ค่าครองชีพสูง คนไทยผ่อนรถไม่ไหว ไฟแนนซ์เปิดทางลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้

ยอดยึดรถพุ่งแตะ 3 แสนคันต่อปี หลังหมดมาตรการพักหนี้แบงก์ชาติ เหตุค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้คนผ่อนรถไม่ไหว ไฟแนนซ์คุมเข้มปล่อยสินเชื่อ เรียกลูกค้าเก่าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อหาทางออก

นับตั้งแต่ปลายปี 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่องรวม 8 ครั้ง ตั้งแต่ระดับ 0.5% มาจนถึง 2.50% ในปี 2566 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงมาอยู่ในระดับกรอบเป้าหมาย และลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ได้ปรับลดดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

การปรับขึ้นดอกเบี้ยยังทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการเงินจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนที่กำลังเป็นหนี้ และคนที่กำลังจะก่อหนี้ใหม่ ที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

หนี้ครัวเรือนไทยเข้าสู่ระดับอันตราย

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูง (เงินที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับบุคคลธรรมดา) โดยจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท). ในสิ้นไตรมาส 3 ปี 66 ไทยมียอดหนี้ครัวเรือนที่ระดับ 16.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคิดเป็น 90.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งยังคงทรงตัวในระดับสูงจากไตรมาสก่อนหน้า

หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเกิน 80% หากเทียบกับนานาประเทศ โดย สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) มองว่า ถือเป็นระดับที่อันตราย ซึ่งหากดูเฉพาะในเครดิตบูโร ที่มียอดสินเชื่อ 13.7 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสียแล้ว 1 ล้านล้านบาท (หนี้ที่ค้างจ่ายเกิน 90 วัน หรือไม่ได้จ่ายคืนตามกำหนด) แบ่งเป็นหนี้บ้าน 1.8 แสนล้านบาท หนี้สินเชื่อบุคคล 2.6 แสนล้านบาท หนี้บัตรเครดิตราว 3.3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะหนี้รถยนต์ 2.3 แสนล้านบาท มีอัตราเร่งตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งจะท้อนได้จากรถถูกยึดที่นำเข้าลานประมูลจำนวนมาก

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

รถถูกยึดทะลัก 3 แสนคัน หลังหมดพักหนี้แบงก์ชาติ 

จากข้อมูลของบริษัทประมูลรถรายใหญ่แห่งหนึ่ง พบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2566 มีรถที่ถูกยึดและนำเข้าลานประมูล 250,000-300,000 คันต่อปี สูงกว่าสถานการณ์ปกติที่จะมีรถเข้าลานประมูลเพียง 150,000-180,000 คันต่อปีสาเหตุที่มีรถถูกยึดมากขึ้น เป็นเพราะมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท. ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งได้หมดระยะเวลาลงเมื่อช่วงปลายปี 2566 ทำให้ลูกหนี้ที่ยังผ่อนต่อไม่ไหว ต้องปล่อยให้สถาบันการเงินยึดรถไป

“พอปล่อยออกมา แต่ละที่ก็ปล่อยไม่เท่ากัน มันก็เหมือนน้ำไหลมาแรงมาก การยึดรถก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการยึดรถแต่ละที่ก็ไม่เท่ากัน อยู่ที่จะเป็นรถแบบไหน บางที่ปล่อยเก่ามา บางที่ปล่อยใหม่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นการยึดรถมันเยอะขึ้นแน่ ๆ มันก็เลยทำให้สถานการณ์ราคารถมันลดลง เพราะยอดกำลังซื้อลดลง ส่วนซัพพลายเยอะมากมหาศาล”

วิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด กล่าว

คนไทยแบกค่าใช้จ่ายสูงตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ปัจจัยส่วนหนึ่งที่รถถูกยึดเยอะ เป็นเพราะคนไม่มีกำลังจ่าย เนื่องจากค่าครองชีพสูง ราคาสินค้า และน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่รายได้ของคนยังเท่าเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจครัวเรือนไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 29,502 บาท สูงขึ้นจากปี 2564 และปี 2562 ที่ 27,352 บาท และ ปี 2563 ตามลำดับ หากแบ่งตามแหล่งที่มา 70.5% เป็นรายได้จากการทำงาน ส่วนที่เหลือเป็นรายได้อื่น ๆ เช่น เงินช่วยเหลือ รายได้ไม่ประจำ และรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน

ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ

แม้ข้อมูลดังกล่าวจะบ่งชี้ว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน โดย 6 เดือนแรกของปี 2566 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 24,362 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2564 ที่ 21,616 บาท และปี 2562 ที่ 20,742 บาท ในขณะเดียวกันครัวเรือนไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 208,331 บาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินที่ใช้ในครัวเรือน และหนี้สินเพื่อใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค

ไฟแนนซ์เร่งแก้เกม เปิดประตูเรียกลูกค้าเจรจาก่อนเป็นหนี้เสีย

ประธานกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวต่อว่า จากการยึดรถจำนวนมาก ทำให้หลายสถาบันการเงินประสบผลขาดทุนถึง 40-50% สูงกว่ากว่าระดับปกติที่ไม่ควรขาดทุนเกิน 25-30% ทำให้สถาบันการเงินต้องหันมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ด้วยการเรียกลูกค้ามาเจรจาเพื่อหาทางช่วยเหลือด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ทำยังไงให้ลูกค้าสามารถผ่อนน้อยลงได้

“อยากเรียนให้ลูกค้าทุกท่านทราบว่า คือ ถ้าติดอะไรก็แล้วแต่ ให้มาพูดคุยดีที่สุด เพราะสถาบันการเงินทุกที่เขาไม่ใช่บอกว่าต้องการยึด หรือเก็บเงินอย่างเดียว อย่างที่ผมเรียนมันก็ต้องช่วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะว่าถ้ายึดรถมาเยอะ ๆ ก็จะขาดทุนจากการขายรถยึดเพิ่มขึ้นเยอะ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คิดว่าถ้าเป็นไปได้ อยากให้ลูกค้าของแต่ละสถาบันการเงิน เข้าไปพูดคุยกับสถาบันการเงินนั้นว่าติดอะไร หรือมีความจำเป็นอะไร ผมเชื่อว่าทุก ๆ ที่เขาแก้ไขให้”

วิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์

อาชีพอิสระเสี่ยงถูกปฏิเสธสินเชื่อสูง แนะคนซื้อรถวางแผน-เช็กเครดิตบูโร

นอกจากนี้สถาบันการเงินหลายแห่งยังเริ่มเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 66 เป็นต้น ทำให้มียอดปฏิเสธสินเชื่อสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ (ประกอบอาชีพส่วนตัว หรือ ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท) ดังนั้นตอนนี้สถาบันการเงินจึงมุ่งเน้นแต่กลุ่มลูกค้าที่มีเงินเดือนเป็นหลัก เนื่องจากกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดจะมีเครดิตบูโร สามารถตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ได้

สำหรับคนที่กำลังต้องการซื้อรถคันใหม่ กรรมการผู้จัดการ บจ.ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ แนะนำว่าควรจะต้องเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพมีเงินเดือน และมีความพร้อมในการซื้อรถ เนื่องจากสถาบันการเงินจะสนใจลูกค้ากลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มประกอบอาชีพอิสระที่มีโอกาสถูกปฏิเสธสินเชื่อสูง รวมถึงต้องมีประวัติการชำระหนี้ในเครดิตบูโรที่ดี ซึ่งหากมีประวัติการผ่อนชำระที่ไม่ตรง แต่ไม่ถึงขั้นโดนฟ้องร้อง ก็สามารถเข้าไปพูดคุยกับสถาบันการเงินได้ แต่อาจจะต้องมีการวางเงินดาวน์เพิ่ม ควรเตรียมไว้ราว 10-20%

อย่างไรก็ตาม สุรพล เชื่อว่า ตลาดสินเชื่อรถจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2567 และปริมาณรถที่ถูกยึดคงจะไม่สูงมากไปกว่าในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการที่สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ได้ลูกค้าที่มีประวัติดี และมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ถึงแม้สถานการณ์สินเชื่อรถยนต์จะกลับมาดีขึ้น แต่ในด้านการแข่งขันของธุรกิจคงไม่กลับมารุนแรงเท่ากับปี 2565 (2022)

“ปี 2022 หลังจากโควิด ทุกไฟแนนซ์เข้ามาเอาเค้กก้อนนี้กันหมด และอีกอย่าง ในขณะที่โควิด คนหนีไปใช้รถกันมาก โดยเฉพาะรถมือ 2 มันก็เลยทำให้ตลาดมันโต ปี 2022 มันก็เลยเข้ามาเยอะแยะ เพื่อเอาเค้กก้อนนี้กัน แต่หลักจากนั้นมันก็เริ่มเห็นหนี้เสียแล้ว กลายเป็น 2023 เชื่อว่าสถาบันการเงินหลาย ๆ ที่ เริ่มขันน็อตกันตั้งแต่เดือน ก.ย. 66 และมากขึ้นในเดือน พ.ย. 66 จนถึงวันนี้จากการที่ขันน็อตมากขึ้น ลูกค้าก็จะค่อนข้างดีขึ้น ฉะนั้นคาดการณ์อีก 4-5 เดือนข้างหน้า สถานการณ์จะกลับมาค่อนข้างดีขึ้น การแข่งขันในตลาดก็จะกลับมารุนแรง แต่คงไม่เหมือนเดิม เพราะทุกคนมีการบาดเจ็บ ก็จะปรับตัวดีขึ้นเดือนหกเดือนเจ็ด”

สุรพล กล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active