‘รถไฟฟ้าทุกคนต้องขึ้นได้ทุกวัน’ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ประกาศเจตนารมณ์

ภาคประชาชนจัดเทศกาล ‘ขนส่งขนสุขสาธารณะ’ ผลักดันรถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะ ราคาเป็นธรรม เชื่อมโยงผู้คน ลดความเหลื่อมล้ำ ย้ำจับตาต่อเนื่องพร้อมร่วมเป็นกลไกช่วยแก้ปัญหา

​เครือข่ายคนรุ่นใหม่ขนส่งขนสุขสาธารณะ ประกาศเจตนารมณ์ “รถไฟฟ้าทุกคนต้องขึ้นได้ ทุกวัน” ในเทศกาล ขนส่งขนสุขสาธารณะ ที่จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าให้กับประชาชน พร้อมส่งเสียงแสดงพลังผลักดันรถไฟฟ้าราคาเป็นธรรม และเป็นบริการสาธารณะที่จะเชื่อมโยงผู้คน ลดความเหลื่อมล้ำ

สำหรับกิจกรรมขนส่งขนสุขสาธารณะถูกจัดขึ้นตลอดเดือนกรกฎาคม 2565 ทั้งการทำโพลสำรวจความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไปตามสถานีรถไฟสายสีเขียวกว่า 21 สถานี ​วงพูดคุยปิกนิกในสวนของคนวัยทำงานที่เป็นคนใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทางไปทำงานทุกวัน และมีกิจกรรมลิเกเร่ในชุมชนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ขนส่งสาธารณะ จนได้มาซึ่งข้อสรุป และข้อเสนอ ที่ยื่นให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ภายในเทศกาลมีการแสดงลิเกเร่ท้องเรื่อง มนต์รักรถไขว่คว้า ​ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสื่อสารเรื่องระบบขนส่งสาธารณะกับชุมชน รวมทั้งมีการเปิดวงเสวนาโดยมีตัวแทนคนรุ่นใหม่มาร่วมพูดคุย ​การนำเสนอโพลรถไฟฟ้า กิจกรรมปิกนิกดนตรี ของสหภาพคนทำงาน และตลาดนัดชุมชน รัฐสวัสดิการกับการขนส่งสาธารณะ

วิมล ถวิลวงศ์ ชาวชุมชนพูนทรัพย์ ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่เขตสายไหม และอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้า กล่าวว่า รถไฟฟ้าแพงมาก คนเล็กคนน้อยเข้าไม่ถึง ถ้าเป็นไปได้อยากให้รถไฟฟ้าทุกคนเข้าถึงได้ ทุกคนขึ้นรถไฟฟ้าได้อย่างเสมอภาค

วิมล ถวิลวงศ์ คนกลาง

“น่าจะลดราคารถไฟฟ้าทุกสายจากราคาปกติ ตอนนี้จากสถานีสะพานใหม่ มาสถานีสยาม 44 บาท และถ้าต่อจากสยามไปศาลาแดง หรือ จะไปสะพานตากสินก็อีก 37 เป็น 81 บาทถ้าเรามีค่าแรง 300 บาท เรากลับไม่ได้ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือรัฐบาล ขอให้คิดถึง คำนวนถึงคนทุกคนที่เขาเสียภาษี

กษิดิส ปานหร่าย คนกลาง

กษิดิส ปานหร่าย สหภาพคนทำงาน กล่าวว่า ​เรื่องระบบขนส่งสาธารณะเกิดปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนของการก่อสร้าง ปัญหาที่เกิดจากการก่อสร้างคือรถติด ​โดยรัฐมักอ้างว่าให้อดทนเพราะจะมีรถไฟฟ้าและระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงได้กับคนทุกคนและรวดเร็ว แต่พอสร้างเสร็จแทนที่คนทุกคนจะเข้าถึงได้ ปัญหารถติดก็ทยอยลดลง แต่ปัญหาเหล่านี้ยังคงเดิม

“ปัญหาคือรถติดเหมือนเดิม เผลอ ๆ ติดกว่าเก่าและคนบางกลุ่มก็ไม่สามารถเข้าถึงรถไฟฟ้าได้ เพราะรถไฟฟ้ามีราคาที่แพงและอัตราค่าครองชีพยิ่งพุ่งสูงขึ้นอยู่แล้ว ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าแรงไม่ขึ้น และค่ารถไฟฟ้าแพงจนเราต้องยอมแลกกับค่าอาหารมื้อหนึ่ง เพื่อที่จะไปจ่ายค่ารถไฟฟ้า”

นอกจากนี้ทางด้าน สหภาพคนทำงาน ยังมีการสะท้อนปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาค่าโดยสาร เรื่องห้องน้ำ ประตูกันชานชลามีแค่บางที่ และมีข้อสรุปร่วมกันในกลุ่มสหภาพคนทำงานว่า รถไฟฟ้า หรือระบบขนส่งทั้งหมดควรจะฟรี ไม่ควรเก็บจากผู้ใช้แรงงาน ซึ่งคนเหล่านี้ คิดเป็น 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ และเสียภาษีตลอดทุกปี

“ที่บอกว่ารถไฟฟ้าฟรีไม่จริง ผมคิดว่านี่เป็นมายาคติของระบบตลาดเสรีนิยมที่หลอกลวงประชาชนตลอดเวลา เราคิดว่ามันทำได้ขนาดรักษาพยาบาล 30 บาท รักษาทุกโรคยังทำได้ แล้วยากกว่าการทำระบบขนส่งสาธารณะอีก ระบบการศึกษายังฟรีได้ แล้วทำไมระบบขนส่งสาธารณะถึงจะฟรีไม่ได้ ถ้าทำให้ฟรีได้ผมมองว่าจะลดค่าครองชีพแรงงานที่อยู่ในตัวเมือง ช่วยนักเรียนนักศึกษา ได้ส่วนหนึ่งในการที่เขาจะลดค่าครองชีพให้ผู้ปกครอง”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเครือข่ายคนรุ่นใหม่ขนส่งขนสุขสาธารณะได้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ​​จนได้ด้มาซึ่งข้อสรุปที่เป็นข้อเสนอ ส่งให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การจัดกิจกรรมนี้จึงถือว่าเป็นการย้ำถึงข้อเสนอดังกล่าว

เครือข่ายคนรุ่นใหม่ ขนส่งขนสุขสาธารณะ ระบุว่า หลังจากนี้ทางเครือข่ายจะจับตาการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันว่าพร้อมเป็นหนึ่งในกลไกลที่จะช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่ภายใต้ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ คือการกำหนดเพดานราคาให้ทุกคนทุกอาชีพสามารถเข้าถึงรถไฟฟ้าได้อย่างเป็นธรรม การเปิดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า และการทำให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคนจริง ๆ

กษิดิส กล่าวทิ้งท้ายว่า การไปต่อข้างหน้าของขนส่งขนสุขสาธารณะ จะมีการวางยุทธศาสตร์ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดเดือน วันที่ เวลา แต่คาดว่าอนาคตจะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการ เป็นเรื่องของคนทุกคน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ