เสียงสะท้อน ‘ชาวนารุ่นสุดท้าย’ วังวนหนี้ ผลักลูกหลาน ไม่อยากทำนา

งานวิจัยพบเกษตรกรลูกหนี้ เกือบครึ่งอายุใกล้วัยเกษียณ นักวิจัย แนะรัฐปรับนโยบายช่วยเหลือ จัดการหนี้เป็นระบบ หาทางดึงดูดคนรุ่นใหม่สู่ตลาดแรงงานภาคเกษตร

เกือบ 2 เดือน ของการปักหลักชุมนุม ‘ม็อบชาวนา’ หรือ เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สิน ผ่านกลไกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แม้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะรับทราบถึงปัญหา พร้อมรับปากนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ภายใน 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม แต่กลุ่มชาวนายังคงรอคอย ความชัดเจนก่อนเดินทางกลับบ้าน เพื่อเตรียมพร้อมทำนาในฤดูกาลที่กำลังจะถึงนี้

TheActive ลงพื้นที่พูดคุยกับตัวแทนม็อบชาวนา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และหนึ่งในเหตุผลของการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการหนี้ คือ หากไม่ช่วยเหลือพวกเขาเอาไว้ นี่อาจเป็นชาวนารุ่นสุดท้าย ที่อยู่ในภาคการเกษตรของไทย

วสันต์ อาจธรรญกร ชาวนา จ.อุทัยธานี เข้าร่วมชุมนุมมาตั้งแต่วันแรก ๆ บอกว่า ตนมีหนี้กับ ธ.ก.ส. นับล้านบาทนา แม้มีที่นากว่า 40 ไร่ แต่ก็ไม่อยากให้ลูก ๆ ทั้ง 5 คน มาทำการเกษตร เหตุผลหนึ่งเพราะไม่อยากเห็นลูกหลานลำบากเหมือนตนเอง

วสันต์ อาจธรรญกร ชาวนา จ.อุทัยธานี

“ไม่อยากให้ลูกมาลำบากเหมือนเรา ถ้าทำนาแล้วไม่เป็นหนี้ มีเงินมากกว่านี้ ลูก ๆ ต้องกลับมาทำนาแน่ ๆ แต่เราทำมาจนอายุปูนนี้แล้ว ก็ยังต้องต่อสู้ต่อไป สู้เพื่อรักษาที่นาให้ลูกหลาน”

วสันต์ บอกด้วยว่า ลูก ๆ เองก็ไม่สนใจทำนา หรือทำเกษตร แต่ก็ไม่เคยคิดขายที่นา พยายามต่อสู้เพื่อรักษาไว้ให้มีที่ดินทำกินต่อไป ตนมองว่าหากการทำนา หรือการเกษตรพัฒนาไปมากกว่านี้ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนมากกว่านี้ เชื่อว่าลูก ๆ คงจะหันกลับมาทำการเกษตร

ขณะที่ บรรเทา บุญส่ง ชาวนา จ.อุทัยธานี มองว่า ถ้ารัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหนี้สินให้ ก็น่าจะช่วยรักษาที่ดินผืนสุดท้าย เนื้อที่ 19 ไร่ไว้ได้ ตอนนี้เธอทำนาอยู่กับสามี ลูก ๆ ออกไปทำงานที่อื่น รับจ้างเป็นพนักงานโรงแรมในตัวเมือง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ลูก ๆ ไม่อยากทำนาก็ยังคงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้สินที่ครอบครัวต้องเผชิญ

บรรเทา บุญส่ง ชาวนา จ.อุทัยธานี

“เพราะเรื่องหนี้ ทำให้ลูกไม่อยากทำนากัน เขาบอกว่าขนาดแม่ทำมาตั้งนานแล้วยังเป็นหนี้อยู่เลย แล้วถ้าหนูเข้ามาทำมันจะไหวเหรอ ลูกเขาก็อยากทำนะ แต่ก็ไม่เคยเรียนรู้ หากการทำนามันมีรายได้มากกว่านี้ เขาก็คงได้เริ่มทำ “

บรรเทา ยอมรับว่า เคยอยากสอนให้ลูกทำนา ทำการเกษตร แต่เพราะมีรายได้ไม่มากมาย เขาเลยไม่มีกำลังใจอยากจะเรียนรู้ จึงเลือกไปทำงานในเมือง ที่สบายมากกว่า เธอจึงอยากให้รัฐบาลช่วยจัดการปัญหาหนี้สิน หากเรื่องนี้ได้รับการดูแล เชื่อว่าลูกหลาน จะเริ่มหันมาสนใจการทำเกษตรมากขึ้น

นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วนของชาวนาที่เปิดเผยกับ TheActive กำลังสะท้อนให้เห็นปัญหาความเปราะบางในครัวเรือนเกษตรกร

สอดคล้องกับ โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ทำการศึกษาถึงความเปราะบางของครัวเรือนเกษตรกรไทย พบว่า แรงงานในครัวเรือนเกษตรกรไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่กว่า 45% มีอายุ 46 – 60 ปี ในทุกพื้นที่ รองลงมาอยู่ในช่วง อายุ 31 – 45 ปี 29%

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลนี้กำลังสะท้อนว่า แรงงานส่วนใหญ่ในภาคการเกษตรเป็นคนที่มีอายุมากเป็นส่วนใหญ่ และกำลังขาดแคลนแรงงานรุ่นใหม่ในระบบ ส่วนนี้นักวิจัย มองว่า ปัญหาที่ชาวนาและเกษตรไทยกำลังเผชิญ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ‘ไม่ยินดี’ เข้าสู่ภาคการเกษตร แม้จะมีที่นาของครอบครัวก็ตาม

“ถ้ายังไม่มีการแก้ไขเชิงนโยบาย รัฐยังคงส่งเสริมแบบเดิม ๆ แก้ไขหนี้สินแบบเดิม ๆ คิดว่า ถ้าดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามา เขาคงไม่ยินดีเท่าไหร่ จะทำอย่างไรให้เขามั่นใจว่าถ้าเข้ามาแล้ว จะมีการยกระดับสู่การพัฒนาที่ดีกว่าได้”

โสมรัศมิ์ มองว่า แนวทางลดความเปราะบางในครัวเรือนเกษตรกร สิ่งที่ควรปรับอย่างแรก คือนโยบายภาครัฐ ที่เน้นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า และการแทรกแซงราคา สร้างแรงจูงใจที่ผิดให้กับเกษตรกร ที่ผ่านมารัฐบาลยังคงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ‘พืชมหาชน’ ที่งานวิจัยชี้ชัดว่า นอกจากจะไม่สร้างผลตอบแทนที่ดีแล้ว บางชนิดกลับขาดทุนเสียด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลยังคงจูงใจด้วยการมองค่าเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และการประกันราคามาโดยตลอด

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีมาตรการส่งเสริมที่ถูกต้อง โดยช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไข ให้เกษตรกรปรับตัวจากการทำการเกษตรแบบเดิม ๆ ไปสู่แนวทางทำการเกษตรที่ยั่งยืน อาจมีการสนับสนุนเงินทุน พร้อมเงื่อนไขการสร้างแหล่งน้ำ และพื้นที่เพื่อปรับตัวกับภายพิบัติได้ในอนาคต หรือการหันไปปลูกพืชอื่นที่เหมาะสม และสร้างรายได้มากกว่า ตลอดจนการทำการเกษตรแบบอินทรีย์

ถัดมาคือการปรับนโยบายแก้ปัญหา ‘หนี้สิน’ ต้องเปลี่ยนจากการพักชำระหนี้ มาสู่การปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาว การเริ่มต้นผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ถือเป็นแนวทางที่ดี แต่ในการปฏิบัติต้องมีแผนที่ชัดเจนมากกว่านี้ ว่าโครงสร้างนี้จะทำอย่างไรให้เกษตรกร สามารถชำระเงินคืนได้บ้าง และก่อนการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องตรวจสอบสัญญาที่ชาวนาได้รับ ว่าเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายหรือไม่

สุดท้าย หากปล่อยให้เกิดความเปราะบางแบบนี้ต่อไปโดยไม่แก้ไข แรงงานภาคการเกษตรก็จะลดลง รัฐ ควรมีมาตรการจูงใจ ‘คนรุ่นใหม่’ เข้าสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น โดยแก้ปัญหาที่เกษตรกรรุ่นก่อนเผชิญให้เกิดความมั่นใจ และเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องเงินทุน ที่ดินทำกิน ตลอดจนองค์ความรู้และการเชื่อมประสานสู่ระบบดิจิทัล ที่เป็นเรื่องสำคัญในอนาคต โครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมพร้อมรองรับต่อโลกอนาคตจำเป็นต้องมีเพื่อสร้างความมั่นใจให้คนรุ่นใหม่

ชาวนารุ่นนี้ จะเป็นรุ่นสุดท้ายหรือไม่ อาจไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาให้กับชาวนาในปัจจุบันเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการวางรากฐานภาคการเกษตรในระยะยาว ให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และนำมาสู่แรงงานรุ่นใหม่ ที่มีคุณภาพในอนาคตนั่นเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้