสอบ และติดตามได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกฉ้อโกงทางออนไลน์
5.กลุ่ม VOYAGER ยกระดับคุณภาพชีวิตหาบเร่แผงลอย เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นธรรม
ชีวิตของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่คนเหล่านี้ยังขาดความมั่นคงด้านอาชีพ และมีจำนวนมากที่รอให้รัฐเข้ามาช่วยดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นปัญหาที่จะต้องมีนโยบายสาธารณะในเชิงนวัตกรรมเพื่อแก้ไข โดยมีการพัฒนาทักษะและการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ 3 ทางออก ดังนี้
- บัตรสวัสดิการผู้ค้า เพื่อให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมีโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- ธนาคารเพื่อผู้ค้า ให้มีธนาคารเฉพาะกลุ่มที่เป็น “ฐานราก” เพิ่มสภาพคล่องตัวของการเงินและมีทุนหมุนเวียนให้เป็นการค้าขายแบบยั่งยืน
- สำนักงานเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นธรรมแห่งชาติ เพื่อให้มีหน่วยงานคอยเป็นผู้กำกับที่คอยควบคุมและเป็นตัวแทนของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในการเรียกร้องหรือเจรจากับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อสร้างอนาคตให้ทุกครอบครัวฐานรากมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยมาตรการที่เป็นธรรมและความยั่งยืน ด้วยหลักคิด “ใหญ่ช่วยเล็ก เล็กช่วยชาติ”
จากทั้ง 3 ทางออกดังกล่าว นอกจากจะเป็นการปรับภาพลักษณ์ สร้างมาตรฐานบริการ และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าที่เพิ่ม GDP ดึงดูดนักลงทุน และนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีส่วนช่วยประเทศให้เกิดเศรษฐกิจรากฐานที่เป็นธรรมอีกด้วย
BEST OF THE BEST AWARD : ยกระดับคุณภาพชีวิตหาบเร่แผงลอย เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นธรรม จากกลุ่ม VOYAGER
ในการนำเสนอครั้งนี้จะมีการตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย ดังนี้
หลักเกณฑ์ในการพิจารณา
- ความชัดเจนและความเข้าใจปัญหา (20 คะแนน)
- ผลกระทบของนวัตกรรมยโยบาย (20 คะแนน)
- ความเป็นไปได้ในการเกิดผลลัพธ์ (20 คะแนน)
- ความเป็นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ (20 คะแนน)
- ความสอดคล้องขององค์ประกอบภายใน (10 คะแนน)
- การนำเสนอ (10 คะแนน)
โดยมีคณะกรรมการทั้งจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
โดยข้อเสนอ “ยกระดับคุณภาพชีวิตหาบเร่แผงลอย เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นธรรม” จากกลุ่ม VOYAGER ได้รับรางวัลชนะเลิศ BEST OF THE BEST AWARD เพราะสามารถนำเสนอปัญหาได้ชัดเจน
วชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้ความเห็นว่า เป็นสิ่งที่ทาง สสว. กำลังต้องการแก้ปัญหา เพราะจากฐานข้อมูลของผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านต่อปี มีประมาณ 2.8 ล้านราย จากทั้งหมด 3.2 ล้านราย ซึ่ง สสว.พยายามที่จะลงไปถึงฐานราก เช่นเดียวกับข้อเสนอของกลุ่ม VOYAGER แต่ยังคงมีอุปสรรคที่ทำให้ไปไม่ถึงข้อมูลผู้ค้าเหล่านี้ ซึ่งถ้าหากมีข้อมูลเพียงพอและสามารถเข้าถึงผู้ค้าหาบเร่แผงลอยได้ จะเป็นการช่วยยกระดับผู้ค้ารายย่อยอย่างหาบเร่แพงลอยได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจาก วันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ว่า ต้องการเห็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะต้องมองเพิ่มอีกว่าใครบ้างจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มากน้อยแค่ไหน และความเป็นไปได้เรื่องงบประมาณในการขับเคลื่อนที่ต้องมองถึงความเพียงพอในการช่วยผลักดันให้นโยบายนี้สำเร็จได้ ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่จะต้องคำนึงอย่างมาก
ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังคงมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดนโยบายนี้ เพราะยังมีอุปสรรคเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ค้า ผู้ช่วยค้า ร้านค้า และแรงจูงใจจากผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่จะเข้าร่วมลงทะเบียน ซึ่งหากต้องการผลักดันให้ข้อเสนอนี้ไปต่อได้ จะต้องมีการวิเคราะห์และหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ
สำหรับรางวัลอื่น ๆ จากการนำเสนอข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายทั้ง 5 กลุ่ม ประกอบไปด้วยรางวัล ดังนี้
- รางวัล Excellence in high impact policy ได้แก่ อาชีวะเลือดใหม่ เศรษฐกิจไทยไปโลด จากกลุ่ม CHANG’E
- รางวัล Outstanding people-driver policy ได้แก่ สร้างภูมิคุ้มกันให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี จากกลุ่ม MILLENIUM FALCON
- รางวัล Novel solution policy ได้แก่ D-Baht คนไทย โอนเงินมั่นใจ ต้านภัยไซเบอร์ จากกลุ่ม VIKING
- รางวัล Feasible and practical policy solution ได้แก่ ยกระดับคุณภาพชีวิตหาบเร่แผงลอย เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นธรรม จากกลุ่ม VOYAGER
- รางวัล Thought and cohesive policy ได้แก่ Street food ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ จากกลุ่ม APOLLO
- รางวัล Best in class PPCIL#6 ได้แก่ D-Baht คนไทย โอนเงินมั่นใจ ต้านภัยไซเบอร์ จากกลุ่ม VIKING
ทั้งนี้ จะเห็นว่าข้อเสนอนวัตกรรมนโยบายจากทั้ง 5 กลุ่มที่ได้นำเสนอครอบคลุม 4 ประเด็น ไม่ว่าจะเป็น (1) นวัตกรรมพัฒนากำลังคน (2) นวัตกรรมความมั่นคงทางเทคโนโลยี (3) นวัตกรรมด้านสาธารณสุข และ (4) นวัตกรรมเศรษฐกิจ ซึ่ง กริชผกา กล่าวในช่วงท้ายว่า สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นความท้าทายของประเทศไทยที่ที่ NIA พร้อมส่งเสริม เชื่อมโยง และสนับสนุนนวัตกรรมเชิงนโยบายจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับพัฒนาการของประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายจากผู้เข้าร่วมอบรม PPCIL รุ่นที่ 6 จะเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ถูกนำไปส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปร่วมกัน