เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ค้านเวที ค.2 EIA โรงไฟฟ้า-โรงงานน้ำตาล

หวั่นเกณฑ์คนร่วมรับฟังในเวทีฝ่ายเดียว กีดกันคนเห็นต่างเข้าร่วมเวทีคัดค้านอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานน้ำตาล บนพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เสี่ยงกระทบนครหลวงข้าวหอมมะลิอินทรีย์โลก

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) สถานการณ์ความเคลื่อนไหวจากพื้นที่ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ค.2) เพื่อประกอบการจัดทำ EIA 2 ฉบับ คือ EIA โรงงานผลิตน้ำตาลและ EIA โรงไฟฟ้าชีวมวล ณ บริเวณด้านหน้าที่ตั้งโครงการ (ร้านค้ำคูณวัสดุก่อสร้าง) ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เวลา 13.00 – 17.00 น. ท่ามกลางชาวบ้านที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ยืนยันและแสดงจุดยืนคัดค้านการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลา โดยมีตัวแทนชาวบ้านในชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินโครงการและพื้นที่โดยรอบ ร่วมเดินขบวนเคลื่อนไหวพร้อมปราศรัยแสดงความคิดเห็น ความกังวลใจ ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ต่อวิถีชีวิตชุมชน และสิ่งแวดล้อม หากมีการดำเนินอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยปักหลักชุมนุม บนถนนทางหลวงหมายเลข 202 เส้นพยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม มุ่งหน้า อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด พร้อมเรียกร้องให้มีการยุติเวทีรับฟัง ค.2 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้เข้ายื่นหนังสือถึง ทรงพล ใจกลิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่  11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขอให้เลื่อนการจัดเวที ค.2 ออกไปก่อน เนื่องจากกังวลว่า จะมีการเกณฑ์คนเข้าร่วมรับฟังในเวทีเพียงฝ่ายเดียวและกีดกันคนที่เห็นต่างไม่สามารถเข้าร่วมเวที ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้าน  ซึ่งผู้ว่าฯ ได้รับปากประสานไปยังบริษัทเจ้าของโครงการและสั่งการไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จากนั้นมีหนังสือราชการ ด่วนที่สุดจากนายอำเภอปทุมรัตต์ ถึงกำนันทุกตำบล ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน นายกเทศมนตรีตำบล และนายกองค์การบริการส่วนตำบลทุกแห่งให้ปฏิบัติหน้าที่วางตัวเป็นกลางไม่ให้มีผลประโยชน์ได้เสียจากกรณีดังกล่าว 

ทุ่งกุลาร้องไห้ 1,526,302 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตาม ‘ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ทะเบียนเลขที่ สช 50100022 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550  ที่มีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,107,690 ไร่ ประกอบด้วย  จังหวัดร้อยเอ็ด 986,807 ไร่  จังหวัดสุรินทร์ 575,993 ไร่  จังหวัดศรีสะเกษ 287,000 ไร่  จังหวัดมหาสารคาม 193,890 ไร่  จังหวัดยโสธร 64,000 ไร่   ซึ่งมีความสำคัญในการเพาะปลูกผลิต และส่งออกข้าวหอมมะลิ GI ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active