แผ่นดินไหวเมียนมาสะเทือนไทย

นักวิจัยชี้ควรประเมินความแข็งแรงอาคารเก่าสร้างก่อน 2550 ขณะที่ กฟผ. ยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนหลัก ในจังหวัดกาญจนบุรีและเขื่อนอื่น ๆ ทั่วประเทศ

วันนี้ (19 มิ.ย.66) เวลา 08.40 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งประเทศเมียนมา ขนาด 6.0 ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้แถวกรุงเทพมหานคร และนนทบุรี นักวิจัยเผยอาคารเก่าหลัง ปี 2550 ควรเสริมความแข็งแรงเพื่อรองรับแผ่นกินไหวอนาคต

หลังเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.0 นอกชายฝั่งประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในอาคารสูงบางส่วนต้องวิ่งหลบ ออกมานอกอาคาร

ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคน ทวีตข้อความรายงานการเกิดการสั่นไหวในอาคารสูง ในคลิปจะเห็นโคมไฟที่อยู่บนตึก 13 ชั้น แห่งหนึ่งแถวลาดพร้าว เกิดการสั่นไหว โดยเจ้าของทวิตเตอร์รายงานว่า ไหวจนรู้สึกเวียนหัว ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ไม่นาน แผ่นดินไหว ทะยานขึ้นอันดับ 1 ในเทรนด์ประเทศไทยทันที

ขณะที่ มีประชาชนบางส่วนในกรุงเทพมหานคร ที่อยู่บนตึกสูงสามารถรับรู้ได้ถึงชั้นที่ 17 ทำให้คนในตึกต้องลงมาด้านล่างเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ มีรายงานว่า หลายพื้นที่ในกรุงเทพ รู้สึกเช่นกัน ทั้ง เขตจตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว บางพลัด สุขุมวิท

ไพบูล นวลนิล นักวิชาการด้านแผ่นดินไหว บอกว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอยู่บนรอยเลื่อนสะกายแถวประเทศเมียนมา ที่พาดต่อลงมาในทะเล ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ เพราะบริเวณนี้ไม่มีการสั่นไหวมาพอสมควร และแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ไม่กระทบกับอาคาร และรอยเลื่อนในประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ เอนก ศิริพานิชกร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ไม่กระทบกับอาคารในกรุงเทพมหานคร ที่กฏหมายกำหนดให้รองรับแผ่นดินไหวขนาด 7.0 แต่แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทำให้อาคารสูง 20 ถึง 30 ชั้น เกิดแรงสั่นไหวได้ อย่างไรก็ตาม หากพบรอยแตกร้าว หรือ ความเสียหาย สามารถแจ้งไปยังสภาวิศวกร หรือ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ให้ช่วยตรวจสอบความแข็งแรงได้

ศ.อมร พิมานมาศ

ศาตร์ตราจารย์ อมร พิมานมาศ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ในฐานะนักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยว่า จากข้อมูลที่ได้รับคาดว่าธรณีพิบัติครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ในส่วนที่อยู่นอกฝั่งตอนใต้ของประเทศเมียนมา

ศาตร์ตราจารย์ อมร พิมานมาศ กล่าวอีกว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมีขนาด 6.0 ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง แต่เนื่องจากเกิดที่ระดับความลึกเพียง 10 กิโลเมตร ซึ่งไม่ลึกมาก จึงอาจส่งผลกระทบต่ออาคารและโครงสร้างได้ สำหรับในประเทศไทยนั้นตรวจพบการสั่นไหวของอาคารสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ปทุมธานี จนผู้อยู่อาศัยรู้สึกได้ ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

1) แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในระดับไม่ลึก

2) ระยะห่างระหว่างจุดเกิดเหตุจนถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 400-500 กิโลเมตร

3) สภาพชั้นดินของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้รุนแรงขึ้น

4) เกิดการกำทอนหรือการสั่นพ้องระหว่างโครงสร้างกับชั้นดิน โดยเฉพาะอาคารสูง จึงเกิดการสั่นสะเทือนมากกว่าอาคารเตี้ย

อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวในครั้งนี้มีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงไม่น่าส่งผลกระทบให้โครงสร้างอาคารเสียหายรุนแรง แต่เจ้าของอาคารก็ไม่ควรประมาท หากตรวจพบรอยร้าวหรือการกะเทาะของปูนซึ่งเป็นสัญญานเตือนภัย ก็ควรให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป ส่วนในอนาคตข้างหน้านั้นรอยเลื่อนสะกายอาจสร้างความรุนแรงได้ถึงระดับ 8.0 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงมาก อาจทำให้โครงสร้างเสียหายมากกว่านี้หลายเท่าจึงต้องเตรียมการโครงสร้างอาคารให้รับมือการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้

“ในแง่ของกฎหมายควบคุมอาคาร มีกฎกระทรวงฯ ปี 2550 และปรับปรุงปี 2564 บังคับให้อาคารต้องออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหว แต่ถ้าเป็นอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 จะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากก่อสร้างมาก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท เจ้าของอาคารเก่าจึงควรจัดหาวิศวกรประเมินและเสริมความแข็งแรงอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหวที่อาจจะรุนแรงกว่านี้ในอนาคต”

ภาพจาก facebook เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี

ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยืนยัน เหตุการณ์แผ่นดินไหว ในประเทศเมียนมา ที่รู้สึกได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขต กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี ไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนหลัก ในจังหวัดกาญจนบุรีและเขื่อนอื่น ๆ ทั่วประเทศ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงออกหนังสือประกาศ ถึงระบบตรวจวัดข้อมูลระยะใกล้ ด้านความปลอดภัยเขื่อน จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งตอนใต้ของประเทศเมียนมา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึง กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี

โดยระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ อยู่ห่างจาก เขื่อนวชิราลงกรณ์ อำเภอทองผาภูมิ ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 258 กิโลเมตร และห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 324.30 กิโลเมตร ซึ่งไม่ส่งผลกระทบ ต่อความมั่นคงแข็งแรง ของเขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ รวมถึง เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และ เขื่อนอื่นๆทั่วประเทศ
 

เขื่อนภูมิพล


เช่นเดียวกับ พื้นที่ตัวเมืองกาญจนบุรี ที่ประชาชนไม่สามารถรับรู้ ถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ตัวอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ไม่ได้รับผลกระทบตรงกันข้ามกับ หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ทั้ง เขตจตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว บางพลัด สุขุมวิท ที่รู้สึกได้ถึงการสั่นไหว โดยเฉพาะ ตึกสูง

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์