พร้อมกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าบนหลังคาให้ชัด จี้รัฐหนุนงบฯ ติดตั้งโซลาร์เซลล์แก่ประชาชน ขณะที่ ผู้ประกอบการ หวั่น หากไทยยังใช้ไฟฟ้าจากฟอสซิล อาจเป็นอุปสรรคแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ๆ
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 67 JustPow ร่วมกับ เครือข่ายจากภาคส่วนต่าง ๆ รวม 13 องค์กร จัดเวที “เสียงจากประชาชน 5 ภูมิภาค ต่อร่างแผน PDP2024” เพื่อนำเสนอความคิดเห็น และเปิดผลโหวตของประชาชนทั่วประเทศต่อร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2567 (PDP2024)
ธัญญาภรณ์ สุรภักดี ผู้ประสานงาน JustPow ระบุว่า สืบเนื่องจากการที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยร่างแผน PDP2024 ในวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น 4 ภูมิภาคในรูปแบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 อย่างทั่วถึง JustPow จึงจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของประชาชนทั้ง 5 ภูมิภาค โดยมีกระบวนการโหวต 13+1 ข้อเสนอจากร่างแผน PDP และระดมข้อเสนอต่อร่างแผน PDP2024 เป็นรายภูมิภาคในช่วงระหว่างวันที่ 18 มิ.ย. – 25 ก.ค. 67
จากผลโหวตต่อร่างแผน PDP2024 พบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมเวทีจากทุกภาคต้องการให้ทบทวนร่างแผน PDP2024 และขยายเวลารับฟังความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนมากกว่านี้ ขอให้เพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากกว่า 16% และต้องกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาให้ชัดเจน
พร้อมขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ให้โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งในชุมชนและต้องมีการประเมินศักยภาพเชื้อเพลิงว่าเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าหรือไม่
ทั้งนี้ ตัวแทนประชาชนจากภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เสนอให้หยุดสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซเพิ่ม เพราะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกินอยู่แล้ว
ประชาชนภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประชาชน ภาคเหนือ เสนอให้ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน และประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสนอให้หยุดซื้อไฟฟ้าจากลาวและหยุดการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง
วอนเพิ่มสัดส่วนหนุนใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ณรงค์ชัย เหมสุวรรณ เกาะจิกรีชาร์จ สเตชั่น ตัวแทนภาคตะวันออก ซึ่งดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และใช้ภายในเกาะจิก จ.จันทบุรี ได้ถึง 95% เสนอให้ร่างแผน PDP2024 เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าให้มากกว่า 16% เพราะด้วยสัดส่วนเพียง16% จะทำให้ไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ใน ปี 2608 ได้ตามแผน นอกจากนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องต่อสู้ตามลำพังในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจึงเห็นว่า ควรลดหรือยกเลิกการนำเข้า LNG แล้วรัฐควรสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์อย่างจริงจัง ต้องการให้รัฐสนับสนุนงบประมาณสำหรับต้นทุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์แก่ประชาชนในสัดส่วน 60 ต่อ 40 เพื่อให้สามารถลดโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังกังวลที่ร่างแผน PDP กำหนดไว้ว่าจะใช้อุปกรณ์เก็บกักคาร์บอนซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและอาจกลายเป็นภาระประชาชน
หวั่นใช้พลังงานฟอสซิล กระทบการแข่งขันทางธุรกิจ
มนัสวัฑฒก์ ชุติมา ผู้ประกอบการ Old Chiangmai ตัวแทนภาคเหนือ เสนอว่า ไม่ควรกำหนดแผน PDP แบบเหมารวม เพราะแต่ละภาคมีลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์และพื้นที่แตกต่างกัน แต่ต้องรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่ ในส่วนของผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้า ทั้งที่อุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคเหนือเป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้ประเทศมายาวนาน ผู้ประกอบการในภาคเหนือแทบจะไม่รู้เกี่ยวกับแผน PDP เลย ไม่รู้ว่าในปี 2580 ยังจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่สัดส่วน 7% การที่ยังใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ในขณะที่ยุโรปเริ่มตั้งกำแพงภาษีคาร์บอน หรือการบรรลุข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อุปสรรคเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งในภาคเหนือและทั้งประเทศไทยในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก
เสนอปรับเกณฑ์กำลังการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล
เอิบ สารานิตย์ กลุ่ม Saveนาบอน ตัวแทนภาคใต้ ต้องการให้รัฐบาลทบทวนแผน PDP ใหม่ ที่ภาครัฐเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นมีผู้เข้าถึงเพียงพันกว่าคน ทั้งที่มิเตอร์ไฟฟ้ามีกว่า 30 ล้านเครื่อง ปัจจุบันนโยบายด้านพลังงานเป็นการผูกขาดจากภาครัฐและภาคเอกชน แต่ต้องเป็นการกระจายอำนาจ สำหรับกลุ่ม Save นาบอน กังวลผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเสนอให้กำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ให้เกิน 2 เมกะวัตต์ มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการไฟฟ้าในชุมชน
กังวลยิ่งซื้อไฟฟ้า ยิ่งต้องสร้างเขื่อนในลาวเพิ่ม
ขณะที่ สดใส สร่างโศรก เครือข่ายจับตาน้ำท่วมและเขื่อนแม่น้ำโขง จ.อุบลราชธานี ตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บอกว่า ภายใต้แผน PDP2018 ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประชาชนก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ได้แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มั่นคง แต่ชีวิตชาวบ้านไม่มั่นคง และถูกละเมิดสิทธิที่บ้านของตนเอง ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลทำให้มีการนำเข้าขยะ 450 ตันต่อวันเพื่อมาผลิตไฟฟ้าในชุมชน การที่ร่างแผน PDP2024 ระบุว่าจะซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ สามารถนำไปสู่การสร้างเขื่อนในลาวเพิ่ม และน่ากังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสายต่าง ๆ ในประเทศ เช่น แม่น้ำโขง ต้องทบทวนและถอดถอนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและการจัดหาไฟฟ้าที่กระทบประชาชน
ห่วงโรงไฟฟ้าก๊าซกระทบภาคเกษตร
เช่นเดียวกับ สุรินทร์ แก้วคำ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี ตัวแทนภาคตะวันตก ที่ไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าก๊าซเพิ่มแล้ว เพราะจากประสบการณ์ของคนราชบุรีที่มีโรงไฟฟ้าจำนวนมาก ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าก๊าซ เป็นต้นว่าข้าวไม่ออกรวง ผลผลิตไม่ออกผล รวมถึงส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ตนเองไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงยังมีแผนที่จะเพิ่มโรงไฟฟ้าในราชบุรีอีก ทั้งที่ประชาชนไม่ได้เรียกร้อง จึงเห็นว่า ภาครัฐต้องทบทวนร่างแผน PDP ใหม่ ขณะเดียวกันราชบุรีก็มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเสนอให้รัฐสนับสนุนงบประมาณสำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ในท้องถิ่น ทั้งการจัดหาพื้นที่ และการบริหารจัดการโดยท้องถิ่น
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนายังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เช่น ตัวแทนประชาชนจากชุมชนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เสนอว่า อยากเห็นแผนปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะอย่างเป็นทางการ ว่า จะรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ที่ผ่านมา คนแม่เมาะก็ต้องจ่ายค่าไฟในราคาเดียวกับคนทั้งประเทศ ทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ตัวแทนประชาชนจากปราจีนบุรี บอกว่า คำสั่ง คสช.ที่ให้โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งในชุมชนเป็นปัญหาสำคัญที่สุด ต้องยกเลิกเป็นอันดับแรก ไม่ควรมีโรงไฟฟ้าขยะในชุมชน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแผน ที่ผ่านมาประชาชนถูกปิดปาก จากประสบการณ์ตนเองพบว่า ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพบว่า ประชาชนถูกปิดปาก ซึ่งมีแต่ผู้ที่เห็นด้วยเท่านั้นจึงจะเข้าไปรับฟังความคิดเห็นได้
ตัวแทนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เขื่อนที่สร้างในประเทศลาวไม่ได้เรียกว่าความมั่นคง เพราะในอนาคตอาจมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้องจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะมั่นคงจริง
ขณะที่ตัวแทนจากภาคตะวันตก ตั้งคำถามว่า เหตุใดประชาชนซึ่งต้องจ่ายค่าไฟในราคาแพงแต่ไม่มีสิทธิต่อรอง
ขณะเดียวกันตัวแทนประชาชน 5 ภูมิภาค ยังได้ส่งหนังสือเชิญ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มารับข้อเสนอที่รวบรวมมาจากเวทีทั่วประเทศ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมารับหนังสือจากประชาชนภายในงานได้ และทางกระทรวงพลังงาน ก็ไม่สามารถส่งตัวแทนมาได้เช่นเดียวกัน
ตัวแทนประชาชนจาก 5 ภูมิภาค จึงตัดสินใจเดินทางไปที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมยื่นข้อเสนอถึงความเป็นไปได้ในการขยายเวลาทบทวนร่างแผน PDP2024 ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของประชาชนทั้ง 5 ภูมิภาค โดยมี สาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการ สนพ. เป็นตัวแทนรับหนังสือและข้อเสนอดังกล่าว พร้อมทั้งชี้แจงว่า การรับฟังข้อเสนอจากประชาชน ผู้ทำแผนฯ พยายามเปิดรับฟังอยู่ แต่อาจยังไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ การตัดสินใจต่อร่างแผน PDP ไม่ใช่บทบาทของ สนพ. หน่วยงานเดียวเพียงเท่านั้น โดยจากนี้จะนำข้อเสนอที่ประชาชนมายื่นในวันนี้เสนอต่อคณะกรรมการที่มีส่วนตัดสินใจ และเมื่อมีการตัดสินใจอย่างไรก็จะพยายามชี้แจงถึงเหตุผลของการเลือกและไม่เลือกในประเด็นต่าง ๆ ทั้งนี้ย้ำว่า จะยังคำนึงถึงหลักการเรื่องความมั่นคงของไฟฟ้า ต้นทุนที่เหมาะสมและตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม