อดีตย้ำชัด ‘หัวโต๊ะ’ บทบาทสำคัญ ‘อุดช่องโหว่’ จัดการภัยพิบัติ

‘ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า’ วิเคราะห์จุดอ่อนจัดการน้ำไทย รับสภาพทุ่มเททรัพยากรไม่ถูกจุด ข้อมูลขาดหาย ไร้ทางเลือก ประเมินวิกฤตน้ำท่วมเชียงราย ยังข้อมูลขาดหายหลายจุด เสนอรัฐสร้างระบบ DSS (Decision Support System) อุดช่องว่าง ลดความสูญเสีย

แม้ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านการพยากรณ์ มีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะ แต่จากข้อเท็จจริงคงต้องยอมรับว่า ยังคงเห็น จุดอ่อนของการรับมือภัยพิบัติ ไม่ใช่แค่เหตุผลเพราะโลกรวนสภาพอากาศแปรปรวนเท่านั้น แต่เพราะไทย ยังไม่สามารถปิดช่องว่างเรื่อง “ข้อมูล และการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ แบบไร้รอยต่อได้”

สำหรับเจ้าภาพดูแลเรื่องน้ำอย่าง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ที่ถูกตั้งขึ้นมาเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลเรื่องน้ำ มาตั้งแต่ปี 2560 มีการออก พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ฉบับแรกของประเทศ สร้างการมีส่วนร่วม และบูรณาการหน่วยงานด้านน้ำ 38 หน่วยงาน แต่ยังพบข้อสังเกตด้านการใช้กฎหมายของหน่วยงาน การทำงานทับซ้อนกัน และต่างคนต่างทำ

เหตุการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย (14 ก.ย. 67)

The Active พูดคุยกับ ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์จุดอ่อนการจัดการน้ำไทย โดยย้ำว่า “ทุ่มเททรัพยากรน้ำผิดจุด, ข้อมูลเป็นท่อนๆ ไม่เชื่อมต่อ, กระบวนการส่งต่อข้อมูล และทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำ ยังไม่มีความสมบูรณ์…”

บริหารจัดการน้ำไทย ทำไม ? ยังเตือนภัยไม่ทัน

ผศ.สิตางศุ์ เล่าว่า จากสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นว่า สทนช. ระบุเอาไว้ว่า “ได้มีการแจ้งเตือนข้อมูลไปแล้วในระดับจังหวัดล่วงหน้า” ซึ่งก็ตระหนักถึงความสำคัญจากพายุยางิมาสักพัก และมัวแต่กังวลว่าภาคกลางน้ำจะท่วมหรือไม่ กทม. น้ำจะท่วมหรือไม่ เหมือนปี 2554 หรือไม่ แต่น้ำท่วมใหญ่กลับไปเกิดที่ จ.เชียงราย ขณะที่การคาดการณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา ก็เป็นภาพใหญ่ เป็นการแจ้งเตือนระดับภาคเหนือ-อีสาน ขาดข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้ ออกสู่สาธารณะ เช่น ปริมาณน้ำฝนตกลงมาแล้วกี่มิลลิเมตร จะเปลี่ยนเป็นน้ำท่าเท่าไร จะลงในลำน้ำปริมาณเท่าไร ฯลฯ

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า

ทั้งการเตือนของ สทนช. และกรมอุตุฯ ให้ข้อมูลแบบไม่ได้สร้างความตระหนก และไม่ตระหนักในระดับจังหวัด ขณะที่ฝนในประเทศไทยก็มีปริมาณมาก ก่อนที่น้ำจะเริ่มท่วม วันที่ 10 – 11 ก.ย. 67 ฝนในไทยอยู่ที่ 100 – 200 มิลลิเมตร เนื่องจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลานินญ่า ตกหนัก ตกสั้น และตกแช่ เกินกว่าที่ศักยภาพของลำน้ำจะรับไหว ประกอบกับน้ำจากเพื่อนบ้าน ที่ไม่มีข้อมูลเหล่านั้นเลย จึงทำให้การเตือนภัย เผชิญเหตุการณ์ในจังหวัดเชียงรายไม่ดีเท่าที่ควร

  • ประเมินสถานการณ์ต่ำ และไม่ได้ให้ข้อมูลที่ประชาชนควรจะตระหนักกับสถานการณ์

  • ไม่มีข้อมูลน้ำนานาชาติ ทำให้ประเมินสถานการณ์ผิดรับมือไม่ทัน รวมถึงปัญหาการจัดการน้ำระหว่างจังหวัด ที่ยังไม่รู้ว่าใครจะต้องเป็นคนบริหารจัดการ

  • รอยต่อระหว่างจังหวัด ช่องว่างการบริหารจัดการน้ำ เช่น น้ำจากแม่อาย จ.เชียงใหม่ – จ.เชียงราย คร่อม 2 จังหวัด แม้จะมีแผนระดับจังหวัด มี 2 กฎหมาย คือ (ฝ่ายน้ำ) พ.ร.บ.น้ำ ปี 2561 ที่จะต้องรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์และส่งให้ (ฝ่ายป้องกันภัย) พ.ร.บ.ปภ. 2558 แต่รอยต่อระหว่างจังหวัด ยังไม่ชัดว่าใครรับผิดชอบ และแจ้งได้ทันเวลาขนาดไหน

  • จุดอ่อนด้านการคาดการณ์ภัยที่กว้างเกินไปจาก “สทนช. และ อุตุนิยมวิทยา” ทำให้ไม่มีข้อมูลที่แม่นยำเพียงพอเพื่อส่งต่อให้ “ปภ.” ทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • จุดอ่อนฝั่ง ปภ. ไม่มั่นใจในข้อมูลที่ได้มา ส่งผลให้การสั่งอพยพ แผนการรับมือไม่ชัดเจน
เหตุการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย (14 ก.ย. 67)

ย้ำชัด ‘หัวโต๊ะ’ ต้องอุดรอยรั่วระหว่างหน่วยงาน

ผศ.สิตางศุ์ ยังยกตัวอย่าง จากประสบการณ์จัดการภัยพิบัติในอดีต พบว่า มีหลายเหตุการณ์ที่สามารถบริหารจัดการภัยได้ดี โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่ อำนาจสั่งการของผู้บังคับบัญชาภายในสภาวะวิกฤต ยกตัวอย่าง การบัญชาการน้ำในสมัย พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ มีการบัญชาการแบบทหาร ให้ทุกหน่วยงาน รายงานข้อมูลสั่งการทุกหน่วยบูรณาการได้จริง และสามารถปิดช่องว่าง ร้อยเรียงทุกหน่วยงานให้การทำงานได้อย่างลุล่วง เช่น ในปี 2562 เกิดเหตุการณ์พายุโซนร้อนปลาบึก ไทยมี พ.ร.บ.น้ำ และมี สทนช. แล้ว ในช่วงเวลานั้นการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. สามารถทำหน้าที่ได้ดี และไม่มีผู้เสียชีวิตจากน้ำในเหตุการณ์ครั้งนั้นเลย

จากนั้นก็เกิดเหตุน้ำท่วมในภาคอีสานอีกครั้งในปีเดียวกัน และเป็นช่วงที่การส่งต่องานระหว่าง พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ กับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ เป็นช่วงสุญญากาศการมีคนมานั่งหัวโต๊ะอย่างจริงจัง ผลการบริหาร คือ สทนช. ที่เคยทำงานได้ กลับอ่อนแอลง ทั้งที่มีเลขาธิการคนเดิม ทำให้การบริหารจัดการน้ำในอีสาน แตกต่างไปจากพายุปลาบึก เพราะไร้คนบัญชาการเรื่องน้ำ

“การบัญชาการเรื่องน้ำในภาวะวิกฤต คนนั่งหัวโต๊ะ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องเข้าใจปัญหา และสามารถอุดช่องโหว่การบริหารจัดการของแต่ละหน่วยงานได้จริง มีความเชื่อมั่นในหน่วยงาน แต่ต้องไม่มากจนเกินไป มิเช่นนั้นการบริหารก็จะเหมือนกับการบริหารงานแบบ “กลไกราชการปกติ

เหตุการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย (14 ก.ย. 67)

เร่งสร้างระบบ DSS (Decision Support System)

ผศ.สิตางศุ์ ยังคาดหวังว่า สิ่งที่ภาครัฐ รวมถึง สทนช. ซึ่งมีหน้าที่จัดการน้ำทั้งระบบ ควรทำต่อ คือ การสร้างระบบสนับสนุนการสื่อสารและการตัดสินใจ ด้วยระบบ DSS (Decision Support System) ด้วยการให้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เป็นผู้รวมข้อมูลและวิเคราะห์ออกมาฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจ ให้ประชาชน และชุมชนแต่ละพื้นที่รับมือ ก่อนจะนำสิ่งที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดส่งต่อให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง สั่งการให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติ เพื่อปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจ และชุมชน

พร้อมทั้งย้ำว่าเวลานี้ ข้อมูลน้ำของไทยยังเป็นท่อน ๆ ไม่สามารถรวมกันได้อย่างเป็นระบบ ควรมีการวิเคราะห์ระดับภาค ระดับจังหวัด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และส่งข้อมูลมาที่ระดับพื้นที่อย่างชัดเจน เพราะให้กลไก เฉพาะหน้า อย่าง ปภ. ที่ต้องบอกต่อ ส่งข้อมูลถึงประชาชนได้อย่างถูกต้องแม่นย้ำ ทันท่วงที

ส่วนระบบการช่วยเหลือสนับสนุนการตัดสินใจ หรือ DSS นี้จะสามารถช่วยลดความสูญเสียได้ 30-40% ทั้งหมดนี้ควรเกิดขึ้น แต่ยังไม่เกิด ในอนาคตจึงจำเป็นต้องจริงจังกับการมีระบบสนับสนุนการตัดสินใจ 3 ส่วน ทั้ง ข้อมูล, กระบวนการบริหารจัดการ และการเสนอทางเลือกจัดการภัยพิบัติ ที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ว่า “รู้งี้…​ทำแบบนี้ดีกว่า” ซ้ำรอยอดีต

อ่านเพิ่มข่าวที่เกี่ยวข้อง : แก้ปัญหาจัดการน้ำ “10 ปีผ่านไป ทำไมไม่ถึงฝัน?” บทเรียนคนท้ายน้ำ “ลุ่มแม่น้ำท่าจีน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active