Policy Forum ระดมทางออกแก้หนี้แก้จนไทย พบข้อมูลคนไทยเป็นหนี้ร้อยละ 90 ของจีดีพี ระบุ สาเหตุจากพฤติกรรม ความรู้ เศรษฐกิจ นโยบาย สร้างกับดักหนี้ถ้วนหน้า
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 90 ช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 โดยหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เครดิตคิดเป็นร้อยละ 25 ของ GDP แม้สถานการณ์ความยากจนในปีที่แล้ว (2564) จะปรับตัวดีขึ้นจากตัวเลขคนจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.32 ลดลงจากปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนพบกว่า 5.9 แสนคนหรือร้อยละ 48 ของครัวเรื่อนยากจนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีหนี้เฉลี่ยมากถึง 1 แสน 2 หมื่นบาท
ข้อมูลจากวงเสวนา Roundtable discussion: สู่ปฏิบัติการทางนโยบายแก้หนี้ แก้ความยากจน เปิดเผยสาเหตุของการเป็นหนี้ของครัวเรือนไทยพบหลายสาเหตุ อาทิ การขาดข้อมูล ความรู้ การบริหารการจัดการเงินของลูกหนี้ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินยังขาดข้อมูลลูกหนี้ ทำให้การบริหารจัดการประเมินศักยภาพของลูกหนี้เกินกว่าศักยภาพ ด้านนโยบายของรัฐยังคงพบว่ามีช่องโหว่ที่ทำให้การสร้างสัญญาไม่เป็นธรรม เช่น อัตราเพดานดอกเบี้ย นโยบายการพักชำระหนี้ การตีความกฎหมาย
พรลภัส จากกรณีศึกษาปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์หนี้เล่าว่า เริ่มติดหนี้บัตรเครดิตจากการใช้จ่ายและหมดไปกับภาระครอบครัว
“หลังจากมีลูก 2 คน ก็อยากให้ได้เข้าโรงเรียนที่ดี แต่เวลาผ่านไปค่าเทอมเพิ่มจาก 20,000 บาท เป็น 60,000 บาท ทำให้มีหนี้สินจากการเปิดบัตรเครดิตเพื่อหมุนเงิน ยอมรับว่าในช่วงแรกยังจ่ายบัตรเครดิตเต็มจำนวน และหนี้สินก็เริ่มก่อตัวอย่างรวดเร็วเมื่อเลือกเสียค่าบัตรเครดิตขั้นต่ำ และมีบัตรเครดิตสูงถึง 7 บัตร การมีเครดิต มีเงินเดือนทำให้กลายเป็นคนที่เข้าถึงสินเชื่อง่าย และไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ทัน”
อุมาพร แพรประเสริฐ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม สะท้อนว่าหนี้บัตรเครดิตไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อย และอาจสูญเสียบ้าน รถยนต์ได้ ทั้งที่หนี้บัตรเครดิตอาจจะไม่ได้มาก แต่จะถูกฟ้องยึดทรัพย์ขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้หากผิดชำระ แนะนำให้คุยกับสถาบันการเงิน ด้าน ภูมิ วิสิฐนรภัทร บริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่แก้ไขปัญหาหนี้ในระดับองค์กร ชี้สาเหตุของการเป็นหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้ การทำงานของโนบูโรจึงเน้นให้ลูกหนี้มีความรู้เพื่อแลกกับการให้สินเชื่อ
นอกจากการระดมแนวทางการช่วยเหลือเป็นรายกรณีที่แลกเปลี่ยนภายในวงเสวนาแล้ว ยังมีการพูดคุยสาเหตุและทางออกในภาพรวมระดับนโยบายด้วย ซึ่งหลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า “ความไม่รู้ทางด้านการเงิน” เป็นช่องโหว่ใหญ่ของปัญหาหนี้สินครัวเรือน เช่น กรณีของ วิมล ถวิลพงษ์ กรณีศึกษาหนี้คนจนเมือง มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เริ่มเกิดหนี้สินตั้งแต่ช่วงโควิด-19 รายได้หดหาย งานไม่มีเงินไม่มี ต้องจ่ายค่าอุปโภคบริโภค ซื้อของที่ต้องการ และเติมความฝันของตัวเองด้วยการเช่าที่ดินการเคหะฯ เพื่อสร้างบ้านเป็นของตัวเอง แต่พบปัญหากู้ยืม พอช. ราว 20,000-30,000 บาท มาสร้างบ้านแต่เงินไม่เพียงพอ จึงไปกู้ยืมนอกระบบ 40,000 บาท และผ่อนรายวันดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาอีกหลายคนที่มาร่วมแลกเปลี่ยนให้เห็นถึงวังวนของการก่อหนี้ เช่น เกษตรกรหนี้เกิดจากความเสี่ยงจากภัยแล้งน้ำท่วม
จุดร่วมของปัญหาและวังวันของการเป็นหนี้จึงมีข้อเสนอในการแก้อย่างเป็นระบบ พึ่งพาองค์ความรู้และการทำงานรวมกันจากหลายภาคส่วน เช่น เชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ อัยการอาวุโส อดีตรองอัยการสูงสุด เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ สร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิ์ที่ลูกหนี้ควรรู้ ขณะเดียวกันยังมีการร่างกฎหมายฟื้นฟูลูกหนี้ หากมีผลบังคับใช้จะมีผลต่อลูกหนี้ในการยุติกระบวนการทุกอย่างเอาไว้จนกว่าจะเข้าสู่การเจรจา อาจมีการเพิ่มศูนย์แก้หนี้แห่งชาติ พัฒนาระบบการบริหารหนี้สินกำหนดเพดานดอกเบี้ย สร้างการป้องกันเน้นให้ความรู้ ขณะที่ อรมนต์ จันทพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นด้วยว่าต้องแก้อย่างเป็นองค์รวม ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ต้องคลี่ให้ชัดเจน หากไม่มีข้อมูล ขาดการประเมินศักยภาพ แนะให้ประชาชนใช้จ่าย มีรายรับผ่านแอปฯ เพื่อเป็นหลักฐานในการเข้าถึงสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
จิตเกษม พรประพันธ์ ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธปท. เสนอให้มีการสร้างรายได้ให้เกษตรเพิ่มผลผลิตนอกภาคการเกษตร เพิ่มทักษะและโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการปรับและยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งในและนอกภาคการเกษตร ต้องทำให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น มีชีวิตดีขึ้น มีเงินสำรองฉุกเฉิน ปลูกฝังวินัยทางการเงินตั้งแต่เด็กๆ การออม ด้าน อาจิน จุ้งลก มูลนิธิสุภา วงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ สะท้อนว่าที่ผ่านมายังคงขาดเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหาหนี้ การแก้หนี้ต้องทำเป็นขั้นตอน เริ่มต้นจากการสำรวจหนี้ให้ครบ รวบรวมหลักฐานดูความรุนแรง เข้าสู่การเจรจาทำแผนฟื้นฟู ให้ความรู้นำปัญหาปลดหนี้ระดมทุกหน่วยช่วยกัน
ขจร ธนะแพสย์ คณะกรรมการแก้หนี้รายย่อยของรัฐบาล เห็นด้วยว่ายังขาดเจ้าภาพหลัก แต่สาเหตุของการก่อหนี้ไม่ใช่เพียงแค่ตัวลูกหนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น กฎหมายนโยบายไม่ถูกนำมาใช้ให้ความรู้เท่าทันโดยเฉาะเจ้าหนี้ เสนอว่าควรมีการกำกับกับเจ้าหนี้ให้รับผิดชอบในการปล่อยกู้ที่เหมาะสมตามศักยภาพ เพราะหากลูกหนี้หารายได้เพิ่มแต่การชำระหนี้เกินกว่าศักยภาพ ไม่สอดคล้องกับการดำรงชีพที่เขาอยู่ได้ สร้างสัญญาที่สร้างความเป็นธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ชำระคืนได้จริง
สำหรับงาน “Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย” จัดขึ้นโดยภาคีเครือข่ายร่วมกัน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ Thai PBS เพื่อระดมข้อมูลจากงานวิจัยและประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 ท่าน ผ่าน 5 ช่วงการสนทนา เพื่อถอดบทเรียนการแก้หนี้และแก้จน รวมถึงการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและความยากจนตลอดจนถ่ายทอดและสื่อสารประเด็นเหล่านี้สู่สาธารณะ ให้เกิดความเข้าใจและความตระหนักถึงปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในปัจจุบัน