หลังไตรมาส 2 ขยายตัวได้แค่ 1.8% ส่งออกร่วงหนัก รายได้ท่องเที่ยวอาจไม่ถึงเป้า จับตาสถานการณ์การเมือง เบิกจ่ายงบฯช้า
วันนี้ (21 ส.ค. 2566) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 2/2566 และภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566
โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2566 ขยายตัว 1.8% ชะลอลงจากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสแรกของปี 2566 (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ของปี 2566 เมื่อปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 0.2% จากไตรมาสก่อน รวมครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.2% โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวได้แค่ 1.8% มาจากภาคการส่งออกในไตรมาสนี้ที่ลดลง 5.6% ติดลบต่อเนื่องจากการลดลง 4.5% ในไตรมาสก่อนหน้า และติดลบติดต่อกัน 4 ไตรมาส โดยปริมาณส่งออกลดลง 5.8% ต่อเนื่องจาก การลดลง 6.4% ในไตรมาสก่อนหน้า
นอกจากนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ก็ยังลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 โดยลดลง 5.4% เช่นเดียวกับในเรื่องดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 4.1% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่การอุปโภคภาครัฐลดลง 4.3% จากการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ลดลงในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ในส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 สศช.ได้ปรับการคาดการณ์จีดีพีลงจากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 2.7 – 3.7% มาอยู่ที่ 2.5 – 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากในเรื่องการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่จะขยายตัวได้ 5% แต่การใช้จ่ายภาครัฐจะลดลง 3.1% จากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า และ สศช.คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567 จะลงสู่ระบบในไตรมาส 2 ของปีหน้าหลังจากที่งบประมาณปี 2567 เริ่มบังคับใช้ได้ในเดือน เม.ย.เป็นต้นไป
ขณะที่การลงทุนรวมจะขยายตัวได้ 1.6% การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ 2% และการส่งออกคาดว่าจะติดลบ 1.8% ตามปริมาณการค้าโลกที่ลดลงต่อเนื่อง ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้ 28 ล้านคน แต่มีการปรับรายได้จากภาคการท่องเที่ยวลง 1.03 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.27 ล้านล้านบาทเนื่องจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไม่สูงมากนัก
“การเบิกจ่ายการลงทุนและการส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยต้องปรับลดประมาณการลงเหลือ 2.5 – 3% โดยเป็นการประเมินจากเครื่องชี้เศรษฐกิจหลัก โดยจะส่งผลในการจัดทำงบประมาณที่เป็นการลงทุนของภาครัฐที่จะเข้าสู้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ที่จะชะลอออกไป”
ดนุชา กล่าว