กลุ่มBeach for life และเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด จับตาความคืบหน้า หลังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมยื่นเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย หาแนวทางแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งโดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (11 ธ.ค. 2565) อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life กล่าวถึงกรณีการเรียกร้องให้มีการทบทวนนโยบายการสร้างกำแพงกันคลื่นว่า ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างรอให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยื่นเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อรับรองให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาการดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ตามข้อเรียกร้องที่เครือข่ายภาคประชาชนทวงคืนชายหาด ได้เสนอไว้ 3 ข้อ ตามที่ได้มีการหารือกันในเบื้องต้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา
สำหรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดสร้างโครงการกำแพงกันคลื่น 2. หากจะมีการสร้างกำแพงกันคลื่นจะต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA และ 3. ให้มีการฟื้นฟูชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากกำแพงกันคลื่นไปก่อนหน้านี้ ซึ่งในที่ประชุมรับหลักการทั้งหมด เป็นไปตามเงื่อนไขข้องเรียกร้อง ทำให้การชุมนุมยุติลงไปภายในวันเดียวกัน
“มีการร่างชื่อคณะกรรมการขึ้นมาแล้วตามที่เราตกลงกันว่า ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาให้ทบทวนเรื่องนี้ โดยมีการเสนอชื่อผู้ร่วมในคณะจากหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของสำนัดปลัดสำนักนายก มีทางกลุ่ม Beach for life เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด นักวิชาการ ที่ทางเราเป็นผู้เสนอชื่อไป รวมถึงอธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมโยธา โดยมีตัวแทนจากสำนักงานปลัดลงนามเรียบร้อยแล้ว เราคิดว่ามันน่าจะทำให้มีโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนนี้อยู่ในการเดินเรื่องของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เราต้องจับตาดูว่านายกฯ จะกล้าตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาหรือเปล่า เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และมีผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐ ว่าอย่างน้อยกรมโยธาฯ ต้องออกจากอำนาจ ซึ่งเรามีความมั่นใจในกระบวนการ แต่ไม่ได้วางใจทั้งหมด พูดชัดตรงนี้ว่าถ้ามันไม่มีการแต่งตั้งตามที่ตกลง เราพร้อมขึ้นมาชุมนุมต่อเนื่องแน่นอน”
ด้าน ศศิน เฉลิมลาภ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรณี ในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเครือข่ายทวงคืนชายหาดช่วยขยายความรู้ความเข้าใจ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อกรณีผลกระทบของกำแพงกันคลื่นต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นวิธีที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ เป็นโอกาสที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ทำความเข้าใจ ถึงผลกระทบอย่างเป็นระบบ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง ซึ่งภาครัฐไม่เคยกล้ายอมรับเรื่องนี้
“การที่กลุ่มนี้จับปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งมาพูด นับเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไทยไม่เคยทำ ที่ผ่านมาอาจจะมีการอนุรักษ์ทะเล สัตว์น้ำ แต่เรื่องหาดทรายยังใหม่ การเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน แม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไรต่อ แต่การเปลี่ยนแปลงยังไม่สำคัญเท่ากับการตื่น การตื่นขึ้นของสังคมที่จะรับรู้ และช่วยกัน ส่วนกลางแปลงนั้นจะต้องมีระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ที่สำคัญคือพลังประชาชนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้”