‘ทองคำ’ ร่วงแรง อย่าเพิ่งรีบร้อน! ควรมองปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ?

ราคาทองคำโลกปิดร่วงต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ตลาดผิดหวังเฟดสหรัฐฯ จ่อตรึงดอกเบี้ยสูงนานขึ้น ขณะที่ทองคำแท่งในไทยตลอดทั้งสัปดาห์ปรับลงราว 1,000 บาท ด้านนักวิเคราะห์เตือนอย่าเพิ่งรีบร้อน

วันนี้ (25 พ.ค. 67) ทองคำต่างประเทศ ราคาร่วงแรง 3 วันติดต่อกัน รวมลดลง 5% จากจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนมาปิดที่ระดับ 2,334.11 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ความเคลื่อนไหวราคาทองคำในตลาดซื้อขายต่างประเทศ (Gold Spot) ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จนถึง 25 พ.ค. 67

ขณะที่ในประเทศ ราคาทองวันนี้ ล่าสุดลดลง 100 บาท รวมทั้งสัปดาห์ร่วง 1,100 บาท ส่งผลให้ทองคำแท่ง ปิดอยู่ที่บาทละ 40,550 บาท และทองรูปพรรณปิดอยู่ที่บาทละ 41,050 บาท อิงเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้น 36.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด (Fed) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายนานมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับตลาดที่มองว่าจะลดดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ โดยรายงานการประชุมที่เปิดเผยออกมาล่าสุด คณะกรรมการเฟด ยังคงหวังให้อัตราเงินเฟ้อลดเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 2% ต่อไป และประเมินว่าในระยะปานกลาง การลดลงของเงินเฟ้ออาจใช้เวลานานกว่าที่คิดไว้ 

รวมถึงมองว่าอัตราดอกเบี้ยระดับสูงในปัจจุบันยังไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจรุนแรง แต่ก็ยังไม่ปิดโอกาศที่จะผ่อนคลายความเข้มงวดของนโยบายลงในปีนี้

สำหรับเครื่องมือคาดการณ์ FedWatch Tool ล่าสุดวันนี้ เผยข้อมูลตลาดคาดการณ์ เฟด จะคงดอกเบี้ยระดับสูง 5.25-5.50% ต่อไปจนถึงเดือน ก.ย. 67 และประเมินว่ามีโอกาส 46.2% จะลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในเดือน พ.ย. 67

เจอร์โรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ FED (ภาพจาก : Federal Reserve Board)

ทองคำยังถูกกดดันจากสินทรัพย์อื่น คือ เงินดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่า และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลทำให้ทองคำมีความน่าสนใจลดลงสำหรับนักลงทุน

จากบทวิเคราะห์ ฮั่วเซ่งเฮง ชี้ว่าทองคำยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องติดตามนอกจากดอกเบี้ยเฟด ตั้งแต่เรื่องความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาตร์โลกที่อาจกลับมา หลังกองทัพจีนเปิดฉากซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถทางทหารในการยึดอำนาจเหนือเกาะไต้หวัน จึงอาจส่งผลต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีน

อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์ในทางเทคนิคมีสัญญาณบ่งชิ้ทิศทางทองคำยังมีแนวโน้มปรับตัวลงต่อได้อีก โดยมีแนวรับ 2,310 ดอลลาร์ และแนวต้าน 2,347 ดอลลาร์

สำหรับทองคำนั้น ถือเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความนิยมมากสุด และยังเป็นสินทรัพย์บริหารความเสี่ยงได้ยามเกิดวิกฤตต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งราคาทองคำที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้นมาจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามากระทบ โดนปัจจัยที่นักลงทุนคาดการณ์ราคาทองคำ คือ

  1. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทองคำมีความสัมพันธ์กับสกุลเงินดอลลาร์ฯ มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และการซื้อขายทองคำในตลาดโลก (Gold Spot) จะใช้ดอลลาร์ฯ ในการอ้างอิงราคาทองคำ

  2. อัตราเงินเฟ้อที่สูง มักส่งผลให้มูลค่าของเงินลดลง ดังนั้นเงินทุนจึงมักไหลเข้าทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง

  3. นโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย เป็นสิ่งที่นักลงทุนติดตามและให้ความสำคัญมากอย่างหนึ่ง หากนโยบายการเงินส่งผลดีกับเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยสูงพอที่จะควบคุมเงินเฟ้อได้ ก็จะกดราคาทองคำให้ลดลง แต่หากนโยบายไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจจะหนุนให้ทองคำไปต่อ

  4. ระดับราคาน้ำมัน หากปรับสูงขึ้น จะหนุนให้เกิดอัตราเงินเฟ้อได้ ซึ่งส่งผลดีต่อ

  5. วิกฤตการณ์โลก หากมีวิกฤตการณ์เกิดขึ้น เช่น วิกฤตซับไพร์ม วิกฤตโรคระบาด ความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลก หรือสงคราม ราคาทองคำจะปรับสูงขึ้น เพราะนักลงทุนมองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ที่สร้างความมั่นใจแก่ผู้ถือครองมากกว่าการถือทรัพย์สินอื่น ๆ หรือเงินสกุลที่กำลังมีปัญหาในขณะนั้น

ที่มา : Reuters, SCB, CME Group

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active