เปิด 5 ข้อเสนอผลักดัน ‘ค่าไฟ’ ที่แฟร์ต่อประชาชน

เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม เรียกร้องค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและสร้างความยั่งยืน จากกรณีค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปรในไทยพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี

วันนี้(10 ส.ค. 2566) เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์หัวข้อ ‘ค่าไฟต้องแฟร์’ พร้อมจดหมายเปิดผนึกร่วมกันของภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชน ที่มีต่อนโยบายพลังงาน เพื่อค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและสร้างความยั่งยืน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มุ่งสื่อสารข้อเสนอภาคประชาสังคมและเอกชนถึงรัฐบาลใหม่ ให้แก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าที่ถูกลง เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย และสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทย จากกรณีที่ค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปรในไทยพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี ส่งผลให้ค่าไฟแตะ 4.77 บาทต่อหน่วยในเดือนเมษายน 2566 (ปัจจุบันลดลงเหลือ 4.45 บาทต่อหน่วย) ดังนี้

  1. หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อหยุดการนำภาคธุรกิจและภาคประชาชนไปแบกรับภาระในแต่ละ สัญญาที่ผูกมัดยาวนาน 25 – 35 ปี จนกว่าโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่มีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเดินเครื่อง และจนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน แล้วจึงนำกลับมาให้รัฐบาลพิจารณา
  2. เร่งเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า กับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ บนหลักการที่เสรี เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและครอบคลุมทั้งประเทศ ได้แก่ การส่งไฟฟ้ามากับระบบสายส่งได้ไม่จำกัด โดยหน่วยไฟฟ้าที่ไม่เกินการใช้เองในแต่ละเดือน มีราคาเดียวกับที่การไฟฟ้าจำหน่ายให้ ส่วนไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้เองในแต่ละเดือน มีราคาเดียวกับราาคาไฟฟ้าที่ขายส่ง และหากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใดเข้าเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องบันทึกการซื้อกับการขายไฟฟ้าแยกออกจากกัน
  3. เปิดรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต่อร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และร่างแผนพลังงานอื่น ๆ ได้แก่ แผนพลังงานหมุนเวียน แผนประสิทธิภาพพลังงาน แผนก๊าซธรรมชาติ และแผนน้ำมัน แล้วจึงจะนําเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและตัดสินใจของรัฐบาลต่อไป โดยกระทรวงพลังงาน จําเป็น ต้องให้ข้อมูลในรายละเอียดอย่างครบถ้วน และเข้าถึงได้ง่ายโดยมีระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนการรับฟัง ความคิดเห็น และนําผลของการรับฟัง ความคิดเห็น เข้าสู่กระบวนการพิจารณาและตัดสินใจของรัฐบาลอย่างครบถ้วน สมเหตุสมผล และทวนสอบได้
  4. พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีอยู่ ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทําให้ไม่ต้องมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับภาครัฐอีกต่อไป โดยดําเนินการควบคู่กับการ เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟา้เดิมที่ลงนามไปแล้ว เพื่อลดภาระค่าความพร้อมจ่าย (AP หรือ CP) ภาระไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take-or-Pay) และอัตรากําไร (IRR) ของโรงไฟฟ้าเอกชนที่สูงเกินควร บนหลักการที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมต่อภาคธุรกิจและภาคประชาชน
  5. นําต้นทุนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซที่มี ราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย และ ก๊าซจากพม่าไปคิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็น บริการสาธารณะ แล้วนําต้นทุนก๊าซ ที่มีราคาแพงกว่า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาตเิหลว (LNG) นําเข้าที่อิงราคาตลาดโลก ไปคิดเป็น ต้นทุนสําหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัย Fair Finance Thailand กล่าวว่า ความคืบหน้าเล็ก ๆ ที่น่าจับตาคือการที่คณะกรรมการกำกับกิจกรรมพลังงานได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรื่องแนวทางการลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติเพื่อลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยระบุว่าทุกวันนี้โครงสร้างการขายส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างการซื้อขายระหว่าง ปตท.​ กับโรงแยกก๊าซใช้ราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มีราคาถูก ทำให้โรงแยกก๊าซมีสิทธิ์ที่จะใช้ก๊าซในราคาที่ถูกกว่า เพื่อให้การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ก๊าซในทุกภาคส่วน เห็นควรมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีการปรับราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซให้ใช้ราคาที่รวมก๊าซจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย จะส่งผลให้ราคาก๊าซโดยรวมลดลง เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“ถือเป็นความคืบหน้าจากสถานการณ์เดิมที่ไม่เคยพูดถึงเลย ซึ่งหนังสือนี้อยู่ที่โต๊ะรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน จึงต้องติดตามกันว่าเมื่อไหร่จะมีรัฐมนตรีคนใหม่มา หรือคนเก่าไม่ทราบ ก็ชวนติดตามกันว่า กกพ. เสนอมาแล้วจะดำเนินการต่ออย่างไร และเวลานี้เราจะต้องเลิกคิดว่าเราทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่เราต้องการคือโครงสร้างการจัดการพลังงาน ระบบที่เปลี่ยนจากการรวมศูนย์มาเป็นการกระจาย และให้มีการตรวจสอบโปร่งใส ทันสมัยและสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในยุคโลกร้อน เพื่อดีต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นภาครัฐเองก็ต้องผลักดันเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า การปฏิรูปโครงสร้างไฟฟ้ามีส่วนสำคัญตั้งแต่ระดับโลกจนถึงระดับท้องถิ่น เพราะอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นแตะ 1.5 องศาแล้ว ยังพบว่าทั่วโลกมีการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 80 % แม้ว่าจะมีความพยายามพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลอยู่ราว ๆ 70-80 % ซึ่ง 80 % ของภาวะโลกร้อนของโลกก็มีจากการใช้พลังงาน ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ แผนการลดคาร์บอน แก้วิกฤตโลกร้อนทั้งหมดมีความหมาย

“ความไม่แฟร์ของไฟฟ้าจึงเท่ากับว่าไม่แฟร์สำหรับโลกด้วย ชุมชนต่าง ๆ จำนวนมากต้องเดือดร้อนจากการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ สิ่งที่ต้องตระหนัก ระมัดระวังคือการพยากรณ์เป้าหมายการใช้พลังงาน กำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP โดยระบุว่าเราจะเติบโตขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้และต้องผลิตไฟฟ้าให้สูงขึ้นตาม การพยากรณ์แบบนี้มีการอิงกับกลุ่มทุนและผลประโยชน์ เป็นการประเมินที่สูงเกินความเป็นจริงมาก ขณะที่เศรษฐกิจ การลงทุนแบบนี้ จะเป็นไปได้อย่างไร และเมื่อเปิดแผนการลดคาร์บอน บอกว่าจะลดลงเท่านั้นเท่านี้ พอเอามาคำนวนจริง ก็อาจจะแปลว่ารัฐไม่ต้องทำอะไรเลย เดี๋ยวนี้ทุก บ.พลังงานบอกว่าจะเป็น Carbon neutrality ขณะที่ไทยยังลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้ลิกไนต์และการลดคาร์บอนจะเป็นแค่มายาคติ”

อธิราษฎร์ ดำดี ตัวแทนเกษตรกรสวนปาล์ม และผู้ประกอบการ SMEs ปาล์ม จ.กระบี่ สะท้อนว่า การที่เราต้องพยายามต่อสู้ ทำให้ภาคเกษตร ภาคประชาชนต้องดิ้นรน พยายามหาแนวทางพึ่งพาตัวเองมากขึ้น หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น เพราะว่าเราถูกถีบส่ง ทำให้เจอกับปัญหาค่าไฟแพง โชคดีที่ปัจจุบันก็มีอุปกรณ์เพื่อเอื้อต่อการผลิตพลังงานได้มากขึ้นเพื่อทำให้เราอยู่ได้ ขณะที่การไฟฟ้าเองก็ไม่เป็นธรรมต่อการซื้อขายไฟฟ้าคืนกลับ สะท้อนว่าเราไม่ได้มีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ สร้างระบบที่กดทับประชาชนเอาไว้

“ไม่ใช่แค่กระบี่ที่พยายามผลิตพลังงานใช้เอง เรามีเรือท่องเที่ยวที่เป็นไฟฟ้าชุมชน ในเมื่อประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองแล้ว ก็ควรมีระบบที่เป็นธรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพื่อแสดงความจริงใจของรัฐบาล แล้วส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพึ่งพาพลังงานด้วยตัวเองของภาคประชาชนด้วย”

ชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์ บริษัท Dot to Dot & Co จ.ระยอง กล่าวว่า เราเคยไปสำรวจพื้นที่เพื่อตรวจสอบสารเคมีอันตรายในที่สาธารณะ โดยพบสาร VOC หรือ Volatile organic Compounds (คือกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอได้ง่าย กระจายตัวไปในอากาศได้ในอุณหภูมิและความดันปกติ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักของสาร ได้แก่ อะตอมของธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และมีองค์ประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ออกซิเจน ฟลูออไรด์ คลอไรด์ โบรไมด์ ซัลเฟอร์ และไนโตรเจน) และมีผลกระทบต่อสาธารณะสุข-สุขภาพประชาชนในพื้นที่

“คนระยองมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ และมีสถิติป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งปอด เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จากการที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันยังพบว่ามีหลายพื้นที่ ที่โรงไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เช่น ชุมชนคาเซ ไม่มีไฟฟ้าใช้มา 50-60 ปีแล้ว เนื่องจากมีข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทำให้ต้องผลิตพลังงานด้วยตัวเอง และยังพบว่าการที่รัฐไม่จริงจังกับระบบพลังงานหมุนเวียน เท่ากับว่าผลักนวัตกรรมดี ๆ ที่ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตพลังงาน มีความมั่นคงทางพลังงาน แทนที่จะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงสาธารณูปโภคที่ดีได้ ก็ผลักให้ห่างออกไปไกล”

บุญยืน ศิริธรรม ประธานองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้มีอำนาจของประเทศไทยเข้าตำรามือถือสากปากถือศีล ปากบอกว่ารักประชาชน แต่ตรากฎหมายเอื้อนายทุน เมื่อก่อนจะมีการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ก็บอกว่าทำเพื่อความเจริญของประเทศ แต่กลายเป็นว่าคนไทยต้องแบกรับความรับผิดชอบในธุรกิจการขุดเจาะ มีนโยบายประกันราคาก๊าซ ปล่อยราคาลอยตัว ไปผ่านการขนส่งจากต่างประเทศ ทำให้ราคาก๊าซแพงมากขึ้น แล้วก็ไปเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาสมทบ ซึ่งกระทรวงพลังงาน กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่รับฟังเสียงประชาชน ไปรับฟังนักวิชาการที่อิงประโยชน์กับกลุ่มทุน ไม่ใช่นักวิชาการที่ยืนเคียงข้างประชาชน เราให้อำนาจรัฐในการลงนามซื้อ ลงนามลงทุน ซึ่งการลงนามแต่ละครั้งผูกคอประชาชนไปด้วยทุกครั้ง

“เรื่องสำคัญที่สุดคือ คุณทำให้ก๊าซมีราคาแพง เราขุดเจาะได้ในบ้านเราแทนที่จะราคาถูก แต่เอาก๊าซที่ได้ไปให้ปิโตรเคมีใช้ก่อนในราคาที่ไม่เสียภาษี ถูกกว่าชาวบ้าน แล้วให้การไฟฟ้าซื้อในราคาแพงกว่า พอมาผลิตเป็นไฟฟ้าให้ประชาชน แบบนี้มันจะราคาถูกได้ยังไง ปัญหามันมีตั้งแต่ระบบการรับข้อมูล กระบวนการจัดทำนโยบาย จนถึงปลายทาง ค่าไฟแพงเพราะการลงทุนทั้งสิ้น ไม่ว่าการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหน ในใบเสร็จค่าเอฟทีจะสูงขึ้นทันที เพราะแค่พูดว่าลงทุน มันเฉลี่ยค่าใช้จ่ายมาให้ประชาชนจ่ายแล้ว ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาเรายังไม่เคยเห็นการอภิปรายเรื่องพลังงานเลยจนมายุคนี้ เพราะเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ถ้าพูดถูกฟ้องหมด อยากให้การไฟฟ้าได้ซื้อก๊าซในราคาเท่ากับนายทุนปิโตรเลียม “

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active