เครดิตบูโร เตือน ‘หนี้ครัวเรือนไทย’ แตะระดับ 91% ถึงจุดอันตราย

เผย ‘สินเชื่อรถ’ มาถึงช่วงฝีแตก ผ่อนรถต่อไม่ไหว สู่การประมูลถึง 3 แสนคัน ขณะที่ ‘สินเชื่อบ้าน’ น่าห่วงสุด มีบ้านกำลังจะถูกยึด 1.8 แสนหลัง

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

วันนี้ (20 ก.พ. 67) สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร โพสต์เฟสบุ๊ก ฉายภาพหนี้ครัวเรือนไทย ในระบบอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือ ราว 91% ต่อจีดีพี พร้อมถามว่า อันตรายหรือยัง ? เพราะถ้าหากเทียบกับนานาประเทศ ถ้าเกิน 80% ถือว่าเป็นระดับที่อันตรายแล้ว

หากแยกดูเฉพาะสินเชื่อที่อยู่บนฐานข้อมูลของ เครดิตบูโร ที่มีสินเชื่อรวมที่ 13.7 ล้านล้านบาท มี 3 ก้อนที่น่าเป็นห่วง คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ , สินเชื่อค้างชำระ แต่ไม่เกิน 90 วัน ที่เรียกว่า SM และสินเชื่อที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง (TDR) ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้หนี้เสียกลับมาทะลุ 1.05 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ที่ 28% 

ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ย้ำว่า ที่น่าห่วงที่สุดในมุมของเครดิตบูโร คือ สินเชื่อรถ และสินเชื่อบ้าน วันนี้สินเชื่อรถเข้ามาสู่ช่วงฝีแตก มีคนจำนวนมากผ่อนรถไม่ไหว ปล่อยให้รถถูกยึด ทำให้มีรถเข้าสู่ตลาดประมูลถึง 2 แสนคัน แม้จะไม่สูงเท่ากับตอนที่มีนโยบายรถคันแรกที่มีรถถูกยึด และเข้าสู่การประมูลถึง 3 แสนคัน แต่รถยึดระดับ 2 แสนคันถือว่าไม่น้อย

อีกก้อนที่น่าห่วงไม่แพ้กัน และความเป็นห่วงเริ่มมากขึ้น นั่นคือ สินเชื่อบ้าน ที่มีพอร์ตหนี้เสียถึง 1.8 แสนล้านบาท เติบโตถึง 7% แปลว่า มีบ้านที่กำลังจะถูกยึดถึง 1.8 แสนหลัง ในระยะข้างหน้า หากไม่สามารถแก้ปัญหาในการชำระหนี้ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active