ประธาน กมธ.ที่ดินฯ เล็งสอบ ‘น้ำท่วมพะเยา’ โยงโครงการรถไฟรางคู่ ?

เตรียมขอมติ กมธ.เดินหน้าศึกษาข้อเท็จจริง หลังโลกออนไลน์ตั้งหลายข้อสงสัย ปริมาณฝน หรือ ความประมาท พร้อมเสนอเพิ่มการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก Climate Change สำหรับโครงการในอนาคต ป้องกันอุทกภัยซ้ำรอย

วันนี้ (19 ก.ย. 67) หลังมีข้อสังเกตของสังคม รวมถึงการโพสข้อมูลต่าง ๆ ผ่านโลกออนไลน์ ตั้งคำถามว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณชุมชนหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา เป็นเพราะปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่เรียกว่า Rain bomb ฝนตกหนักมากถึง 106.5 มิลลิเมตร เหมือนระเบิดฝน หรือ มาจากความประมาทของโครงการก่อสร้าง และปัจจัยอื่น พร้อมมีข้อเสนอให้มีการสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง 1 ในนั้นคือ การเสนอให้กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และนำไปสู่การป้องกันและแก้ปัญหาอย่างตรงจุดที่สุด

พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.การที่ดินฯ

‘ปริมาณฝน’ สาเหตุหลักทำน้ำท่วม เตรียมตรวจสอบไซต์ก่อสร้าง

พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ The Active ถึงข้อสังเกตต่าง ๆ ว่า เหตุน้ำท่วมที่ จ.พะเยา มีหลายองค์ประกอบ จากมุมมองส่วนตัวที่เป็นวิศวกร และเคยทำเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง มองว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาสะสมถึง 100 มิลลิเมตร ภายในเวลา 2 ชั่วโมง ถือว่าเป็นปริมาณที่มาก ทำให้น้ำระบายไม่ทัน จึงเกิดน้ำท่วมขังสูง และลดลงในเวลาค่อนข้างเร็ว

ส่วนข้อสังเกตที่ เพจ คนอนุรักษ์ และคนในพื้นที่ มองว่ามีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ต.แม่กา อ.เมืองพะเยา มีการสร้างถนนชั่วคราวข้ามลำห้วย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมหน้า ม.พะเยา หรือไม่นั้น พูนศักดิ์ ระบุว่า โดยปกติในการก่อสร้างที่มีการเปิดพื้นที่ขนาดใหญ่ จะมีการเตรียมพื้นที่เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30 – 40 มิลลิเมตร ซึ่งในกรณีดังกล่าว คาดว่า ไม่ได้มีการเตรียมรับมือไว้ ทำให้เกิดการดันของน้ำและพังลงตามภาพ

“เวลาฝนตกจะเห็นร่องรอยทิศทางการไหลของน้ำไปทางไหน พื้นที่รับน้ำมีมากน้อยขนาดไหน และรางระบายน้ำมีเพียงพอไหม สิ่งที่เห็นชัด คือ คันกั้นดินในไซต์ก่อสร้างเป็นตัวกั้นน้ำอย่างหนึ่ง เมื่อน้ำมีแรงดันมากขึ้น ทำให้เกิดการพังทลายของกองดิน แสดงให้เห็นว่านั่นคือสิ่งที่ขวางทางน้ำ พอแตกแล้วน้ำก็จะทะลักออกมาทีเดียว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มวลน้ำไหลเข้าพื้นที่จำนวนมาก แต่ต้องมาดูที่ปริมาณฝนในอัตราการระบายน้ำที่รับได้ อยู่ที่ 20-30 มม.ต่อชั่วโมง แต่ถ้ามากขึ้น 40 มม.ต่อชั่วโมง และไม่ได้มีการออกแบบเผื่อไว้ ก็จะเกิดน้ำรอการระบาย ที่พะเยาฝนตก 1 ชั่วโมง 50 มม. ผมเชื่อว่าอัตราขนาดนี้ ผมเชื่อว่าวิศวกรไม่ได้ออกแบบไว้ครบ”

พูนศักดิ์ จันทร์จำปี

นอกจากนี้พื้นที่รับน้ำของ จ.พะเยา มีลักษณะเป็นแอ่ง น้ำก็จะไหลมารวมเยอะ น้ำไหลลงมาสู่ลำราง เมื่อทางน้ำถูกขวาง และเมื่อสิ่งกีดขวางแตก ทำให้มวลน้ำทะลักออกมา 

เสนอทำ EIA เพิ่มศึกษาความเสี่ยง Climate Change

เมื่อถามว่าโครงการก่อสร้างรถไฟ ผ่านการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว จำเป็นต้องตรวจสอบว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ พูนศักดิ์ กล่าวว่าโดยทั่วไป เราคงไม่ได้ดูกันละเอียดขนาดนั้น ที่แน่ ๆ คือต้องมีการศึกษาทางน้ำก่อน ว่าไปทิศทางไหน แต่เนื่องจากเป็นงานก่อสร้างที่เปิดหน้างานขนาดใหญ่มาก แน่นอนว่าเวลาฝนตกลงมาก็จะมีการกัดเซาะ มวลน้ำชะเอาหน้าดินไหลลงสู่พื้นที่รับน้ำ

“ผมมองว่าอาจจะเป็นความผิดพลาดในการดำเนินงานของผู้รับเหมา ถ้าเห็นภาพจะชัดเลยว่า เป็นการเอาดินที่ผ่านการขุดไปกองขวางทางน้ำ ซึ่งจริง ๆ สามารถแก้ไขได้ โดยนำท่อไปวางในจุดที่เป็นทางไหลของน้ำ เพื่อให้น้ำมีที่ไป”

พูนศักดิ์ จันทร์จำปี

สำหรับการเปิดหน้างานก่อสร้างฤดูฝน จะเปิดหน้างานให้น้อยที่สุดอยู่แล้ว ตรงนี้มองว่าต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบว่าได้มีการพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้น ในการทำ EIA จะมีอยู่สองช่วง ก่อนที่จะอนุมัติโครงการได้ ช่วงแรกคือการพิจารณาในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมช่วงก่อสร้าง อีกส่วนคือเป็นการรายงานช่วงการดำเนินงาน โดยในช่วงก่อสร้างควรต้องมีการพิจารณา ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเดิมทีการออกแบบเราใช้ปริมาณตกสูงสุดคาบ 24 ชั่วโมง ในระยะเวลา 15 ปี 20 ปี เป็นค่าที่เราใช้ในการออกแบบ ก็จะมีการประเมินว่า ปริมาณน้ำฝนกี่มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตอนนี้ต้องคำนวณภายใต้วิกฤตภัยธรรมชาติ กรณีนี้อาจจะต้องมีการเสนอให้การทำ EIA ในโครงการที่มีการเปิดพื้นที่ ในอนาคต โดยระบุให้ประเมินถึงความเสี่ยง จากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนั้นขึ้นอีกในอนาคต

สิ่งรุกล้ำลำน้ำ แปรสภาพพื้นที่ ต้องถูกตรวจสอบ

พูนศักดิ์ กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงการใช้สภาพพื้นที่จากเดิมเป็นทุ่งนา เป็นพื้นที่เกษตร เป็นอาคาร บ้านเรือน ทำให้ลำน้ำแคบลง ก็มีผลเช่นกัน เนื่องจากส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรับน้ำที่ลดลง และคิดว่าต้องมีการตรวจสอบการลุกล้ำลำน้ำสาธารณะ ในฐานะ กมธ.ที่ดินฯ คิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ ต้องอาศัยอำนาจ กมธ. เข้าร่วมพิจารณาตรวจสอบต่อไป

นอกจากเพจคนอนุรักษ์แล้ว ผศ.ณัฐ มาแจ้ง ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอีกคนที่ออกมาตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ โดยอธิบายพื้นที่ลุ่มน้ำเหนือชุมชน ม.พะเยา ประมาณ 31 ตร.กม.ซึ่งไม่ใหญ่มาก ปกติฝนตกลงมาไม่นาน น้ำก็จะระบายไป แต่ครั้งนี้มีฝนตกหนัก โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 3 แห่งกระจายบนพื้นที่ตอนล่าง

แต่ทำไมจึงเกิดน้ำท่วมใหญ่ อาจารย์ตั้งข้อสังเกตแบบนี้ จากแผนที่ DEM พื้นที่น้ำท่วมจะเป็นพื้นที่สีเขียวอ่อน ซึ่งหมายถึง พื้นที่ที่ต่ำกว่าพื้นที่บริเวณข้าง หรือ สีเขียวเข้ม ซึ่งมีที่อยู่อาศัยปลูกอย่างหนาแน่นบริเวณนั้น และเป็นพื้นที่น้ำหลาก พอน้ำปริมาณมาก ก็ไหลบ่าลงมารวดเร็ว อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่กระจายตัวยอยู่ด้านบน สามารถรับน้ำได้บางสาขา แต่ลำน้ำที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำ ก็จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง และเมื่อไหลผ่านพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ต่ำริมลำน้ำ และลำน้ำถูกจำกัดพื้นที่การไหลจากการใช้ประโยชน์ที่ดินริมทางน้ำทำให้ลำน้ำถูกบีบหน้าตัดลง จึงกลายเป็นพื้นที่น้ำไหลบ่าท่วมอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

ส่วนพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่ด้านเหนือของพื้นที่น้ำท่วม จริงๆ ถ้าขวางทางน้ำ อาจจะเป็นผลดี ในแง่ช่วยชะลอน้ำไว้ให้ แต่ปัญหาจากพื้นที่ก่อสร้าง อาจจะเป็นเรื่องตะกอนทรายที่ไหลมาจากพื้นที่ก่อสร้างด้วย ผศ.ณัฐ บอกว่า เป็นการคาดเดาเอาว่าอาจเป็นสาเหตุให้พื้นที่น้ำท่วมเกิดวิกฤตมากขึ้น จากน้ำที่มีตะกอนไหลมาด้วยจำนวนมาก ​

ขณะที่ ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า นอกจากเรื่องของปริมาณฝน ที่เราไม่สามารถไปโทษดินฟ้าอากาศอยางเดียวได้ เพราะจะทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ แต่ต้องดูที่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ และข้อสังเกตเรื่องโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ด้วย

อีกข้อสังเกตของ ผศ.ไชยณรงค์ คือ หน้ามหาวิทยาลัยพะเยาที่เรียกกันว่ากาดหลุม เป็นที่ สปก.แต่หลังมีมหาวิทยาลัย การใช้พื้นที่ก็เปลี่ยนไป มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า และหอพักหนาแน่น ทั้งบริเวณห้วยแม่กาหลวงที่อาจสร้างรุกล้ำหรือกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งถนนที่ข้ามลำน้ำที่ทำทางไหลของน้ำแคบมาก จึงเป็นที่มาของข้อเสนอให้กรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาตรวจสอบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active