นับถอยหลัง 14 วัน สผ. เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อระบุให้กำแพงกันคลื่นกันเซาะชายฝั่งต้องผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ตามข้อเรียกร้องของ ภาคีทวงคืนชายหาด ที่ระบุว่าโครงสร้างแข็งอย่างกำแพงกันคลื่นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมากกว่าการรักษาสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศ ทส. ทบทวนให้ “การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล : กรณีกำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล” เป็นโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระหว่างวันที่ 10 – 25 มกราคม 2566
ทั้งนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม
กำหนดให้ “กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด หรือเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ซึ่งผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการ และได้รับความเห็นชอบตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่วน “แนวชายฝั่งทะเล” หมายความว่า แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ
โดย การก่อสร้างหรือขยายสิ่งก่อสร้างบริเวณหรือในทะเล หมายรวมถึง รอดักทราย เขื่อนกันทราย และคลื่นรอบังคับกระแสน้ำ แนวเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งทะล กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล “ทุกขนาด”
ด้าน อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach for life และภาคีรณรงค์ทวงคืนชายหาด ระบุว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ แม้เปิดให้ลงทะเบียนเพียง 15 วัน ซึ่งอาจเป็นเวลาที่น้อย แต่เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับเครือข่ายที่ติดตามเรื่องชายหาด เพราะการผลักดันให้พิจารณา EIA เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องมาโดยตรง การจัดให้มีกระบวนการพิจารณาสะท้อนว่าภาครัฐยอมรับว่าเป็นปัญหา และเห็นด้วยต่อข้อเสนอของประชาชน ที่ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งนับเป็นแนวโน้มที่ดี
“เป็นความคืบหน้าของภาคประชาชน เป็นความก้าวหน้ามาก ๆ จากที่ได้เคยเรียกร้องมา เป็นการที่รัฐยอมทำตามกฎหมาย แม้จะมีเวลาในการรับฟังความคิดเห็นไม่มาก แต่เมื่อมีกระบวนการนับหนึ่งแล้ว จากเดิมที่เตะถ่วงมานาน ก็เรียกว่าเป็นไปตามที่ภาคประชาชนต้องการ อยากชวนกันแสดงความคิดเห็นเพื่อย้ำความสำคัญเรื่องนี้ หรือทำหนังสือไปถึง สผ. โดยตรงเพื่อยืนยันอีกทาง และคณะกรรมการศึกษาแนวทางป้องกันปัญหากัดเซาะก็จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป”
สำหรับข้อเรียกร้องของภาคีทวงคืนชายหาดมีทั้งหมด 3 ข้อ ผู้ประสานงาน Beach for life กล่าวต่อว่า ในเมื่อเรื่องการผลักดันกำแพงกันคลื่นเข้า EIA แล้ว จะเหลือข้อเรียกร้องอีกสองเรื่องเท่านั้น ซึ่งวันที่ 12 ม.ค. 2566 จะมีการประชุมคณะคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยในนัดแรก จะต้องให้น้ำหนักกับเรื่องการยุติบทบาทของกรมโยธาไม่ให้มีอำนาจในการจัดทำกำแพงกันคลื่นอีก รวมถึงการหาแนวทางฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้านี้ด้วย
“ต้องไปคุยประเด็นแรกให้หนักว่ากรมโยธาจะมีบทบาทอีกหรือเปล่า เพราะเราคิดว่าไม่ควรมีบทบาทแล้ว ทั้งด้านกฎหมาย สังคม ความรู้ ต้องคุยกันหนักขึ้นในชั้นกรรมการฯ พรุ่งนี้ต้องจับตาดู แต่เชื่อมั่นในข้อมูลวิชาการที่มี สิ่งที่เกิดขึ้นพิสูจน์ชัด อำนาจของกรมโยธาที่มาจากมติ ครม. 20 กว่าปีก่อนก็เก่ามากในทางกฎหมาย ถึงวันนี้ยังแบบนี้ไม่มีปรับ ควรจะมีการปรับได้แล้ว ให้อำนาจหน้าที่การจัดการชายฝั่งใหม่ และหากคณะกรรมการชุดนี้จะจัดการเรื่องการฟื้นฟูได้ด้วย ก็เป็นทางออกที่ดี เป็นความหวังถึงการจัดการว่าจะทำอย่างไร แต่ชื่อว่าสิ่งที่เสนอไปจะได้รับการตอบรับจากคณะกรรมการ ที่เราเสนอชื่อเองและเป็นผู้มีความรู้มากพอที่จะเป็นทางออกให้กับประเด็นนี้”