เจาะเทรนด์โลก มองโอกาส ยกระดับสินค้า ‘ชุมชนชาติพันธุ์’ แข่งขันตลาดสากล

วงเสวนา “ต่อยอดโมเดลธุรกิจ ยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม” เห็นพ้องแนวทางยกระดับสินค้ากลุ่มชาติพันธุ์ มุ่ง 3 กระแสหลักโลกยุคปัจจุบัน ความยั่งยืน-สุขภาพ-โซเชียล เจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ชูวัฒนธรรมท้องถิ่น เล่าเรื่องราวผ่านบรรจุภัณฑ์ สร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 67  The Active และภาคีเครือข่ายฯ จัดกิจกรรม Open Market & Public Forum “แบรนด์ชุมชนชาติพันธุ์สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลก” ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนชาวบ้านชุมชนชาติพันธุ์ อย่างน้อย 14 ชุมชนจากทั่วประเทศ มาร่วมโชว์สินค้า ผลิตภัณฑ์จากชุมชนของตนเอง นำเสนอให้คนทั่วไปได้รู้จักมากยิ่งขึ้น และหาแนวทางยกระดับผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดในระดับประเทศและสากล

มีทั้ง อาหารท้องถิ่น เครื่องดื่มชา-กาแฟ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เช่น อาหารพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงใน จ.กาญจนบุรี, ต้มผักเหลียง, ข้าวเบ๊อะ, น้ำพริกปลารมควัน, เห็ดลมอบแห้งแปรรูป จากชนเผ่าบนดอยแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ชาพันปี จากเล่อซอ ชุมชนแม่นิงใน ปกาเกอะญอ, กาแฟอาราบิก้าไร้สารเคมี ที่ปลูกในป่าต้นน้ำแม่ยาง ของกลุ่มอาข่า ใน จ.เชียงราย, ปลาทูมันเค็มและปลาเสียดตากแห้ง จากชุมชนชาวเลบ้านทับตะวัน และบ้านทับปลา จ.พังงา

อ่านเพิ่ม : ‘ของดี’ (ชุมชนชาติพันธุ์) ไม่ได้อยู่หลังเขา เพียงแค่เรา..มองไม่เห็น

ขณะที่วงเสวนา “ต่อยอดโมเดลธุรกิจ ยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม” เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาต่อยอดและยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

วงเสวนา “ต่อยอดโมเดลธุรกิจ ยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม”

เสนอตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ สาขาวิชาการจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มศว และศิลปินชาวปกาเกอะญอ กล่าวถึงปัญหาการผลิตสินค้าของกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์ ว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของชุมชนมาจากทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังขาดสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นได้ ไม่ต่างกับรังผึ้งที่อยู่บนหน้าผา แต่ไม่สามารถขึ้นไปเอามาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจะต้องหาวิธีคลายข้อจำกัดตรงนี้

ขณะเดียวกันวัฒนธรรมของชุมชน จะต้องมีนำมาใช้ พัฒนา และต่อยอด เพื่อให้ไม่ให้สูญหายไป แต่ระบบการศึกษาในยุคปัจจุบัน กลับไม่ได้มีการบรรจุเรื่องเหล่านี้เข้าไป

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์

“จะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ มีพื้นที่ถูกมาวางในสาธาณะแล้วเราสามารถหยิบเอามาเรียนรู้ต่อยอดต่อได้ เราไม่อยากให้มันหยุดอยู่แค่นี้ ไม่ใช่พี่น้องชาติพันธุ์พอใจกับการมีผ้าถุงแบบนี้ ลายผ้าแบบนี้ เราก็อยากจะพัฒนา อยากจะต่อยอดเหมือนกัน แต่ว่าโอกาสในการต่อยอด พื้นที่ในการต่อยอด ต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้ที่เป็นท้องถิ่น และองค์ความรู้ที่เป็นสากลเข้ามา ซึ่งมันเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าใครจะมาร่วม อาศัยแต่พี่น้องชาติพันธุ์อย่างเดียว บางทีกำลังเราไม่พอ เพราะฉะนั้นเราต้องการหุ้นส่วน ที่จะมาสนับสนุนตรงนี้”

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์

นอกจากนี้จำเป็นต้องมีศูนย์กลางการเรียนรู้ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญได้ ซึ่งอยากให้พี่น้องชาติพันธุ์มองเห็นโอกาสของผู้อื่นนอกเหนือจากมองเห็นช่องว่างของตนเอง อีกทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้คนบางกลุ่มเข้ามาฉกฉวยโอกาสจากกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะจะนำไปสู่หนทางที่ไม่มีความยั่งยืน

“ผมอยากได้พื้นที่กลางที่มันเป็นพื้นที่เพาะปลูกร่วมกัน แต่ว่าที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงเรื่องของวิถีของพี่น้องชาติพันธุ์ มันจะมีคนที่ต้องการที่จะไปเก็บเกี่ยวเท่านั้น แต่ว่าไม่ได้มาร่วมเพาะปลุกร่วมกันเรา ใส่ปุ๋ยใส่อาหาร ถอนหญ้า รดน้ำร่วมกัน ผมคิดว่าพื้นที่ตรงนี้ ควรเป็นพื้นที่กลางเพาะปลูก ร่วมสร้าง ร่วมก่อ ร่วมเสพ ร่วมผลิต และร่วมเฉลิมฉลองร่วมกัน”

ผศ.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์

เกาะเทรนด์ความยั่งยืน-สุขภาพ-กระแสโซเชียล เพิ่มมูลค่าสินค้า

แคทรีน อมตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท เฮด วัน ฮันเดรด จำกัด มองว่า การนำเสนอผลิตภัณฑ์นั้น จะต้องหาวิธีทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชนชาติพันธุ์สามารถผสมผสานเข้ากับกระแสหลักและชีวิตประจำวันของคนทั่วไปให้ได้ ทั้ง เครื่องประกับ เสื้อผ้า  และอาหาร

แคทรีน อมตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท เฮด วัน ฮันเดรด จำกัด

“ทำยังไงให้การนำเสนอมีความไฮบริด ให้รู้สึกเข้ามาอยู่ในกระแสหลักของกันและกัน เหมือนเอาคอนเวิร์สไปใส่ ก็อยากเอาเสื้อน้องไปใส่ คือมันเป็นการแลกเปลี่ยน เป็นการผสมผสาน คิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องของการนำเสนอล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Accessory เสื้อผ้า รวมถึงอาหารการกิน ทำยังไงให้เข้าไปในกระแสหลัก คือให้มันย่อยง่าย ให้มันเข้ามาในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเทรนด์ได้”

แคทรีน อมตวิวัฒน์

โดยวิธีทำให้ผลิตภัณฑ์เข้ากับกระแสหลัก จะต้องเน้นไปที่ 3 ประเด็น

  • ความยั่งยืน (Sustainability) จากผลวิจัยพบว่า ต่างชาติให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนมีราคาที่สูง เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ยอมจ่ายในราคาที่แพงขึ้น

  • สุขภาพ ตอนนี้กำลังเป็นเทรนด์ที่ใหญ่ โดยสินค้าของกลุ่มชาติพันธ์มีลักษณะที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าในเรื่องของสุขภาพและเวลเนสอย่างมาก จึงควรดึงจุดนี้ขึ้นมาเป็นจุดขายให้มากขึ้น

  • กระแสโซเชียล สินค้าทุกอย่างต้องสามารถแชร์ลงโซเชียลได้ ด้วยการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูน่าสนใจจนเกิดการแชร์ต่อ ๆ กันในโลกออนไลน์

นอกจากนี้การโปรโมทสินค้าด้วยการเล่าเรื่องราว จะหาวิธีว่าทำอย่างไรให้มีความน่าสนใจ และคนทั่วไปฟังแล้วเข้าใจได้แม้ต่างวัฒนธรรม  รวมถึงการจับมือกันระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ สร้างแบรนด์สินค้าร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อรองจับมือกับแบรนด์ใหญ่ เพราะแบรนด์ใหญ่มีความต้องการจะมีส่วนร่วมกับความยั่งยืนและชุมชนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นโอกาสในการร่วมมือกับแบรนด์ใหญ่ต่าง ๆ

สุวิทย์ วงศ์ธุจิราวาณิชย์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์จากอัตลักษณ์ชุมชน

หาอัตลักษณ์ท้องถิ่นสร้างประสบการณ์ลูกค้า

ขณะที่ สุวิทย์ วงศ์ธุจิราวาณิชย์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์จากอัตลักษณ์ชุมชน ระบุว่า ปัญหาหลักในการออกแบบผลิตภัณฑ์ มักจะทำให้ต้นทุนของชาวบ้านเพิ่มขึ้น และไม่ได้การันตีว่าจะทำให้สินค้าขายได้ สิ่งที่ตนทำเสมอมา จะต้องสอบถามก่อนว่าผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีต้นทุนเท่าไร และต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีต้นทุนคงที่ให้ได้ หรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก เพื่อให้ชุมชุนรู้สึกว่าต้นทุนไม่เพิ่มขึ้น เช่น เปลี่ยนสติกเกอร์ หรือ เปลี่ยนฉลาก

“เวลาลงพื้นที่ เจอคำถามประจำว่า อัตลักษณ์ของเขาคืออะไร จริง ๆ แล้วของที่มันอยู่ใกล้ตัวมันใกล้ตัวมาก ๆ จนไม่รู้ว่าไอเนี่ยมันมีคุณค่า หน้าที่ผมทำดีไซน์แล้วจะต้องทำให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจกับคุณค่าที่เขามีอยู่ และสิ่งที่สะท้อนกับคุณค่านั้น คือ มีผู้บริโภคไปซื้อมันกลับมา เพราะฉะนั้นตัวคุณค่าจะทำให้เกิดความยั่งยืนที่ถาวร”

สุวิทย์ วงศ์ธุจิราวาณิชย์

แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ

  1. ชุมชนต้องหาอัตลักษณ์ภูมิปัญหาท้องถิ่นให้เจอ “แวดล้อมคือตัวตน สิ่งรอบตัวคุณนั้นแหละตัวตน”  

  2. สร้างคุณค่า คือ การเล่าเรื่องว่ามีที่มาอย่างไรบนบรรจุภัณฑ์ หรือ สร้างคิวอาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การเล่าเรื่องในโซเชียลต่อได้

  3. ผลิตภัณฑ์ หรืองานบริการ ต้องสร้างประสบการณ์ได้ ตั้งแต่ที่ลูกค้าออกจากบ้าน เดินทางไปซื้อสินค้า จนกระทั่งบริโภคสินค้าและนำบรรจุภัณฑ์ไปทิ้ง สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ ที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากจะลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้วิถีชุมชน

องค์ความรู้ใหม่ช่วยผลิตสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภค

สำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้านั้น ปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มองว่า ต้องผลิตสินค้าที่ทำให้ลูกค้าเกิดความต้องการ และยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้านั้น รวมถึงจะต้องมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะนำทรัพยากรในพื้นที่ออกมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ แต่ต้องหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาช่วย

ทั้งนี้การกระจายสินค้าให้ได้จำนวนมากขึ้น และขายได้ตลอดทั้งปีนั้น สินค้าจำเป็นต้องมีมาตรฐาน จะทำให้การตัดสินใจซื้อของลูกค้ามีความง่ายขึ้น รวมถึงต้องมีความยั่งยืน โดยการใช้เวลาผลิตสินค้าจะต้องสมดุลกับการใช้ชีวิตของชุมชน

“ในมุมมองนวัตกรรม คือ การสร้างคุณค่าของเราเอง ตอนนี้มีคนรุ่นใหม่ที่กลับไปบ้าน ไปอยู่ชุมชนเยอะมาก และก็นำพาองค์ความรู้เทคโนโลยีเข้าไป อยากให้ประยุกต์ใช้ต่อยอด ทุนเดิม หรือต้นรากเหง้าเดิม รากที่มันฝังลึกที่เราเติบโตมา สร้างท่อน้ำเลี้ยงขึ้นมาให้ได้ เราแค่ปักยอดใหม่ที่มันสร้างคุณค่าใหม่ได้เลย“

ปริวรรต วงษ์สำราญ

ในด้านการช่วยเหลือชุมชนปริวรรต ระบุว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จะให้องค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการต่าง ๆ และมีเงินทุนให้เปล่าตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป ให้กับชุมชนที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าของชุมชน รวมถึงสร้างการเติบโต ด้วยการหาตลาดอื่น ๆ ในต่างประเทศ หากมีความเข้าใจในตลาดนั้น ๆ มากพอ

ปริวรรต วงษ์สำราญ ผอ.ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ต่างชาติชอบสินค้ามี Story Telling เสพกลิ่นอายท้องถิ่น

ขณะที่ พนิดา ฐปนางกูร บริษัท คัลเจอร์คอนเน็กซ์ จำกัด แสดงความคิดเห็นในฐานะธุรกิจประกอบกิจการร้านขายปลีกสินค้าทางวัฒนธรรม ย่านเยาวราช ว่า จากการขายสินค้าชุมชนมา 1 เดือน พบว่า ส่วนใหญ่ 90% เป็นชาวต่างชาติที่มาจาก 30 ประเทศ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความดิบ และไม่มีการดัดแปลงมากเกินไปจนขาดความเป็นท้องถิ่นนั้น ๆ  เนื่องจากในเยาราชสินค้ามันจะเป็นของโหลที่ผลิตมาจากประเทศจีน และบรรจุภัณฑ์ เป็นพลาสติก จึงทำให้สินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ

พนิดา ฐปนางกูร บริษัท คัลเจอร์คอนเน็กซ์ จำกัด

“ลูกค้าชาวไทย 70% ไม่สนใจสตอรี่เทลลิ่ง (Story Telling) ไม่สนใจว่าใครเป็นคนทำ มาสนใจว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาจากไหน ซึ่งแตกต่างจากลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งตรงนี้มันเป็น Niche Market”

พนิดา ฐปนางกูร

สำหรับข้อแนะนำ ควรเริ่มจากสิ่งที่มี โดยเฉพาะ Story Telling ให้กลับไปถามพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ว่าครอบครัวมีวิถีชีวิตดั่งเดิมแบบไหน ซึ่งเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุด และรีบจดบันทึกก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะสูญหายไป

ร่วมกันคิด ร่วมกันลงมือทำ ร่วมกันผลิต ร่วมกันสร้าง ร่วมกันจัดการอย่างเป็นระบบ  ประโยชน์ร่วมที่ได้ ไม่ใช่แค่ความสุขแต่มันเป็นรายได้ที่หมุนเวียนกลับคืนถิ่น ที่มีเป้าหมาย มีความฝัน เป็นพื้นที่ที่ทำให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน

“การเป็นที่เราได้รู้ว่าพื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา เป็นตัวตนเรา แล้วเราพร้อมไหมที่จะไปขึ้นห้าง แล้วทำยังไงให้ตัวตนของเรายังอยู่ เราอาจจะหีบห่อไม่ต้องส่งไปที่โรงงานก็ได้ จะเป็นไปได้ไหมที่เมล็ดกาแฟจะอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์ที่จะบอกความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเรา”

พนิดา ฐปนางกูร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active