จับตาดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” 3 ส.ค. นี้ อาจผ่านฉลุย

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ กสทช. เปิดความเห็นกฤษฎีกา เรื่อง อำนาจ กสทช. ในการอนุญาตดีลควบรวมทรู-ดีแทค ขณะที่ “ทรู” ชี้ กฎหมายการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ทำได้เลย ไม่ต้องขออนุมัติ ไม่ขัดกฎหมาย ยัน ไม่ทำให้ค่าบริการสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีข่าว คว่ำดีลควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งต่อมามีการเปิดเผยจาก กสทช. ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวลวง โดยกรนุชเห็นว่า ตามที่สั่งการให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือขอหารือ กับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมายและประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู-ดีแทค และ สำนักงาน กสทช. ก็ได้ทำหนังสือ ไปถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่  27 เมษายน 2565 (ที่ นร 0909/ 106) 

“คำถาม คือ เกิดอะไรขึ้นกับข่าวลวง ผลโหวต 3:1 อนุฯ กสทช. คว่ำดีลควบรวมทรู-ดีแทคที่ปรากฏออกมาช่วงบ่าย วันที่ 22 ก.ค. 2565 มันคืออะไร หรือนี่จะเป็นกลวิธีที่จะทำให้สังคมตายใจ ประชาชนวางใจ ไม่ต้องคอยจับตา ติดตามหรือออกมาคัดค้านการควบกิจการในครั้งนี้”

กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ทรู ดีแทค
แฟ้มภาพ :กชนุช แสงแถลง

ทั้งนี้ ในวันที่ 3  ส.ค. 2565 นี้ บอร์ด กสทช. นัดประชุม และสำนักงาน กสทช. ต้องส่งรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์และความเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะต่อ กสทช. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. เปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาวิเคราะห์และความเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ให้ประชาชนรับรู้ ตามหน้าที่ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 57 และขอให้สังคมคอยติดตามจับตาความเห็นของ กฤษฎีกา เรื่อง อำนาจ ของ กสทช. ในการพิจารณา อนุญาตหรือไม่อนุญาต ให้ ทรู-ดีแทค ควบรวมกิจการหรือไม่

สำหรับประชาชนที่มองว่าการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู-ดีแทค จะนำไปสู่การผูกขาดที่ลิดรอนสิทธิ สามารถลงชื่อสนับสนุนแคมเปญ รณรงค์ต่อต้านการผูกขาดทางการค้ากรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ได้ที่ Change.org/TrueDtac  พร้อมประกาศว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสังคม จะยังคงจับตาติดตามร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด

ก่อนหน้านี้ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าหากผู้ให้บริการในไทยลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ค่าบริการจะปรับขึ้น 5-6% แต่หากเปลี่ยนจาก 3 รายเหลือ 2 ราย ค่าบริการจะปรับขึ้นเป็น 20-30% เพราะยิ่งเหลือน้อยรายเท่าไหร่ยิ่งอันตราย ส่งผลต่อเรื่องการผูกขาดของตลาด

เมื่อการควบรวม ทำให้เหลือผู้ประกอบการในธุรกิจมือถือเพียง 2 ราย ทรูจะมีส่วนแบ่งตลาดในเชิงรายได้อยู่ที่ 52% กลายเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ส่วนเอไอเอส จะมีส่วนแบ่งตลาด 47-48% เท่าเดิม ซึ่งดัชนีชี้วัดการผูกขาด หรือ HHI หลังควบรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 จากก่อนควบรวมที่ค่า HHI อยู่ที่ 3,700 หมายความว่า จะเกิดการกระจุกตัวในระดับที่อันตราย 

“การที่ผู้เล่นเหลือเพียง 2 ราย การแข่งขันกันตัดราคา หรือให้โปรโมชั่นจะน้อยลง  เอไอเอสก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยแม้ไม่ใช่คนที่เข้าไปควบรวมโดยตรง” 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ด้าน ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุความคืบหน้าการควบรวม ทรู – ดีแทค ว่าปัจจุบันรอ กสทช. พิจารณาและตั้งเงื่อนไขการควบรวมตามอำนาจของหน่วยงานเพิ่มเติม ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ บริษัทขอยืนยันว่าการทำดีลควบรวมครั้งนี้ดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย (ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561) การควบรวมสามารถทำได้เลยไม่ต้องขออนุมัติ และไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ กสทช. มีอำนาจในการสร้างเงี่อนไขที่จะลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มผลกระทบทางบวก 

ซึ่งหวังว่าได้เห็นความชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขของการควบรวมข้างต้นก่อนการตั้งโต๊ะรับซื้อคืนหุ้น (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ที่จะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2565 ซึ่งดีลครั้งนี้มีลักษณะเดียวกับดีลของ NT (การควบรวมระหว่าง TOT-CAT) รวมทั้งขอยืนยันว่าดีลครั้งนี้จะไม่ทำให้ค่าบริการสูงขึ้น เพราะคนกำหนดราคาค่าบริการคือ กสทช. หากไม่ทำตามจะถูกยึดใบอนุญาตคืนได้

สำหรับการร่วมมือครั้งนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาใหม่ โดยมีผู้ถือหุ้นของทรูและ ดีแทค ถือหุ้นเฉลี่ยประมาณ 30% และไม่มีใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จ รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการให้บริการจากโครงข่ายทั้ง 2 บริษัทที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น ประกอบการช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถการลงทุนโครงข่าย 5G  และ 6G ในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้ หากดีลควบรวมสำเร็จจะมีการตั้งกองเวนเจอร์แคปปิตอล (VC) มูลค่ากองราว 200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท เพื่อเข้ามาการลงทุนธุรกิจสตาร์อัพของไทย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเหล่านี้ และเพิ่มโอกาสในการเติบโตในระยะยาวอีกทางหนึ่ง 

“ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการผูกขาดนั้นแม้จะมีการควบรวมเกิดขึ้น แต่จำนวนเลขหมายหลังจากควบรวมคงปรับลดเหลือราว 46-47 ล้านเลขหมาย ใกล้เคียงโอเปอเรเตอร์อื่น ๆ เพราะหมายเลขทับซ้อนกัน และโอเปอเรเตอร์ยังเหลือมากกว่า 2 ราย จึงไม่น่าจะเป็นการผูกขาดแต่อย่างใด”

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS