นายกฯ ลงนามแต่งตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งฯ

Beach For Life ระบุเป็นสัญญาณที่ดี ต่อการขับเคลื่อน 3 ข้อ เสนอที่เคยผลักดันก่อนหน้านี้ เตรียมทำหนังสือถึงประธานเร่งรัดการประชุมใน เดือน ม.ค. 2566 เปิดทางการมีส่วนร่วมภาคประชาชน

วันนี้ (23 ธ.ค. 2565) อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงาน Beach For Life กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของภาคีทวงคืนชายหาดในการเคลื่อนไหวหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการขับเคลื่อนข้อเสนอ 3 ข้อ ที่เครือข่ายต้องการผลักดัน คือ 1. ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองขาดจากอำนาจการดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง 2. ให้การทำกำแพงกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งต้องผ่านการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และ 3. เยียวยาผลกระทบในพื้นที่เคยก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

“ในการแต่งตั้งคณะกรรมการเกิดขึ้นตามกำหนดข้อตกลง 15 วัน แสดงว่ารัฐบาลมองว่า 3 ข้อเรียกร้องของเรามีเหตุผล และการที่รับรองรายชื่อของคณะกรรมการทุกคนเป็นไปตามที่เราเสนอไปตั้งแต่แรก ผู้ดำรงตำแหน่งประธานเป็นที่น่าวางใจ เพราะน่าจะไม่มีประโยชน์ทับซ้อนและมีความน่าเชื่อถือ ในส่วนบทบาทหน้าที่ขอบเขตอำนาจก็ยอมรับได้ คิดว่าน่าจะดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้องที่เสนอไปได้ โดยเราจะทำหนังสือส่งตรงไปหาประธาน เพื่อเร่งรัดการประชุมให้เกิดขึ้นภายในมกราคม เป็นแนวโน้มว่าการแก้ปัญหาการกัดเซาะหลังจากนี้จะเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น”

อภิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนี้จะทำหนังสือเสนอถึงประธานคณะกรรมการฯ เพื่อให้กำหนดนัดหมายแรก เพื่อกำหนดกรอบการทำงาน กำหนดแนวทางการศึกษา ข้อพิจารณา และขอบเขตหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ โดยแต่ละประเด็นมีรายละเอียดที่ต่างกันไป และต้องอาศัยกระบวนการดำเนินงาน

“สำหรับพื้นที่ที่มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเดินหน้าแล้วตอนนี้น่ากังวลหมดทุกพื้นที่ เราอาจจะใช้คณะกรรมการชุดนี้เบรกโครงการได้ไม่หมด และไม่ได้คิดว่าจะจัดการปัญหาทุกที่ได้ แต่การหารือในที่ประชุมจะเป็นทิศทางการพิจารณาโครงการอื่น ๆ ในอนาคต โดยใช้ข้อมูลการศึกษา ส่งถึงนายกเพื่อแก้ไขมติ ครม. ในอนาคตอย่างไรก็ตามพื้นที่หาดแม่รำพึง ม่วงงาม ก็มีกลไกที่จัดการอยู่แล้ว”

สำหรับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ในความดูแลของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้

  1. รวบรวมปัญหาและศึกษาแนวทาง และมาตรการในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย
  2. เสนอแนะแนวทางการมาตรการในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศ
  3. เร่งรัด ติดตามการดำเนินงานของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายงานผลการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี
  4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
  5. เชิญผู้แทนส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐและบุคคล เข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง และให้ข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา
  6. ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active